หูชั้นในอักเสบ เป็นการติดเชื้อที่ส่งผลทำให้หูชั้นในเกิดการอักเสบ อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน การทรงตัวผิดปกติ และอาจสูญเสียการได้ยิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นการรู้ถึงสาเหตุ การรักษาและการป้องกัน อาจช่วยรับมือกับปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้
คำจำกัดความ
หูชั้นในอักเสบ คืออะไร
หูชั้นในอักเสบ คือการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียที่อาจเป็นผลมาจากการติดเชื้อที่หูชั้นกลาง แพร่กระจายไปยังหูชั้นใน ทำให้หูชั้นในอักเสบ และทำให้การส่งสัญญาณประสาทรับความรู้สึกจากหูไปยังสมองหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อความสมดุลของการทรงตัว อาการวิงเวียนศีรษะ และการได้ยิน
อาการ
อาการหูชั้นในอักเสบ
อาการของหูชั้นในอักเสบที่พบบ่อย มีดังนี้
- วิงเวียนศีรษะ
- บ้านหมุน ปวดหู
- คลื่นไส้คล้ายอาการเมารถ และอาเจียน
- มีไข้
- หูอื้อหรือสูญเสียการได้ยิน
- การเคลื่อนไหวเสียสมดุลเหมือนจะล้ม
- ลูกตาสั่น
- มองเห็นไม่ชัด ตาพร่ามัว
สาเหตุ
สาเหตุหูชั้นในอักเสบ
สาเหตุของหูชั้นในอักเสบอาจแบ่งได้ดังนี้
-
หูชั้นในอักเสบจากไวรัส
สาเหตุส่วนใหญ่ของหูชั้นในอักเสบเกิดจากการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจส่วนบน เช่น การติดเชื้อหัดเยอรมัน ไข้หวัดใหญ่ การติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalovirus) โรคคางทูม ที่ลามไปถึงหูชั้นในส่งผลทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน คลื่นไส้อาเจียน และสูญเสียการได้ยิน
-
หูชั้นในอักเสบจากแบคทีเรีย
อาจเกิดขึ้นจากเชื้อสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) หรือเชื้อฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนเซ่ (Haemophilus influenzae) ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการติดเชื้อที่หูชั้นนอกลุกลามมายังหูชั้นใน โรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หรือภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงหูชั้นในอักเสบ
ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้หูชั้นในอักเสบ มีดังนี้
- หูชั้นกลางอักเสบ
- ภาวะภูมิต้านทานตนเอง
- การติดเชื้อไวรัส เช่น โรคหัด เริม
- หลอดลมอักเสบ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
- เยื่อบุสมองอักเสบ
- การบาดเจ็บที่ศีรษะ
- การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ความเครียด
- การใช้ยาบางชนิด
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยหูชั้นในอักเสบ
คุณหมอจะสอบถามข้อมูลของอาการและตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยโรค ดังนี้
- ตรวจความดันโลหิต
- ทดสอบการได้ยิน
- ให้ผู้ป่วยขยับหัวอย่างรวดเร็ว
- ตรวจการเคลื่อนไหวของดวงตา
- ตรวจการติดเชื้อในช่องหู
นอกจากนี้คุณหมออาจทดสอบเพิ่มเติมด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram : EEG) เป็น ซีทีสแกน หรือ MRI หากมีการติดเชื้อที่รุนแรงมากขึ้น เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
การรักษาหูชั้นในอักเสบ
เป้าหมายการรักษาโรคหูชั้นในอักเสบเพื่อบรรเทาอาการ โดยคุณหมออาจสั่งยา ดังนี้
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อลดอาการอักเสบในหูชั้นใน
- ยาระงับประสาท สำหรับผู้ที่มีอาการวิงเวียนศีรษะรุนแรง
- ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน
- ยาปฏิชีวนะสำหรับหูชั้นในอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
สำหรับผู้ที่เป็นหูชั้นในอักเสบเรื้อรัง คุณหมออาจให้ทำกายภาพบำบัดเพื่อปรับสมดุลและลดอาการวิงเวียนศีรษะ ดังนี้
- ขยับตาขึ้นและลง และขยับตาจากซ้ายไปขวา
- ก้มและเงยหน้า หันศีรษะไปทางซ้ายและขวา
- งอลำตัวไปข้างหน้าและเงยขึ้น เอนตัวไปด้านซ้ายและด้านขวา
- เดินขึ้นและลงทางลาด หรือบันได
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อช่วยจัดการโรคหูชั้นในอักเสบ
การรักษาสุขภาพหูให้แข็งแรงด้วยการป้องกันและดูแลตัวเอง ดังนี้
- หลังจากการว่ายน้ำหรืออาบน้ำ ควรเช็ดหูให้แห้งเสมอ
- ล้างมือเป็นประจำ
- ควรให้ทารกกินนมแม่อย่างน้อย 1 ปี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทารก
- ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโรคปอดบวม
- ไม่สูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่มือสอง
การดูแลตัวเองเพื่อช่วยบรรเทาอาการหูชั้นในอักเสบ
- ดื่มน้ำมาก ๆ
- นอนตะแคงข้างหากมีอาการเวียนหัว
- สร้างสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลายและมีเสียงรบกวนต่ำ
- หลีกเลี่ยงแสงสว่างมาก
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์