backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis Media)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 22/03/2021

หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis Media)

หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis Media) หรือเป็นที่รู้จักกันอีกชื่อคือ โรคหูน้ำหนวก คือการอักเสบหรือการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสที่บริเวณหูชั้นกลาง จนบวม แดง

คำจำกัดความ

หูชั้นกลางอักเสบ คืออะไร

หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis Media) หรือที่รู้จักกันอีกชื่อคือ โรคหูน้ำหนวก คือการอักเสบหรือการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสที่บริเวณหูชั้นกลาง จนเกิดอาการบวม แดง และมีการสะสมของเหลวขึ้นที่บริเวณแก้วหู

หูชั้นกลางอักเสบ พบบ่อยแค่ไหน

โรคหูชั้นกลางอักเสบ เกิดขึ้นได้ทั่วไป แต่โดยมากแล้วมักจะพบอาการหูชั้นกลางอักเสบได้ในช่วงวัยเด็ก โดยเฉพาะเด็กทารกอายุตั้งแต่ 6-15 เดือนมากกว่าวัยผู้ใหญ่

อาการ

อาการของ หูชั้นกลางอักเสบ

อาการโดยทั่วไปของ โรคหูชั้นกลางอักเสบ มีดังนี้

อาการหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก

  • ปวดหู โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนอนราบกับพื้น
  • มีอาการกระตุกที่หู
  • เด็กมักจะดึงหูบ่อยผิดปกติ
  • มีปัญหาด้านการนอนหลับ
  • ร้องไห้มากกว่าปกติ
  • มีอาการงอแง
  • มีปัญหาด้านการได้ยิน
  • มีปัญหาด้านการตอบรับต่อเสียงที่ได้ยิน
  • สูญเสียความสมดุล
  • มีไข้สูงประมาณ 38 องศาหรือมากกว่า
  • มีของเหลวไหลออกจากหู
  • ปวดศีรษะ
  • ไม่ค่อยกระหายน้ำ

อาการหูชั้นกลางอักเสบในผู้ใหญ่

  • ปวดหู
  • มีของเหลวไหลออกมาจากหู
  • สูญเสียการได้ยิน
  • ได้ยินไม่ค่อยชัด

อาจมีบางอาการที่ไม่ได้ระบุไว้ข้างต้น ดังนั้น หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการ ควรปรึกษาคุณหมอ

ควรพบหมอเมื่อใด

หากมีอาการหรือสัญญาณของหูชั้นกลางอักเสบ ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและทำการรักษาทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการดังต่อไปนี้

  • มีอาการหูชั้นกลางอักเสบมากกว่าหนึ่งวัน
  • มีอาการหูชั้นกลางอักเสบในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน
  • มีอาการปวดหูอย่างรุนแรง
  • เด็กที่มีอาการหูชั้นกลางอักเสบนอนหลับได้น้อย หรือมีอาการหงุดหงิดหลังจากมีไข้หรือเป็นหวัด
  • มีของเหลว น้ำหนอง หรือของเหลวที่ปนเลือดไหลออกมาจากหู

สาเหตุ

สาเหตุของหูชั้นกลางอักเสบ

อาการของ โรคหูชั้นกลางอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส ซึ่งมักเป็นอาการที่พบได้หลังเป็นหวัด หรือเมื่อเป็นหวัด หรือเมื่อมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ในสภาวะดังกล่าว เชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสสามารถที่จะเดินทางเข้าสู่หูชั้นกลางผ่านท่อยูสเตเชียน (Eustachian Tube) ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางและบริเวณลำคอ แบคทีเรียหรือไวรัสจะก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ทำให้ท่อยูสเตเชียนบวมและอุดตันจนของเหลวที่เกิดขึ้นในหูชั้นกลางไม่สามารถจะระบายออกไปได้ เมื่อของเหลวดังกล่าวไม่สามารถระบายออกได้ก็จะทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตจนกระทั่งเกิดการติดเชื้อ ส่งผลให้เกิดอาการบวม แดง และปวดตามมา

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงการเกิดหูชั้นกลางอักเสบ

โรคหูชั้นกลางอักเสบ อาจเกิดได้จากปัจจัยดังต่อไปนี้

  • อายุ เด็กที่มีอายุระหว่าง 6 เดือน ถึง 2 ขวบ มักจะเกิดการติดเชื้อในหูชั้นกลางได้ง่าย
  • ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก เป็นสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อของเด็กได้ง่าย เช่น เป็นหวัด
  • การกินนมของทารก ทารกที่ดื่มนมจากขวดแล้วนอนราบมีโอกาสติดเชื้อในหูได้ง่ายทารกที่กินนมแม่
  • ฤดูกาล การติดเชื้อในหูมักพบได้บ่อยในช่วงฤดูใบไม้ร่วงหรือช่วงฤดูหนาวของบ้านเรา ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ตามฤดูกาลมักมีโอกาสในการติดเชื้อในหูได้มากกว่าปกติ
  • มลพิษทางอากาศ ฝุ่นควัน ควันบุหรี่ และมลพิษทางอากาศต่าง ๆ สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อในหูได้
  • โรคปากแหว่งเพดานโหว่ ผู้ที่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่จะมีโครงสร้างของกระดูกและกล้ามเนื้อที่อาจทำให้กระบวนการระบายของเหลวออกจากท่อยูสเตเชียนทำได้ยากขึ้น

อาจมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าที่ระบุไว้ข้างต้น โปรดปรึกษากับคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยหูชั้นกลางอักเสบ

โดยทั่วไปแล้วคุณหมอสามารถวินิจฉัย โรคหูชั้นกลางอักเสบ ได้จากการที่ผู้ป่วยอธิบายอาการ และจากการตรวจสอบอาการ โดยคุณหมอจะใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ในการตรวจวินิจฉัย ดังนี้

  • ตรวจด้วยเครื่องนิวเมติกส์ (Pneumatic) คุณหมอจะใช้เครื่องนิวเมติกส์เพื่อตรวจดูว่ามีของเหลวสะสมอยู่ในหูหรือไม่ โดยปล่อยลมเบา ๆ จากเครื่องนิวเมติกส์ไปที่แก้วหู ซึ่งตามปกติแล้ว แก้วหูเมื่อสัมผัสกับลมจะมีการเคลื่อนไหว แต่ถ้าหากมีของเหลวสะสมอยู่เต็มในหู แก้วหูเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยหรือไม่เคลื่อนไหวเลย

หรือแพทย์อาจทำการตรวจวินิจฉัยหูชั้นกลางอักเสบด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้

  • ตรวจการทำงานของหูชั้นกลาง (Tympanometry) โดยการปรับความดันอากาศในรูหู เพื่อทำให้แก้วหูเคลื่อนไหว และใช้อุปกรณ์เพื่อตรวจวัดว่าแก้วหูเคลื่อนไหวได้เป็นปกติหรือไม่
  • ตรวจการกระตุกอัตโนมัติของกล้ามเนื้อหูชั้นกลาง (Acoustic Reflectometry) โดยแพทย์จะทำการทดสอบดูว่าแก้วหูมีการสะท้อนกลับมามากหรือน้อยเพียงใด เพื่อวัดปริมาณของเหลวในหูชั้นกลาง หากมีความดันของของเหลวในหูชั้นกลางมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้ยินเสียงสะท้อนกลับมามากเท่านั้น
  • เจาะเยื่อแก้วหูเพื่อดูดน้ำออกจากหูชั้นกลาง (Tympanocentesis) คุณหมอจะใช้ท่อเล็ก ๆ เจาะเข้าไปที่แก้วหูเพื่อระบายเอาของเหลวในหูชั้นกลางออกมา คุณหมอจะนำของเหลวที่ได้ไปตรวจดูว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสหรือไม่ 

การรักษาหูชั้นกลางอักเสบ

โดยทั่วไปแล้วอาการหูชั้นกลางอักเสบมักจะหายได้เองภายใน 2-6 วัน โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาใด ๆ อย่างไรก็ตาม คุณหมออาจรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ยาปฏิชีวนะ คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดหู เช่น ยาพาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน
  • ยาหยอดหู เพื่อบรรเทาอาการปวดหู แต่คุณหมอจะสั่งจ่ายยาหยอดหูให้ในกรณะที่ไม่มีอาการแก้วหูทะลุหรือฉีกขาดเท่านั้น
  • เจาะแก้วหู เนื่องจากของเหลวอุดตันและไม่สามารถระบายออกทางท่อยูสเตเชียนได้ คุณหมออาจพิจารณาให้มีการเจาะแก้วหูและใส่ท่อเล็ก ๆ เพื่อระบายของเหลวออกจากหูชั้นกลาง โดยอายุการใช้งานของท่อนี้อาจอยู่ได้ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 1 ปี และจะหลุดออกไปเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไล์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่อาจช่วยจัดการกับหูชั้นกลางอักเสบ

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกัน โรคหูชั้นกลางอักเสบ ได้

  • เลิกสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้ที่กำลังสูบบุหรี่ เพราะจากผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นประจำมีโอกาสเกิดการติดเชื้อในหูได้มากกว่าผู้ที่ไม่เคยสัมผัสกับควันบุหรี่
  • ควบคุมอาการแพ้ เนื่องจากโรคภูมิแพ้ หรืออาการแพ้ต่าง ๆ จะก่อให้เกิดการอักเสบและมีน้ำมูกมาอุดกั้นท่อยูสเตเชียน ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย จึงควรระมัดระวังสุขภาพหากมีโรคภูมิแพ้เป็นโรคประจำตัว
  • ป้องกันหวัด เนื่องจากโรคหวัดเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดหูชั้นกลางอักเสบ 
  • ให้ลูกดื่มนมแม่ เพราะในน้ำนมแม่มีแอนติบอดี้ที่ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ ในเด็ก
  • ไม่ควรให้ลูกถือขวดนมนอนราบกับที่นอน สำหรับคุณแม่ที่ให้ลูกกินนมจากขวด ควรให้ศีรษะของเด็กอยู่สูงกว่าท้อง เพื่อป้องกันของเหลวไหลเข้าสู่ท่อยูสเตเชียน เสี่ยงต่อการติดเชื้อในหูชั้นกลาง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 22/03/2021

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา