backup og meta

จอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงวัย อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

จอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงวัย อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

จอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงวัย เป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นที่ชัดเจน มักพบในผู้สูงวัยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยอาจมีสัญญาณเตือน เช่น ตาเริ่มพร่ามัว การมองเห็นภาพไม่ชัด และเมื่อเวลาผ่านไปอาการอาจแย่ลง หากไม่ทำการรักษา อาจสร้างความไม่สะดวกสบายในการใช้ชีวิต และสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร เมื่ออายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

คำจำกัดความ

จอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงวัย คืออะไร 

จอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงวัย เป็นโรคที่เกี่ยวข้องทางสายตา เกิดจากความผิดปกติบริเวณเรตินาที่เป็นชั้นบาง ๆ ของจุดกลางการรับภาพ และรับรู้แสงที่อยู่ด้านหลังของดวงตา โดยที่ภาพด้านข้างของการมองเห็นยังสามารถมองได้ ซึ่งจอประสาทตาเสื่อมจะไม่ทำให้ตาบอดแต่อย่างใด แต่อาจส่งผลกระทบในการมองเห็นระยะยาว เช่น เห็นขอบของนาฬิกา แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเวลาเท่าไร

ประเภทของจอประสาทตาเสื่อม

โดยประเภทของจอประสาทตาเสื่อม สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

  • จอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง เกิดจากการเสื่อมและบางตัวลงของบริเวณศูนย์กลางรับภาพของจอตา โดยมีจุดเหลืองบริเวณจอรับภาพตรงกลางของประสาทตา ที่เรียกว่า ดรูเซ่น (Drusen) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการมองเห็น รวมถึงการมองเห็นค่อย ๆ ลดลง และสูญเสียการมองเห็นส่วนกลาง พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
  • จอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก เกิดจากการเสื่อมโดยมีเส้นเลือดผิดปกติงอกขึ้นมาใหม่ ภายใต้เรติน่าและแมคูล่าหากเส้นเลือดนี้เปราะบางจะเกิดการรั่วไหลเข้าสู่เรตินา  ทำให้การมองเห็นบิดเบี้ยว ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นส่วนกลางอย่างถาวร

จอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงวัย พบได้บ่อยแค่ไหน

โดยส่วนใหญ่จอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงวัยมักจะพบในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป มักจะพบเจอในประเภทแบบแห้งมากถึง 85 ถึง 90% ของผู้ป่วยจอประสาทตาเสื่อม และพบประมาณ 10 ถึง 15 % ในประเภทแบบเปียก ซึ่งเป็นคนที่มีอาการจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งมาก่อน 

อาการ

อาการจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงวัย

เมื่ออยู่ในระยะเริ่มต้นของจอประสาทตาเสื่อม อาจยังไม่มีอาการและสัญญาณใด ๆ แต่สามารถสังเกตได้ว่าหากจอประสาทตาเสื่อมอาจทำให้ การอ่านหนังสือ การดูทีวี การขับรถ หรือแม้แต่การจดจำใบหน้าเป็นไปได้ยากขึ้น โดยการมองเห็นจะมีการเปลี่ยนแปลงทีละน้อยหรือกะทันหัน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ 1 ข้าง หรือทั้ง 2 ข้างของดวงตา และอาจมีอาการอื่น ๆ ได้แก่ เห็นเส้นตรงเป็นคลื่น หรือบิดเบี้ยว วัตถุดูเล็กลงกว่าปกติ รับรู้สีที่เปลี่ยนไป จนอาจกลายเป็นการสูญเสียการมองเห็นจากส่วนกลาง

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

ควรไปพบคุณหมอเมื่อมีอาการดังกล่าวที่กล่าวมาในข้างต้น หรือหากมีความกังวลเกี่ยวกับการมองเห็น โดยเมื่ออายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจสายตาและติดตามผลทุก 2 ถึง 4 ปี ซึ่งยังสามารถตรวจเช็คเบื้องต้นได้จากการมองเห็นในทุกวัน หากพบการเปลี่ยนแปลง โปรดแจ้งคุณหมอให้ทราบ เพื่อรับการรักษา 

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์

สาเหตุ

สาเหตุ จอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงวัย 

สาเหตุของจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงวัยนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่อาจเกี่ยวข้องกับยีน หรือพันธุกรรม ถ้าหากมีคนในครอบครัวเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นได้ แต่อย่างไรก็ตามบุคคลที่ไม่เคยมีประวัติในนครอบครัวเป็นโรคนี้ ก็สามารถเป็นได้เหมือนกัน 

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของ จอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงวัย 

ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดจอประสาทตาเสื่อม ได้แก่ 

  • อายุ โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่มีอายุ 50-60 ปีขึ้นไป
  • กลุ่มคนผิวขาว 
  • พันธุกรรม 
  • น้ำหนักที่เกินเกณฑ์ หรือเป็นโรคอ้วน
  • รับประทานอาหารจำพวกไขมันอิ่มตัวเป็นประจำ 
  • สูบบุหรี่ 

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม 

การวินิจฉัยจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงวัย

คุณหมอจะทำการวินิจฉัยจากการตรวจดูดวงตา โดยอาจได้รับการทดสอบเหล่านี้อย่างน้อยหนึ่งรายการ ซึ่งได้แก่

  • การตรวจวัดลานตา (Visual field test) เพื่อเช็คการมองเห็นว่ามีการมองเห็นที่บิดเบี้ยวหรือไม่
  • การตรวจโดยม่านขยายตา (Dilated Eye Exam) มีการหยดน้ำยาเพื่อขยายรูม่านตาให้กว้างขึ้นและใช้เลนส์พิเศษเพื่อมองเข้าไปในดวงตา
  • การตรวจจอประสาทตาโดยการฉีดสี (Fluorescein Angiography) เป็นการฉีดฟลูออเซซินเข้าเส้นเลือดดำที่แขน และใช้กล้องพิเศษที่เปล่งแสงสีน้ำเงินในการถ่ายภาพ เพื่อให้คุณหมอวินิจฉัย 
  • Optical coherence tomography :OCT เป็นเครื่องมือที่วัดความหนาของจอตา และยังเห็นพยาธิสภาพใต้ชั้นจอตาได้อย่างละเอียดมากขึ้น 

การรักษาจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงวัย

โรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงวัย ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่อาจช่วยทำให้อาการช้าลง หรือป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้มากขึ้น เช่น 

  • การใช้ยาประเภทยับยั้งการสร้างหลอดเลือด เช่น อะฟลิเบอร์เสบ (aflibercept) เบวาซิซูแมบ (bevacizumab) แรนิบิซูแมบ (ranibizumab) เพื่อป้องกันการสร้างหลอดเลือดและการรั่วไหลเข้าสู่เรตินา
  • การรักษาด้วยเลเซอร์ โดยใช้แสงเลเซอร์พลังงานสูง ที่สามารถทำลายหลอดเลือดผิดปกติที่เติบโตในดวงตา
  • การใช้เลเซอร์พลังงานต่ำและสารไวแสง คุณหมอจะฉีดยาที่ไวต่อแสง เวอร์ติพอร์ฟิน (verteporfin) เข้าสู่กระแสเลือด และถูกดูดซึมโดยหลอดเลือดผิดปกติ แล้วคุณหมอจะส่องเลเซอร์เข้าไปในดวงตา เพื่อกระตุ้นยาให้ทำลายหลอดเลือดเหล่านั้น

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่ช่วยจัดการกับจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงวัย

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางอย่างในชีวิตประจำวันอาจช่วยลดปัจจัยการเกิดภาวะจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงวัย ซึ่งประกอบด้วย 

  • การพบจักษุแพทย์เป็นประจำ เพื่อเช็คสัญญาณการเสื่อมของดวงตา และความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับดวงตา เช่น ต้อหิน ต้อกระจก 
  • การงดสูบบุหรี่ เนื่องจากผู้สูบบุหรี่อาจมีแนวโน้มที่จะเป็นจอประสาทตาเสื่อมมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
  • การควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง และออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ เพื่อไม่เกิดภาวะโรคอ้วน ที่อาจเป็นปัจจัยในการเกิดภาวะจอประสาทตาเสื่อม  
  • การรับประทานผัก ผลไม้เป็นประจำ เพราะมีวิตามินต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี วิตามินอี ลูทีน รวมไปถึงกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดจอประสาทตาเสื่อมผู้สูงวัย 
  • การสวมแว่นตากันแดด เมื่อเวลาออกไปข้างนอก เพื่อปกป้องดวงตาจากแสงอาทิตย์ 

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Age-Related Macular Degeneration. https://www.webmd.com/eye-health/macular-degeneration/age-related-macular-degeneration-overview. Accessed August 28, 2021

Symptoms of Age-Related Macular Degeneration. https://www.webmd.com/eye-health/macular-degeneration/age-related-macular-degeneration-symptoms. Accessed August 28, 2021

What is AMD?. https://www.nhs.uk/conditions/age-related-macular-degeneration-amd/. Accessed August 28, 2021

Dry macular degeneration. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dry-macular-degeneration/symptoms-causes/syc-20350375. Accessed August 28, 2021

Age-Related Macular Degeneration. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15246-age-related-macular-degeneration. Accessed August 28, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

20/11/2024

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ ต้องตรวจอะไรบ้างถึงจะดี

โรคตาในผู้สูงอายุ ปัญหาสุขภาพที่มาพร้อมอายุที่มากขึ้น


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 20/11/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา