backup og meta

นิ้วล็อค โรคยอดฮิตของคนยุคนี้ กับหลากหลายวิธีรักษา

นิ้วล็อค โรคยอดฮิตของคนยุคนี้ กับหลากหลายวิธีรักษา

นิ้วล็อค เป็นอาการที่พบได้บ่อย ๆ ของคนในยุคนี้ เพราะส่วนใหญ่ต้องใช้นิ้วมือจิ้มคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ หน้าจอแท็บเล็ต หรือหน้าจอสมาร์ทโฟนซ้ำไปซ้ำมาเป็นเวลานาน ๆ การใช้นิ้วมืออย่างหนักทำให้เกิดอาการ นิ้วล็อค ได้ ถ้าคุณอยากรู้ว่าโรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และต้องจัดการยังไง ลองอ่านรายละเอียดที่ Hello คุณหมอ ได้รวบรวมมาให้ในบทความนี้ดูนะคะ คุณจะได้รู้ว่าตรงกับอาการที่เป็นอยู่หรือเปล่า หากใครเป็นแล้วรักษาด้วยวิธีที่เราแนะนำแล้วได้ผล ก็อย่าลืมแชร์บทความดี ๆ บทความนี้ให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันด้วยนะคะ

นิ้วล็อค คืออะไร

นิ้วล็อค (Trigger Finger) เกิดจากการเสียดสีของเส้นเอ็นในช่องเอ็น จนทำให้เกิดการอักเสบขึ้นที่ปลอกหุ้มเอ็นบริเวณข้อนิ้ว ซึ่งทำหน้าที่ในการงอนิ้ว เมื่อมีอาการขึ้นมาจะทำให้เคลื่อนไหวนิ้วได้ยาก และอาจทำให้งอหรือเหยียดนิ้วได้ลำบาก รวมทั้งอาจมีความเจ็บปวด ซึ่งความเจ็บปวดก็จะมีหลายระดับ

อาการของนิ้วล็อค

คนที่มีปัญหาเรื่องนิ้วล็อค มักจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • เจ็บปวดไม่ยอมหายในบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ หรือนิ้วอื่น ๆ
  • มีตุ่มหรือก้อนนูนรอบ ๆ โคนนิ้วบริเวณที่อยู่ใกล้ฝ่ามือ
  • มีอาการกดเจ็บบริเวณรอบ ๆ โคนนิ้วมือ
  • ขยับนิ้วแล้วมีเสียงแปลก ๆ
  • นิ้วแข็ง ขยับไปมาได้ยาก

หากคุณปล่อยไว้โดยไม่รักษา นิ้วล็อคก็อาจมีอาการแย่ลงได้ เช่น นิ้วหัวแม่มือหรือนิ้วอื่น ๆ อาจล็อคอยู่ในท่างอหรือท่าเหยียดตรง จนไม่สามารถขยับเปลี่ยนเป็นท่าอื่นได้ ถ้าไม่ได้ใช้มืออีกข้างหนึ่งช่วย อาการนิ้วล็อคมักจะแย่ลงในช่วงเช้า แต่เมื่อถึงช่วงกลางวันนิ้วก็จะหายเกร็งและเคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้น

สาเหตุที่ทำให้เกิดนิ้วล็อค

นิ้วของเรามีกระดูกชิ้นเล็ก ๆ อยู่หลายชิ้น โดยมีเส้นเอ็นทำหน้าที่เชื่อมต่อกระดูกเข้ากับกล้ามเนื้อ เวลาที่กล้ามเนื้อหดหรือรัดตัว เส้นเอ็นก็จะดึงกระดูกเพื่อทำให้นิ้วขยับได้ เส้นเอ็นเส้นยาว ๆ จะเชื่อมต่อจากปลายแขนไปถึงกล้ามเนื้อและกระดูกในบริเวณมือ โดยเส้นเอ็นนี้จะเลื่อนผ่านปลอกหุ้มเอ็น ซึ่งมีลักษณะคล้ายอุโมงค์สำหรับเส้นเอ็น ถ้าอุโมงค์นี้แคบลง เส้นเอ็นก็จะขยับได้ยากขึ้น ซึ่งอาการเช่นนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเป็นนิ้วล็อค

เมื่อเส้นเอ็นต้องเลื่อนผ่านอุโมงค์แคบ ๆ ก็จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและอาการบวม จนส่งผลให้นิ้วของคุณเคลื่อนไหวได้ลำบากมากขึ้น บางครั้ง การอักเสบอาจทำให้เกิดก้อนนูนขึ้นมา ซึ่งยิ่งทำให้เคลื่อนไหวนิ้วได้ลำบากขึ้นไปอีก นิ้วเลยอยู่ในท่างอ จนคุณแทบจะไม่สามารถเหยียดนิ้วให้ตรงได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดนิ้วล็อค

มีปัจจัยเสี่ยงอยู่มากมายที่เพิ่มโอกาสให้เราเกิดอาการนิ้วล็อคขึ้นมาได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านั้น ได้แก่

  • การงอนิ้วซ้ำ ๆ อาชีพหรืองานอดิเรกที่ทำให้ต้องใช้มือทำอะไรซ้ำ ๆ หรือต้องขยับนิ้วหรืองอนิ้วเป็นเวลานาน ๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดนิ้วล็อคขึ้นมาได้
  • ปัญหาสุขภาพบางอย่าง คนที่เป็นโรคเบาหวานหรือโรครูมาตอยด์ มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการนิ้วล็อค
  • เพศ อาการนิ้วล็อคมักจะเกิดกับผู้หญิงได้มากกว่า
  • การผ่าตัดพังผืดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ การผ่าตัดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอาการนิ้วล็อคขึ้นมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหกเดือนแรกหลังผ่าตัด

วิธีการรักษานิ้วล็อคด้วยตัวเอง

นิ้วล็อคจะมีอาการและระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันไป ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

การรักษาด้วยตัวเอง

  • หยุดทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการนิ้วล็อคเป็นเวลา 4-6 สัปดาห์
  • ใส่เฝือกหรือที่ดามนิ้วเพื่อช่วยจำกัดการเคลื่อนไหว และช่วยให้มือได้มีโอกาสพักผ่อน
  • ประคบเย็นหรือประคบร้อน เพื่อช่วยลดอาการบวม
  • แช่มือในน้ำอุ่นวันละหลาย ๆ ครั้ง เพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
  • ค่อย ๆ เหยียดนิ้วมือ เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหวให้นิ้วมือ

การรักษาด้วยการใช้ยา

การใช้ยาจะช่วยลดอาการอักเสบให้ผู้ที่เป็นโรคนี้ได้ ซึ่งยาต่อต้านอาการอักเสบก็ได้แแก่

  • ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
  • ยานาพรอกเซน (Naproxen)
  • ยาต้านอาการอักเสบที่ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์
  • การฉีดยาสเตียรอยด์

การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด

ถ้าการรักษาด้วยตัวเองหรือการใช้ยาไม่ได้ผล คุณหมออาจแนะนำให้คุณเข้ารับการผ่าตัดรักษานิ้วล็อค ซึ่งไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล หลังจากฉีดยาชาแล้ว คุณหมอจะกรีดบริเวณฝ่ามือเป็นแผลเล็ก ๆ แล้วตัดปลอกหุ้มเอ็นที่รัดตัวออก เมื่อปลอกหุ้มเอ็นมีอาการดีขึ้นแล้ว บริเวณที่เคยเป็นปัญหาก็จะหลวมขึ้น ทำให้คุณขยับนิ้วได้ง่ายขึ้น แต่การผ่าตัดก็อาจเกิดความเสี่ยงหรืออาการข้างเคียงบางอย่างได้ เช่น การติดเชื้อ ผ่าตัดแล้วไม่ได้ผล

การพักฟื้นหลังผ่าตัดอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ไปจนถึงหกเดือน คุณหมออาจแนะนำให้คุณออกกำลังกาย เพื่อเป็นการบำบัดทางร่างกาย และช่วยคลายความแข็งของนิ้วมือหลังผ่าตัด ซึ่งกฎที่ควรปฎิบัติโดยทั่วไปก็คือ เมื่อคุณหมอตัดปลอกหุ้มเอ็นออกไปแล้ว เส้นเอ็นก็สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ และคุณสามารถกลับไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติภายในสองถึงสามวัน และคุณหมอจะนัดตัดไหมในช่วง 7-14 วันหลังผ่าตัด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Trigger Finger. https://www.healthline.com/health/trigger-finger. Accessed on August 10, 2018

Trigger Finger. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/trigger-finger/symptoms-causes/syc-20365100. Accessed on August 10, 2018

Trigger Finger. https://orthoinfo.aaos.org/en/diseases–conditions/trigger-finger/. Accessed on August 10, 2018

เวอร์ชันปัจจุบัน

12/10/2020

เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปวดหลัง ปวดไหล่ เพราะนั่งนาน นั่งทำงานอย่างไรไม่ให้ปวดหลัง

ท่ายืดกล้ามเนื้อ แก้ปวดหลัง ได้โดยไม่ต้องพึ่งยา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 12/10/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา