มีปัญหาในการหายใจ ออกกำลังกายยังไง ถึงจะปลอดภัยและเสริมสุขภาพ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    มีปัญหาในการหายใจ ออกกำลังกายยังไง ถึงจะปลอดภัยและเสริมสุขภาพ

    การออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที จะช่วยส่งเสริมสุขภาพ และช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ดียิ่งขึ้น โดยใครจะต้องออกกำลังกายรูปแบบไหน เป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เวลาที่มี อายุ ผลลัพธ์ในการออกกำลังกายที่ต้องการ และที่จะละเลยไม่ได้เลยก็คือ สภาวะสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณ มีปัญหาในการหายใจ เช่น หายใจลำบาก หายใจหอบถี่ คุณก็ยิ่งต้องเลือกรูปแบบการออกกำลังกายให้รอบคอบขึ้น หากคุณอยากรู้ว่าคนที่มีปัญหาในการหายใจ ควรออกกำลังกายรูปแบบไหน และต้องระวังอะไรเป็นพิเศษบ้าง ก็ลองมาหาคำตอบในบทความนี้ของ Hello คุณหมอ ได้เลย

    สาเหตุที่ทำให้คุณ มีปัญหาในการหายใจ

    หากคุณเป็นโรคเกี่ยวกับปอดและระบบทางเดินหายใจ ก็อาจทำให้ปอดของคุณทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพได้ หรือมีปัญหาในการหายใจได้ ซึ่งโรคที่สามารถทำให้คุณมีปัญหาในการหายใจได้นั้นมีมากมาย ที่พบได้บ่อย เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง หลอดลมโป่งพอง หลอดลมโป่งพองเรื้อรัง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือสำหรับคนบางกลุ่ม เช่น คุณแม่ท้อง ผู้สูงอายุ ก็อาจมีปัญหาในการหายใจได้เช่นกัน ยิ่งหากเป็นคุณแม่ท้องและผู้สูงอายุที่เป็นโรคเกี่ยวกับปอดอยู่แล้ว ก็อาจยิ่งทำให้คุณหายใจได้ลำบากยิ่งขึ้น

    การฝึกหายใจ… วิธีที่ช่วยให้หายใจดีขึ้น

    หากคุณมีปัญหาในการหายใจ หรือเป็นโรคเกี่ยวกับปอด หรือโรคระบบทางเดินหายใจ การฝึกหายใจด้วยวิธีเหล่านี้ สามารถช่วยให้ปอดของคุณทำงานได้ดีขึ้นได้

    การหายใจแบบห่อปากหรือเป่าปาก (Pursed lip Breathing)

    วิธีนี้จะช่วยให้ทางเดินหายใจของคุณเปิดกว้าง และอากาศผ่านเข้าออกได้สะดวกขึ้น โดยคุณสามารถฝึกหายใจแบบห่อปากได้ ตามขั้นตอนต่อไปนี้

  • นั่งหลังตรง ยืดไหล่ เพื่อให้ปอดเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
  • สูดหายใจเข้าทางจมูกลึกๆ อย่างช้าๆ
  • ห่อปาก หรือทำปากจู๋ จากนั้นหายใจออกทางปากช้าๆ โดยต้องใช้เวลาหายใจออกเป็นสองเท่าของเวลาหายใจเข้า เช่น หากคุณหายใจเข้า 5 วินาที ก็ให้หายใจออก 10 วินาที
  • ฝึกต่อไปประมาณ 5-10 นาที
  • การหายใจด้วยท้อง (Belly Breathing)

    การหายใจวิธีนี้เป็นการหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องหรือกะบังลม หากคุณฝึกหายใจด้วยวิธีนี้ จะช่วยให้คุณจึงสามารถหายใจได้ลึกขึ้น และทำให้ปอดได้รับอากาศมากขึ้นด้วย โดยคุณสามารถฝึกหายด้วยท้องได้ ตามขั้นตอนต่อไปนี้

    1. นอนราบ หรือนั่งหลังตรง ยืดไหล่
    2. วางมือข้างหนึ่งบนหน้าอก และวางมืออีกข้างบนหน้าท้อง
    3. หายใจเข้าทางปากช้าๆ พร้อมเพ่งความรู้สึกไปยังหน้าท้อง โดยหน้าท้องต้องขยับมากกว่าหน้าอก
    4. หายใจออกทางปากให้ช้ากว่าตอนหายใจเข้าสัก 2-3 เท่า โดยหน้าท้องต้องยุบ
    5. ฝึกต่อไปประมาณ 5-10 นาที

    มีปัญหาในการหายใจ ออกกำลังกายแบบไหนดี

    ผู้ที่เป็นโรคปอดหรือมีปัญหาในการหายใจ ก็ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกับคนที่มีสุขภาพดีทั่วไป โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า การออกกำลังกายแบบเป็นจังหวะ หนักสลับเบา (Interval training) หรือที่เรียกว่าการออกกำลังกายแบบฮิต (HIIT) อาจเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาในการหายใจ เช่น หายใจลำบาก หายใจถี่ มากกว่าการออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง ด้วยความเข้มข้นต่ำไปนานๆ

    โดยรูปแบบการออกกำลังกายแบบเบาสลับหนัก สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการหายใจ เช่น

    • เดินเร็วมาก 1 นาที แล้วสลับมาเดินช้าๆ 2 นาที
    • ออกกำลังกายต้นแขนด้วยท่าไบเซปเคิร์ล (bicep curls) หรือออกกำลังกายต้นขาด้วยท่าลันจ์ (lunges) 1 นาที แล้วสลับมาเดินช้าๆ บนลู่วิ่ง 2-3 นาที

    การออกกำลังกายแบบหนักสลับเบาดังตัวอย่างข้างต้น จะช่วยให้ปอดของคุณมีเวลาได้พักเป็นระยะ ต่างจากการออกกำลังกายด้วยความเข้มข้นเท่ากันตลอด และหากคุณออกกำลังกายไปแล้วเริ่มมีอาการหายใจลำบาก หายใจถี่ คุณควรหยุดพักให้นานขึ้นอีกนิด แล้วเปลี่ยนมาหายใจแบบห่อปากหรือเป่าปากจนกว่าจะหายใจได้สะดวกขึ้น

    นอกจากนี้ คุณควรออกกำลังกายโดยใช้แรงต้าน (Resistance training) เช่น เต้นรำ กระโดดเชือก และออกกำลังกายแบบยืดหยุ่น เช่น ไทชิหรือไทเก๊ก การเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อของร่างกายส่วนบน ส่วนล่าง และกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวเป็นประจำด้วยการออกกำลังกายรูปแบบต่างๆ ที่เรายกตัวอย่างมานี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอด ทำให้คุณหายใจสะดวกขึ้น คุณจึงสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดีขึ้นด้วย

    ข้อควรรู้และสิ่งที่ควรระวัง

    ข้อควรรู้ก่อนผู้มีปัญหาในการหายใจออกกำลังกาย

    • ก่อนออกกำลังกาย ควรยืดเหยียดร่างกาย หรือวอร์มอัพกล้ามเนื้อ และเพิ่มการยืดหยุ่น ด้วยการขยับร่างกายเบาๆ
    • อย่าหักโหมออกกำลังกายหนักหรือนานเกินไป แต่ควรค่อยๆ เพิ่มระยะเวลา และความเข้มข้นของการออกกำลังกายทีละนิด
    • ออกกำลังกายเสร็จแล้ว อย่าลืมคลูดาวน์ด้วย เพื่อให้กล้ามเนื้อและจังหวะการเต้นของหัวใจค่อยๆ กลับเข้าสู่สภาวะปกติ

    สิ่งที่ผู้มีปัญหาในการหายใจต้องระวัง

    • ผู้ที่มีปัญหาในการหายใจเป็นประจำ หรือมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาคุณหมอก่อนตัดสินใจออกกำลังกาย
    • หากออกกำลังกายแล้วเจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ ควรหยุดพักทันที และหากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปปรึกษาคุณหมอ
    • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งในช่วงที่มีระดับมลพิษทางอากาศสูง หรืออากาศแย่ แล้วหันไปออกกำลังกายในร่มแทน เช่น ออกกำลังกายตามคลิปวิดีโอที่บ้าน เข้าฟิตเนส หรือเดินเล่นในห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน ก็ถือว่าได้ออกกำลังกายเช่นกัน แต่แนะนำว่า หากเป็นที่สาธารณะ หรือคนเยอะ คุณควรสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองด้วย

    การออกกำลังกายอาจไม่ได้ช่วยทำให้ปอดกลับมาเป็นปกติได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็สามารถช่วยให้ปอดของผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับปอด และมีปัญหาในการหายใจสามารถทำอย่างได้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

    นอกจากออกกำลังกายแล้ว ผู้ที่เป็นโรคปอดก็ต้องดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อให้ร่างกายชุ่มชื้น ไม่เกิดภาวะขาดน้ำ และงดพฤติกรรมทำร้ายปอดอย่างการสูบบุหรี่ด้วย และหากคุณรู้สึกเจ็บขณะหายใจ หรือไอไม่หยุด ก็ควรรีบไปปรึกษาคุณหมอทันที อย่าปล่อยไว้ คุณหมอจะได้วินิจฉัยและรักษาได้ถูกต้อง

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    โฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    โฆษณา
    โฆษณา
    โฆษณา