backup og meta

ออฟฟิศซินโดรม ป้องกันได้ง่าย ๆ เพียงแค่เปลี่ยนอิริยาบถ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชมพูนุช ทรงถาวรทวี · แก้ไขล่าสุด 06/08/2020

    ออฟฟิศซินโดรม ป้องกันได้ง่าย ๆ เพียงแค่เปลี่ยนอิริยาบถ

    ออฟฟิศซินโดรม เป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยสำหรับกลุ่มคนวัยทำงาน ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หากไม่รีบรักษาและปล่อยไว้นานจนไปนอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายแล้วยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินในชีวิตประจำวันด้วย  บทความนี้ Hello คุณหมอ นำวิธีการป้องกันออฟฟิศซินโดรม แบบง่าย ๆ มาฝากทุกคนกันคะ

    ออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome)

    ออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) ภัยเงียบที่กำลังคุกคามพนักงานออฟฟิศในรูปแบบของโรคปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในระดับเบื้องต้นไปจนถึงระดับความปวดเมื่อยขั้นรุนแรงที่ต้องรับการรักษาทางการแพทย์ จนส่งผลเสียต่อการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน แต่เชื่อหรือไม่ว่าสาเหตุของโรคนี้เกิดจากพฤติกรรมการทำงานของเราเองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ในท่าเดิมนานเกินกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไป  ท่าทางการนั่งที่ไม่ถูกวิธี เช่น นั่งหลังค่อม ก้มหรือเงยคอมากเกินไป เพราะฉะนั้น เรียนผูกต้องเรียนแก้ ดั่งสุภาษิตไทยได้กล่าวไว้ เมื่อโรคนี้เกิดขึ้นจากพฤติกรรมเราเอง เราก็สามารถหลีกเลี่ยงออฟฟิศซินโดรมตัวร้ายได้เช่นกัน

    เปลี่ยนท่านั่งยั้งอาการ ออฟฟิศซินโดรม

    ท่านั่งทำงานนับเป็นจุดเล็ก ๆ ที่พนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่ละเลยที่จะให้ความสนใจ แต่หารู้ไม่ว่า หากหันมาสนใจท่านั่งระหว่างทำงานสักนิด แค่นี้ก็ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่ออาการออฟฟิศซินโดรมแล้วแถมยังช่วยเสริมบุคลิกของคุณให้ดูดีได้อีกด้วย ดังนั้นหากไม่อยากเสียบุคลิกและได้เพื่อนสนิทชื่อ ออฟฟิศซินโดรมเป็นของแถม มาเปลี่ยนท่านั่งให้ถูกต้องตามนี้กันเลย

  • ควรนั่งหลังตรงยืดไหล่คอตั้งตรง
  • กรณีที่เก้าอี้มีพนักพิง ควรนั่งให้ก้นเต็มเก้าอี้ และหลังพิงพนักเก้าอี้พอดี ท่านี้เป็นท่านั่งที่ช่วยเสริมให้นั่งหลังตรงได้โดยอัตโนมัติและสามารถช่วยแก้ปัญหาระบบกระดูกโค้งงอผิดรูปที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดออฟฟิศซินโดรม
  • กรณีที่เก้าอี้ไม่มีพนักพิง ผู้ทำงานควรนั่งเก้าอี้ให้เต็มก้นเช่นกันและพยายามนั่งหลังตรงเสมอ เพื่อช่วยลดปัญหาความผิดปกติของระบบกระดูกที่เป็นสาเหตุของการนั่งผิดท่า
  • ข้อศอกและแขนควรทำมุมในระดับ 90 – 120 องศา เมื่อวางบนคีย์บอร์ด
  • ปล่อยขาให้อยู่ในท่าที่สบาย ๆ ไม่งอขาเข้ามาข้างใน ปลายเท้าวางราบไปกับพื้น
  • ท่านั่งที่ถูกต้องเป็นหัวใจสำคัญของการลดความเสี่ยงจากโรคออฟฟิศซินโดรม เพราะ สาเหตุหลักมาจากการนั่งท่าเดิม ๆ ที่ผิดธรรมชาตินานเกินกว่า 6 ชั่วโมง ส่งผลให้การทำงานของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อผิดปกติ จนออฟฟิศซินโดรมแวะมาทักทายคุณ ดังนั้นหากไม่ต้องการทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่รายนี้ แค่เปลี่ยนท่านั่งให้เหมาะสมกับการทำงานก็สามารถ บอกลาออฟฟิศซินโดรมล่วงหน้าได้เลย
  • กลยุทธ์ล่องหน 3 นาทีดีต่อสุขภาพ

    ถึงจะฟังดูเจ้าเล่ห์อยู่บ้างแต่วิธีนี้กลับได้ผลมาก ๆ เพราะการออกไปเข้าห้องน้ำหรือเดินยืดเส้นยืดสายประมาณ 3-5 นาที เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถจากท่านั่งที่ผิดธรรมชาติ ช่วยคลายกล้ามเนื้อได้ นอกจากนี้หากใครที่นั่งทำงานอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ วิธีนี้จะเป็นวิธีการแก้ปัญหา อาการตาแห้ง จากการจ้องหน้าจอเป็นเวลานานเกินไปได้อีกด้วย เรียกได้ว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว  การออกกำลังกายด้วยท่าง่าย ๆ แค่วันละไม่กี่นาทีก็สามารถแก้ปัญหา ออฟฟิศซินโดรมกวนใจได้ชะงัดนัก ใครที่อยากห่างไกลโบกมือลา ออฟฟิศซินโดรม เชิญทางนี้เลย

    • ท่าที่ 1 การบริหารกล้ามเนื้อคอ เริ่มจากนำมือข้างซ้ายอ้อมไปจับศีรษะด้านขวา ดึงมาทางด้านซ้ายจนรู้สึกตึง นับ 1-10 สลับใช้มือข้างขวา นับ 1-10เ ช่นเดียวกัน จากนั้นประสานมือบริเวณท้ายทอย ดันไปด้านหน้าจนรู้สึกตึง นับ 1-10
    • ท่าที่ 2 การบริหารกล้ามเนื้อหัวไหล่ สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องของการปวดไหล่เป็นประจำ โดยยกไหล่ขึ้นไปจนสุด แล้วเกร็งค้างไว้ นับ 1-10 การกดไหล่ลงไปให้สุด แล้วเกร็งค้างไว้ นับ 1-10
    • ท่าที 3 การบริหารกล้ามเนื้อด้านหน้าอก และแก้ปัญหาไหล่ห่อ ให้ลุกขึ้นยืน จากนั้นนำมือประสานกันด้านหลัง ค่อยๆ ยกขึ้นมาจนถึงระดับที่เรารู้สึกว่าตึง นับ 1-10 การยืดด้านหลัง โดยการกอดตัวเองให้แน่นที่สุด ให้มือไขว้กันเยอะที่สุด โดยเอามือโอบด้านหลังของตัวเองให้มากที่สุด นับ 1-10
    • ท่าที 4 การบริหารบริเวณช่วงสะโพก บางคนมีปัญหาปวดบริเวณสะโพก ชาลงเท้า ชาลงขา จะสามารถบริหารท่านี้ได้ดี ท่าบริหารนี้จะช่วยบริหารกล้ามเนื้อบริเวณสะโพก ซึ่งมักจะไปกดทับเส้นประสาททำให้รู้สึกมีปัญหาได้ ทำโดยยกเท้าซ้ายขึ้นมาวางทับเหนือเข่าขวา จากนั้นเอนตัวมาด้านหน้า จะรู้สึกบริเวณต้นขาด้านซ้าย นับ 1-10 จากนั้นสลับเท้าด้านขวา
    • ท่าที่ 5 การบริหารกล้ามเนื้อด้านข้าง ยืดมือขึ้นบนสุดประกบกัน จากนั้นเอนตัวทางด้านซ้าย นับ 1 -10จากนั้นเอนตัวมาด้านขวา นับ 1-10 ท่าบริหารดังกล่าวควรทำบ่อยๆ ประมาณ 1-2ชั่วโมงต่อครั้ง เพื่อเป็นการยืดกล้ามเนื้อมัดหลักๆ ในร่างกาย สละเวลา 3-5นาที เพื่อสุขภาพร่างกายที่ดีและแข็งแรง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ชมพูนุช ทรงถาวรทวี · แก้ไขล่าสุด 06/08/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา