backup og meta

การฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ สัญญาณและการป้องกัน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 01/09/2021

    การฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ สัญญาณและการป้องกัน

    ผู้สูงอายุเป็นช่วงวัยที่เปราะบางทั้งทางร่างกายและจิตใจ หากผู้สูงอายุเกิดปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว โรคทางกาย หรือโรคซึมเศร้า อาจเกิดความคิดฆ่าตัวตายได้ ครอบครัวจึงควรเป็นส่วนสำคัญในการดูแล ใส่ใจและสังเกตสัญญาณปัญหาสุขภาพจิต เพื่อป้องกัน การฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ ที่อาจเกิดขึ้นได้

    การฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ

    สถิติจากกรมสุขภาพจิตระบุว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในผู้สูงอายุ สูงเป็นอันดับ 2 รองจากวัยทำงาน ตามสถิติล่าสุดในปี พ.ศ. 2562 พบว่า การฆ่าตัวตายสำเร็จในผู้สูงอายุ ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 927 คน และวัยทำงาน 3,380 คน  โดยสาเหตุการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุที่พบบ่อย คือ ปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด โรคเรื้อรังทางกาย และโรคซึมเศร้า

    ในปัจจุบันจำนวนประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อบุคคลมีอายุมากขึ้นอาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพร่างกายและสมอง ความสามารถในการทำงานลดลง ทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้น ความสุขในชีวิตลดน้อยลง ซึ่งเป็นปัญหาที่อาจเพิ่มความเสี่ยงการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุได้เช่นกัน

    ผู้สูงอายุที่พยายาม ฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่มีภาวะซึมเศร้า ที่อาจเกิดขึ้นจากการสูญเสียคนที่รัก ความรู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกด้อยค่า หรือรู้สึกว่าเป็นภาระคนอื่น ความเจ็บป่วยเรื้อรัง หรืออาจเกิดจากปัญหาทางการเงิน ซึ่งผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง มักเป็นกลุ่มที่อยู่ติดบ้าน ถูกทอดทิ้ง ไม่มีคนใส่ใจดูแล ขาดคนรับฟังและพูดคุย จนผู้สูงอายุเกิดความน้อยใจ รู้สึกไม่มีส่วนร่วมกับครอบครัว เมื่อสิ่งเหล่านี้สะสมเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการ ฆ่าตัวตาย ในอนาคต

    นอกจากนี้ การเจ็บปวดเรื้อรังก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุเช่นกัน เพราะโรคเรื้อรังอาจบั่นทอนกำลังใจ ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกเป็นทุกข์ เบื่อหน่ายต่ออาการและการรักษา จึงอาจมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป เพราะอาจเป็นภาระหรือสร้างความเหนื่อยยากให้กับลูกหลาน

    สัญญาณ การฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ

    สัญญาณการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุที่ควรสังเกต มีดังนี้

    • เศร้า วิตกกังวล ร้องไห้บ่อยครั้ง มีความคิดในแง่ลบ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า
    • หมดความสนใจในสิ่งที่ชื่นชอบ
    • เก็บตัว ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวและสังคม
    • ไม่รับประทานอาหาร
    • เจ็บป่วยทางร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ
    • สมาธิและความจำแย่ลง
    • ให้ของมีค่าหรือเขียนจดหมายให้กับผู้อื่น
    • มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรืออาจพูดถึงการฆ่าตัวตาย

    การป้องกันการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ

    การป้องกันการ ฆ่าตัวตาย ในผู้สูงอายุ สามารถทำได้ ดังนี้

    • ครอบครัวควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า ปัญหาสุขภาพ รวมถึงการดูแลสุขภาพจิตใจและสุขภาพร่างกายของผู้สูงอายุ
    • สังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้สูงอายุ
    • พูดคุย หรือถามถึงสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตเพื่อทำให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือไร้ค่า
    • ร่วมพูดคุยเพื่อสร้างพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของตนเองให้สมบูรณ์กับผู้สูงอายุ
    • หากิจกรรมทำร่วมกับผู้สูงอายุ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีส่วนร่วม
    • หากผู้สูงอายุมีโรคเจ็บป่วยเรื้อรัง ครอบครัวควรอยู่เคียงข้างคอยให้กำลังใจอยู่เสมอ

    พบคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตเป็นประจำ และทำการรักษาอย่างต่อเนื่องหากพบปัญหาสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 01/09/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา