backup og meta

หูน้ำหนวก อาการ สาเหตุ วิธีรักษาและป้องกัน

หูน้ำหนวก อาการ สาเหตุ วิธีรักษาและป้องกัน

หูน้ำหนวก หรือ โรคหูชั้นกลางอักเสบ เป็นภาวะที่เกิดการอักเสบภายในหูชั้นกลาง ส่งผลให้เยื่อแก้วหูบวม หูอื้อ ปวดหู และมีน้ำไหลออกจากหู หากปล่อยไว้นาน และไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้น้ำหนองไหลออกจากหูมากขึ้น มีกลิ่นเหม็น และแก้วหูเสียหายได้

[embed-health-tool-bmr]

คำจำกัดความ

หูน้ำหนวก คืออะไร

หูน้ำหนวก หรือ โรคหูชั้นกลางอักเสบ คือ การติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียที่หลังแก้วหู จนส่งผลให้หูชั้นกลางอักเสบ สามารถเกิดขึ้นในหูข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน และสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่อาจพบบ่อยในเด็ก เนื่องจากท่อปรับความดันในหูชั้นกลางของเด็กยังพัฒนาไม่สมบูรณ์

หูน้ำหนวกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน การติดเชื้อในหูชั้นกลางอาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ทำให้ในหูอักเสบ บวมแดง มีหนองบริเวณหลังแก้วหู ทั้งยังอาจส่งผลให้มีไข้ และมีอาการเจ็บปวดด้วย
  2. หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง เป็นการติดเชื้อในหูชั้นกลางที่อาจเกิดขึ้นซ้ำ ๆ  เป็นระยะเวลาหลายเดือน หรืออาจเป็นปี ภาวะหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังอาจไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด หรือมีไข้ แต่อาจทำให้มีของเหลว หรือหนองไหลออกจากช่องหู เสี่ยงเยื่อแก้วหูทะลุ และสูญเสียการได้ยินเล็กน้อย

อาการ

อาการหูน้ำหนวก

อาการหูน้ำหนวกที่พบบ่อยในเด็ก ได้แก่

  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • ปวดศีรษะ
  • มีของเหลว หรือหนองไหลออกจากหู
  • ร้องไห้มากกว่าปกติ
  • เด็กมักดึงหูตัวเอง
  • เบื่ออาหาร

อาการหูน้ำหนวกในผู้ใหญ่ ได้แก่

สาเหตุ

สาเหตุของ หูน้ำหนวก

การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ที่มาจากไข้หวัด โรคภูมิแพ้ เป็นต้น ในหูชั้นกลาง อาจส่งผลให้ระคายเคือง และหากท่อยูสเตเชียน ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมกับหูชั้นกลาง หลังโพรงจมูก และลำคอ มีส่วนช่วยลดแรงดันระหว่างหูชั้นนอก หูชั้นใน ช่วยระบายสารคัดหลั่งจากหูชั้นกลางออก เกิดภาวะบวม หรืออุดตัน ของเหลวที่สะสมอยู่ในหูชั้นกลางอาจติดเชื้อ และทำให้หูชั้นกลางอักเสบได้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของหูน้ำหนวก

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เป็นหูน้ำหนวก มีดังนี้

  • อายุ เด็กในช่วงอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี อาจเสี่ยงเกิดหูน้ำหนวกได้ง่าย เนื่องจากท่อยูสเตเชียน และระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่สมบูรณ์
  • การป้อนอาหารทารก ทารกที่ดื่มนมจากขวด อาจมีแนวโน้มหูติดเชื้อมากกว่าทารกที่กินนมแม่
  • โรคปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างกระดูก และกล้ามเนื้อในเด็ก ซึ่งโรคนี้อาจทำให้ท่อยูสเตเชียนระบายสารคัดหลั่งได้ยากขึ้น
  • สถานรับเลี้ยงเด็ก การดูแลเด็กหลายคนในพื้นที่เดียวกัน อาจทำให้การเกิดการติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด หูอักเสบ ได้ง่ายขึ้น
  • การรับควันบุหรี่หรือมลพิษทางอากาศ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหูชั้นกลางอักเสบ
  • สภาพอากาศ การติดเชื้อที่หูอาจเกิดขึ้นบ่อยในฤดูหนาว หรือสภาพอากาศที่หนาวเย็น ผู้ที่เป็นภูมิแพ้อากาศอาจเสี่ยงเกิดภาวะหูชั้นกลางติดเชื้อมากขึ้น

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยอาการหูน้ำหนวก

การวินิจฉัยหาสาเหตุของการติดเชื้อที่ทำให้หูชั้นกลางอักเสบ คุณหมออาจใช้เครื่องตรวจหูส่องช่องหู เพื่อดูว่าแก้วหูมีหนองหรือไม่ และอาจใช้วิธีการตรวจรูปแบบอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้

  • การตรวจการทำงานของหูชั้นกลาง (Tympanometry) เพื่อวัดการทำเคลื่อนไหวของแก้วหู และระดับความดันในหูชั้นกลาง
  • การตรวจปฏิกิริยาาสะท้อนกลับของกล้ามเนื้อในหูชั้นกลาง  (Acoustic reflectometry) เพื่อเช็กว่ามีเสียงสะท้อนออกมาจากแก้วหูมากน้อยเพียงใด โดยปกติแก้วหูจะดูดซับเสียง ยิ่งความดันของเหลวในหูชั้นกลางมากเท่าใด แก้วหูก็จะยิ่งสะท้อนเสียงได้มาก
  • การเจาะเยื่อแก้วหู (Tympanocentesis) คุณหมออาจใช้ท่อเล็ก ๆ เจาะแก้วหูเพื่อระบายของเหลวออกจากหูชั้นกลาง แล้วนำของเหลวมาตรวจหาเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย

การรักษาอาการหูน้ำหนวก

วิธีรักษาอาการหูน้ำหนวก เช่น

  • ยาปฏิชีวนะ ในรูปแบบรับประทาน และแบบยาหยอดในช่องหู
  • ยาแก้ปวด ยาหดหลอดเลือด
  • การใส่ท่อขนาดเล็กภายในหู เพื่อเปิดแก้วหู ไม่ให้ของเหลวสะสมในหูชั้นกลางมากจนเกินไป
  • การผ่าตัดปะเยื่อแก้วหู ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นหูน้ำหนวกเรื้อรัง เพื่อป้องกันไม่ให้หูชั้นกลางติดเชื้อบ่อย ๆ

สำหรับเด็กที่เป็นหูน้ำหนวก คุณหมออาจรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ และรักษาตามอาการในเบื้องต้น เนื่องจากเด็กอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น มีไข้สูง ปวดหู

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันหูน้ำหนวก

การลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหูชั้นกลางติดเชื้อจนทำให้เป็นโรคหูน้ำหนวก ได้แก่

  • ป้องกันโรคหวัด ด้วยการล้างมือบ่อย ๆ งดการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มร่วมกัน ไอจามอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจาย
  • หลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่ 
  • รับวัคซีนป้องกันโรคปอดบวม ไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัดตามฤดูกาล เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อที่หู

สำหรับทารกแรกเกิด คุณแม่ควรให้กินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน เพราะนมแม่มีแอนติบอดี ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Otitis Media (Middle Ear Infection) in Adults. https://www.entcolumbia.org/health-library/otitis-media-middle-ear-infection-adults. Accessed September 09, 2021

ear infection. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/ear-infections/symptoms-causes/syc-20351616. Accessed September 09, 2021

Ear infections. https://www.nhs.uk/conditions/ear-infections/. Accessed September 09, 2021

Ear Infection (Otitis Media). https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/otitis-media. Accessed September 09, 2021

Middle Ear Infection in Infants, Toddlers, Children, and Adults. https://www.medicinenet.com/ear_infection/article.htm. Accessed September 09, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

07/11/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

หูอื้อ ทําไง สาเหตุของหูอื้อ และวิธีบรรเทาอาการ

การใช้หูฟัง ให้ปลอดภัย ไม่สูญเสียการได้ยิน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 07/11/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา