ผู้สูงอายุอาจเผชิญกับปัญหาสุขภาพ ความเครียด หรือภาวะทางจิต ซึ่งอาจทำให้เกิด ปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งในระดับครอบครัวและสังคม การสังเกต สัญญาณปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพจิต รู้ทันสัญญาณเหล่านี้เพื่อเข้ารับการรักษาได้ทัน
ปัญหาด้านสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ
องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2558 – 2593 จำนวนประชากรผู้สูงอายุ ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จากประมาณ 12% เป็น 22%
สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปี พ.ศ. 2563 จำนวนผู้สูงอายุ ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน หรือคิดเป็น 18% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มขึ้นอีก 20% ในปี พ.ศ. 2564
ผู้สูงอายุจำนวนมากที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงเกิด ปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ เนื่องจากประมาณ 15% มีความผิดปกติทางจิต ซึ่งความผิดปกติทางจิตและระบบประสาทในผู้สูงอายุคิดเป็น 6.6% ของความทุพพลภาพทั้งหมด สิ่งเหล่านี้อาจเกิดจากภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคสมองเสื่อม ภาวะซึมเศร้า ความผิดปกติทางระบบประสาท ปัญหาสารเสพติด ความเปลี่ยนแปลงสำคัญในชีวิตที่ทำให้รู้สึกวิตกกังวล เครียด และเศร้า ความผิดปกติเหล่านี้ นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต ยังทำให้จัดการกับปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ยากด้วย
สัญญาณปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ
สัญญาณปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อย มีดังนี้
-
การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์
อาจเป็นภาวะอารมณ์แปรปรวน โดยภายใน 1 วัน อาจมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ฉับพลัน โดยอาจรู้สึกเศร้า โกรธ หรือมีความสุข อย่างไม่ทราบสาเหตุ ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นจากอาการเจ็บป่วย ความผิดปกติของฮอร์โมน โรคจิตเวช หรืออาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในชีวิต เช่น การสูญเสียคนรัก การเกษียณอายุ นอกจากนี้ ความผิดปกติทางอารมณ์ยังอาจทำให้ผู้สูงอายุมีบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น วิตกกังวลมากขึ้น หงุดหงิดง่าย พูดน้อยลง เงียบขรึม ซึมเศร้า หรืออาจร่าเริงขึ้น พูดเยอะขึ้น
ความเครียด ความวิตกกังวล ความเศร้า และความรู้สึกสิ้นหวัง อาจเกิดขึ้นจากปัญหาสุขภาพเรื้อรัง ที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเบื่อหน่ายในการรักษา เพราะต้องใช้ระยะเวลารักษายาวนานและอาจไม่หายขาด เจ็บตัว และค่าใช้จ่ายสูง หรืออาจเกิดจากการสูญเสียสิ่งสำคัญในชีวิต อย่างการสูญเสียคนในครอบครัว จนทำให้เกิดอารมณ์เศร้าโศก เหงาหรือโดดเดี่ยว รวมถึงการเกษียณอายุอาจทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกสูญเสียความนับถือในตนเอง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
-
การออกจากสังคมและเก็บตัว
ผู้สูงอายุบางคนอาจรู้สึกหมดความสนใจในกิจกรรมที่เคยทำและหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมมากขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดภาวะแยกตัวออกจากสังคมและความเหงา สถาบันผู้สูงอายุแห่งชาติ (NIM) ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ความเหงาและความโดดเดี่ยวอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพกายและจิตใจ เช่น โรคหัวใจ โรคสมองเสื่อม ภาวะซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย
-
รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป
ผู้สูงอายุบางคนอาจมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การรับประทานอาหารที่ผิดปกติ บางคนอาจรู้สึกมีความสุขเมื่อได้รับประทานอาหาร ทำให้เจริญอาหารมากขึ้น แต่บางคนอาจรู้สึกเบื่ออาหารและรับประทานน้อยลง
-
การนอนผิดปกติ
ปัญหาด้านสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ ส่งผลต่อสภาวะจิตใจ จึงอาจทำให้การนอนผิดปกติ อาจมีอาการเหนื่อยล้า ง่วง ซึม หรืออาจมีอาการฝันร้ายบ่อย ๆ ตื่นกลางดึก และนอนไม่หลับ
-
การเจ็บปวดโดยไม่มีสาเหตุ
ความเจ็บป่วยบางอาการในผู้สูงอายุ เช่น อาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวดท้อง ปวดกระดูก อาจเป็นอาการแฝงของโรคบางชนิด ซึ่งคุณหมออาจไม่สามารถตรวจพบได้ในระยะแรก จึงควรดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิดและสังเกตอาการ หากมีอาการรุนแรงขึ้นควรรีบไปพบคุณหมอทันที
-
ปัญหาเรื่องความทรงจำ หลงลืมง่าย
ผู้สูงอายุบางคนอาจมีปัญหาเรื่องความทรงจำ เช่น หลงลืมคนในครอบครัว ลืมสิ่งที่กำลังจะทำ อีกทั้งกระบวนการรับรู้ ความคิด การแก้ปัญหาอาจลดลง ปัญหาเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ
-
การใช้สารเสพติด สูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ในผู้สูงอายุบางคนที่มีความเจ็บป่วยทางร่างกาย หรือแยกตัวออกจากสังคม อาจมีความรู้สึกเหงา เบื่อหน่าย โดดเดี่ยวและมีภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาจทำให้ผู้สูงอายุต้องการใช้สารเสพติด สูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อหนีจากความรู้สึกเจ็บปวด
-
ภาพหลอน
ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจิตอาจเกิดภาพหลอน ได้ยินเสียง หรือรู้สึกถึงบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้รู้สึกกลัว ภาวะเหล่านี้อาจเกิดจากภาพจำ หรือสถานการณ์ในอดีตของผู้ป่วย
-
ทำร้ายตัวเอง และมีแนวโน้มฆ่าตัวตาย
ผู้สูงอายุที่สูญเสียความภาคภูมิใจในตนเอง หรือรู้สึกท้อแท้เบื่อหน่าย โดดเดี่ยว จากโรคเรื้อรัง ปัญหาสุขภาพจิต หรือสูญเสียสิ่งสำคัญในชีวิต อาจทำให้เกิดความคิดอยากทำร้ายตัวเอง และอาจมีแนวโน้มฆ่าตัวตายได้
แนวทางดูแล สุขภาพจิตในผู้สูงอายุ
แนวทางดูแลสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตในอนาคต มีดังนี้
- หลีกเลี่ยงคำพูดหรือการกระทำที่อาจทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกหมดความนับถือในตัวเอง หรือลูกหลานต้องรับภาระในการดูแล
- รับฟังความคิดเห็น ให้เกียรติ และให้ความสำคัญ ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว
- หากิจกรรมทำร่วมกับผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในครอบครัว และทำให้ให้ผู้สูงอายุรู้สึกเป็นที่ปรึกษาได้
- พาผู้สูงอายุเข้าสังคม เพื่อพบปะพูดคุยกับ ญาติ พี่น้อง หรือเพื่อนบ้าน
- ดูแลและสังเกตอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย หรือ สัญญาณปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ อยู่เสมอ และหากมีอาการที่รุนแรงขึ้นให้รีบไปพบคุณหมอ เพื่อจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที
[embed-health-tool-bmi]