backup og meta

ปัจจัยเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ ที่ควรใส่ใจ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/09/2021

    ปัจจัยเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ ที่ควรใส่ใจ

    สุขภาพจิตที่ดี และความสุขทางอารมณ์และสังคม ส่งผลดีต่อความคิด ความรู้สึก และการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ทั้งยังช่วยลด ปัจจัยเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ ได้อีกด้วย ดังนั้น การรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้อาจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุได้ดีขึ้น และสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีหากพบปัญหา

    ปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ

    องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่า จำนวนประชากรผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไปทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า หรือจาก 12% เป็น 22% ระหว่างปี พ.ศ. 2558-2593  สำหรับประเทศไทย ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 20% ในปี พ.ศ. 2564 เมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2563 ที่มีจำนวนผู้สูงอายุจำนวน 12 ล้านคน หรือราว 18%

    สาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 15% เกิดจากความผิดปกติทางจิต ซึ่งความผิดปกติทางจิตและระบบประสาทในผู้สูงอายุคิดเป็น 6.6% ของความทุพพลภาพทั้งหมด โดยอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เสื่อมถอยลงเมื่อายุมากขึ้น การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ การพลัดพรากจากคนที่รัก การสูญเสียบทบาททางสังคม การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การถูกทอดทิ้ง การไม่ได้รับความเคารพ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้นอกจากจะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุแล้ว ยังอาจส่งผลเกิดปัญหาสุขภาพกายได้ด้วย

    ปัจจัยเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ

    4 ปัจจัยเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ ที่พบได้บ่อย มีดังนี้

    1. ความเครียด และความวิตกกังวล

    เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งอาจเกิดจากความเสื่อมถอยของร่างกายเมื่ออายุมากขึ้น เช่น ความเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ร่างกายยิ่งอ่อนแอลง การเคลื่อนไหวยากขึ้น สูญเสียความสมดุลของร่างกาย มีปัญหาการนอนหลับ หรือปัญหาในการขับถ่าย ซึ่งโรคเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นอาจต้องได้รับการดูแลรักษาระยะยาว จึงทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกเบื่อหน่าย ทรมานและเจ็บปวดจากการรักษา หรืออาจรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระของลูกหลาน จนส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุได้ในที่สุด

    นอกจากนี้ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ เช่น การสูญเสียคนที่รัก การเกษียณอายุ หรือสถานะทางการเงินที่ตกต่ำลง ถูกละเลยหรือทอดทิ้ง ไม่ได้รับความเคารพ ก็อาจส่งผลทำให้เกิดความเครียด และความวิตกกังวล จนผู้สูงอายุแยกตัวจากสังคม รู้สึกเหงา และโดดเดี่ยว จนกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตได้เช่นกัน

    2. ภาวะสมองเสื่อม

    เป็นกลุ่มอาการที่ส่งผลต่อความคิด ความจำ และความสามารถในการใช้ชีวิตในสังคม ซึ่งภาวะสมองเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การบาดเจ็บทางศีรษะ ปัญหาการนอนหลับ ภาวะซึมเศร้า การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่โรคอัลไซเมอร์ ถือเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ

    องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า เกือบ 60% ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง และจำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอาจเพิ่มขึ้น 82 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2573 และเพิ่มขึ้นอีก 152 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2593 ปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจในแง่ของค่ารักษาพยาบาล รวมถึงการดูแลภาวะสมองเสื่อมของผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดความกดดันทั้งทางร่างกายและอารมณ์ เกิดความเครียด และวิตกกังวล ทั้งตัวผู้ป่วย ครอบครัว และผู้ดูแล ส่งผลทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุตามมา

    ภาวะซึมเศร้า

    ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุมักเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยและความทุพพลภาพ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและการเสียชีวิตจากอาการเจ็บป่วย เนื่องจากภาวะซึมเศร้าส่งผลกระทบต่อการฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วย นอกจากนี้ ภาวะซึมเศร้ายังเพิ่มความเสี่ยงการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุอีกด้วย

    องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า อาการซึมเศร้าทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน อย่างไรก็ตาม อาการซึมเศร้ามักเกิดร่วมกับปัญหาสุขภาพอื่น ๆ จึงอาจทำให้ถูกมองข้าม ไม่ได้รับการวินิจฉัยและไม่ได้รับรักษาอย่างเหมาะสม จนส่งผลให้เกิด ปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ ตามมาได้

    ปัจจัยเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุเหล่านี้สามารถป้องกันได้ เพียงแค่ใส่ใจ เข้าใจ และดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด สังเกตพฤติกรรมและพูดคุยเพื่อให้ผู้สูงอายุเป็นประจำ ให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีส่วนร่วมกับครอบครัว ไม่โดดเดี่ยว และดูแลสุขภาพร่างกายของผู้สูงอายุอย่างดี เพียงเท่านี้ก็อาจช่วยลดปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/09/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา