backup og meta

น้ำมันหอมระเหย ที่ช่วยในการนอนหลับ ใช้แล้วผ่อนคลาย หลับสบายแน่นอน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 09/09/2020

    น้ำมันหอมระเหย ที่ช่วยในการนอนหลับ ใช้แล้วผ่อนคลาย หลับสบายแน่นอน

    อาการนอนไม่หลับ หลับยาก จนทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ กลายเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพยอดฮิตของคนยุคนี้ หลายคนนอนไม่หลับเรื้อรัง จนส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว เมื่อเราพักผ่อนน้อย ก็จะทำให้สมองไม่ไบรท์ และไม่มีสมาธิในการเรียน หรือการทำงานด้วย ใครที่ประสบปัญหานอนไม่หลับ จนคิดจะพึ่งวิธีที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น กินยานอนหลับ กินเหล้าจนเมาหลับ  ทางเราอยากบอกว่า อย่าเด็ดขาด! เพราะวันนี้ Hello คุณหมอ มีวิธีหลับง่ายขึ้น แบบดีต่อสุขภาพมาฝาก นั่นคือ การใช้ น้ำมันหอมระเหย ที่ช่วยในการนอนหลับ แล้วน้ำมันหอมระเหยที่ว่าจะมีอะไรบ้าง และต้องใช้อย่างไรถึงจะได้ผล ลองมาดูกันในบทความนี้

    ว่าด้วยเรื่อง น้ำมันหอมระเหย ที่ช่วยในการนอนหลับ

    น้ำมันหอมระเหย ที่ช่วยให้คุณหลับได้ง่ายขึ้น

    หากอยากหลับง่ายขึ้น เราแนะนำให้คุณลองใช้น้ำมันหอมระเหยเหล่านี้

    • น้ำมันหอมระเหยดอกลาเวนเดอร์

    หากพูดถึงน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยในการนอนหลับ น้ำมันชนิดแรกที่คนจะนึกถึงน่าจะเป็นน้ำมันหอมระเหยดอกลาเวนเดอร์ โดยผลจากการศึกษาวิจัยหลายชิ้นต่างก็ให้ผลในทางเดียวกันคือ น้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์สามารถช่วยพัฒนาการนอนได้จริง เช่น ผลงานวิจัยในสตรีหลังคลอด 159 คนเมื่อปีค.ศ. 2015 พบว่า การบำบัดด้วยกลิ่นลาเวนเดอร์เป็นเวลา 8 สัปดาห์ช่วยให้กลุ่มตัวอย่างนอนหลับได้ดีกว่าการใช้ยาหลอก

    นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร Nursing in Critical Care เมื่อปีค.ศ. 2017 ระบุว่า เมื่อให้ผู้ป่วยโรคหัวใจที่เป็นผู้ป่วยหนัก หรือผู้ป่วยไอซียู สูดดมน้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์ความเข้มข้น 2% เป็นเวลา 15 วัน ผลลัพธ์คือ ผู้ป่วยนอนหลับได้ดีขึ้น ทั้งยังมีอาการวิตกกังวลน้อยลงด้วย

    • น้ำมันหอมระเหยผิวมะกรูดฝรั่ง หรือเบอร์กามอท

    งานศึกษาชิ้นหนึ่งในปีค.ศ. 2016 ที่ให้กลุ่มตัวอย่าง 65 คนบำบัดปัญหาในการนอนหลับ ด้วยการหยดน้ำมันหอมระเหยผิวมะกรูดฝรั่งผสมกับน้ำมันหอมระเหยไม้แก่นจันทร์ (Sandalwood) ลงในเครื่องกระจายกลิ่นน้ำมันหอมระเหย พบว่า 64% ของกลุ่มตัวอย่างนอนหลับได้ดีขึ้น และ 92% กล่าวว่าจะใช้วิธีนี้ช่วยในการนอนหลับต่อไป

    • น้ำมันหอมระเหยไม้ซีดาร์

    งานศึกษาวิจัยเบื้องต้นหลายชิ้นพบว่า สารประกอบที่ชื่อว่า “ซีดรอล (Cedrol)” ในน้ำมันหอมระเหยไม้ซีดาร์ มีฤทธิ์กดประสาท โดยงานศึกษาชิ้นหนึ่งที่มีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อม พบว่า เมื่อนำผ้าเช็ดตัวที่หยดน้ำมันหอมระเหยผสม (ใช้น้ำมันหอมระเหยไม้ฮิโนกิ น้ำมันหอมระเหยไม้ซีดาร์เวอร์จิเนีย น้ำมันหอมระเหยไม้ไซปรัส และน้ำมันหอมระเหยไม้สน) ไปวางไว้ข้างหมอนของกลุ่มตัวอย่างทุกคืน เป็นเวลา 20 วัน ผลคือ ผู้ป่วยนอนหลับได้นานขึ้น และมีอาการตื่นนอนเร็วกว่าปกติ (Early morning awakening) น้อยลง

    น้ำมันหอมระเหยที่ควรเลี่ยง หากอยากหลับง่ายขึ้น

    น้ำมันหอมระเหย ที่ช่วยในการนอนหลับ ควรเป็นกลิ่นที่ทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย ดังตัวอย่างที่เราแนะนำไปข้างบน ฉะนั้น หากคุณอยากหลับง่ายขึ้น หลับสนิทขึ้น ก็ควรเลี่ยงน้ำมันหอมระเหยที่กระตุ้นให้ตื่นตัว ดังตัวอย่างต่อไปนี้

    • น้ำมันหอมระเหยเพตติเกรน (Petitgrain essential oil)

    เพราะจากผลงานวิจัยเกี่ยวกับความเครียดและประสิทธิภาพการทำงาน พบว่า น้ำมันหอมระเหยชนิดนี้ทำให้ผู้ใช้รู้สึกตื่นตัวขึ้น

    • น้ำมันหอมระเหยโรสแมรี่

    เนื่องจากทำให้ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และอัตราการหายใจเพิ่มขึ้น

    วิธีใช้น้ำมันหอมระเหย เพื่อให้หลับได้ง่ายขึ้น

    คุณสามารถใช้น้ำมันหอมระเหย ที่ช่วยในการนอนหลับได้หลากหลายวิธี เช่น

    • ทาน้ำมันหอมระเหยที่ข้อมือ ฝ่ามือ และฝ่าเท้า ทั้งตอนเช้าและก่อนนอน หากเป็นน้ำมันหอมระเหยที่ต้องเจือจางในน้ำมันอื่นก่อน ให้คุณใช้น้ำมันอื่น 1 ช้อนชา ต่อน้ำมันหอมระเหย 1 หยด น้ำมันหอมระเหยจะช่วยให้คุณรู้สึกสงบและผ่อนคลายตลอดวัน ส่งผลให้หลับง่ายขึ้น
    • ใช้เครื่องกระจายกลิ่นน้ำมันหอมระเหย (Diffuser) โดยหยดน้ำมันหอมระเหย 2-3 หยดลงในเครื่อง ก็จะช่วยให้กลิ่นกระจายได้ทั่วห้องแล้ว
    • หยดน้ำมันหอมระเหยสัก 2-3 หยดลงบนปลอกหมอน กลิ่นหอมจะได้คงอยู่ตลอดเวลาที่คุณนอนหลับ

    ข้อควรระวังในการใช้น้ำมันหอมระเหย

    คุณควรใช้น้ำมันหอมระเหยทุกชนิดอย่างระมัดระวัง ด้วยการทำตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • ก่อนใช้ควรทดสอบการแพ้และการระคายเคืองด้วยการแต้มน้ำมันหอมระเหยหยดเล็ก ๆ บนท้องแขน ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง เพื่อดูว่าคุณแพ้น้ำมันหอมระเหยชนิดนั้น ๆ หรือไม่
    • หากคุณจะใช้วิธีทาน้ำมันหอมระเหยลงบนผิว ก็ต้องเลือกชนิดที่สามารถทาบนผิวโดยตรงได้ เช่น น้ำมันหอมระเหยดอกลาเวนเดอร์ น้ำมันหอมระเหยดอกเสจ หากเป็นน้ำมันหอมระเหยชนิดอื่น คุณจะต้องเจือจางความเข้มข้นในน้ำมันอื่นที่ทาแล้วไม่ทำให้ผิวหนังระคายเคือง เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว
    • ห้ามกินน้ำมันหอมระเหยเด็ดขาด เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน
    • เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีที่กำลังให้นมบุตรควรงดใช้น้ำมันหอมระเหย หรือปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 09/09/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา