กานพลู เป็นพืชสมุนไพรและเครื่องเทศที่นิยมใช้แต่งกลิ่นอาหาร นำมาทำเป็นเครื่องดื่ม และยังอุดมไปด้วยสารอาหารและสารประกอบหลายชนิด เช่น ยูจีนอล (Eugenol) ฟีนอลิก (Phenolic) เอทิลอะซิเตท (Ethyl Acetate) ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อาจมีคุณสมบัติช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด บำรุงกระดูก ปรับปรุงสุขภาพตับ และป้องกันมะเร็ง
[embed-health-tool-bmi]
คุณค่าทางโภชนาการของกานพลู
กานพลู ปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 274 กิโลแคลอรี่ และประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น
- คาร์โบไฮเดรต 65.5 กรัม
- ไฟเบอร์ 33.9 กรัม
- ไขมัน 13 กรัม
- โปรตีน 6 กรัม
นอกจากนี้ กานพลูยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น โซเดียม แมงกานีส แคลเซียม โพแทสเซียม วิตามินเค วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 4 วิตามินบี 6
ประโยชน์ของกานพลูที่มีต่อสุขภาพ
กานพลูมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของกานพลูในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้
-
อาจช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
น้ำมันกานพลูมีสารประกอบบางชนิด เช่น ยูจีนอล กรดโอเลอิก (Oleic Acids) ลิปิด (Lipid) ที่อาจมีฤทธิ์ต้านจุลชีพได้ งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านจุลชีพของสารสกัดกานพลูและโหระพา ตีพิมพ์ใน Sultan Qaboos University Medical Journal เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 พบว่า สารสกัดจากน้ำมันของกานพลู เช่น ยูจีนอล กรดโอเลอิก ลิปิด อาจมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ ต่อต้านแบคทีเรียและยีสต์ โดยเฉพาะเชื้อราแคนดิดา (Candida) และน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรยังทำหน้าที่เป็นสารปกป้องพืช โดยปกป้องพืชจากสัตว์กินพืชและเชื้อโรคที่ร้ายแรง อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับฤทธิ์ในการต้านจุลชีพของกานพลูต่อไป
-
อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
กานพลูอาจมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ควบคุมฮอร์โมนความอิ่มและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับผลของกานพลูและขิงหมักต่อระดับกลูโคสในเลือด เลปติน (Leptin) อินซูลิน และตัวรับอินซูลินในอาหารที่มีไขมันสูง ตีพิมพ์ใน Nigerian Journal of Physiological Sciences เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 พบว่า การบริโภคอาหารเสริมกานพลูอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมระดับฮอร์โมนเลปติน หรือฮอร์โมนความอิ่ม เพิ่มการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินที่ช่วยในการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของการพลูในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
-
อาจช่วยปรับปรุงสุขภาพกระดูก
การพลูมีสารประกอบฟีนอลิก (Phenolic Compounds) อย่างยูจีนอล (Eugenol) ที่อาจช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกและบำรุงรักษากระดูก โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับสารสกัดจากกานพลูที่อุดมไปด้วยยูจีนอลซึ่งมีประสิทธิภาพในการบำรุงรักษากระดูก ตีพิมพ์ในวารสาร Natural Product Research เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 พบว่า กานพลูแห้งอุดมไปด้วยสารประกอบฟีนอลิก ได้แก่ ยูจีนอล ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของฟลาโวน (Flavones) ไอโซฟลาโวน (Isoflavones) และฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ที่มีประสิทธิภาพในการรักษากระดูกในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนที่เกิดจากภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ โดยการเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของกานพลูในการปรับปรุงสุขภาพกระดูก
-
อาจช่วยปรับปรุงสุขภาพตับ
น้ำมันกานพลูและสารสกัดยูจีนอลจากน้ำมันกานพลู อาจช่วยปรับปรุงสุขภาพตับและป้องกันโรคที่เกี่ยวกับตับได้ งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับน้ำมันกานพลูและยูจีนอลที่มีผลต่อการป้องกันไขมันพอกตับและภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ ตีพิมพ์ใน Journal of Medicinal Food เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557 พบว่า น้ำมันหอมระเหยกานพลูและองค์ประกอบหลักอย่างยูจีนอล อาจช่วยปรับปรุงการทำงานของตับ ลดการอักเสบ และลดผลกระทบจากปฏิกิริยาออกซิเดชันเนื่องจากการทำลายของอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจช่วยป้องกันไขมันพอกตับและภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ
-
อาจช่วยป้องกันมะเร็ง
สารสกัดจากกานพลูอย่างเอทิลอะซิเตท (Ethyl Acetate) และกรดโอเลโนลิก (Oleic Acid) อาจช่วยต้านเซลล์มะเร็งได้ งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับสารสกัดจากกานพลูในการยับยั้งการเติบโตของเนื้องอกและส่งเสริมวัฏจักรการตายของเซลล์ ตีพิมพ์ในวารสาร Oncology Research and Treatment เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557 พบว่า กานพลูมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อ ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราและไวรัส รวมทั้งมีสารสกัดเอทิลอะซิเตทและกรดโอเลโนลิก ที่อาจมีฤทธิ์ต้านเนื้องอกและเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งในมนุษย์หลายชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ
ข้อควรระวังในการบริโภคกานพลู
การพลูเป็นเครื่องเทศและพืชสมุนไพรที่อาจมีข้อควรระวังในการบริโภค ดังนี้
- การใช้น้ำมันกานพลูในบางคนอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ดวงตา และระบบทางเดินหายใจ หรืออาจทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ผิวหนัง ทำให้มีอาการผื่นแดง ผิวแห้งเป็นขุยและคัน
- เด็กไม่ควรบริโภคน้ำมันกานพลู เนื่องจาก น้ำมันกานพลูอาจมีฤทธิ์ทำลายตับ ก่อให้เกิดอาการชัก อาจเกิดผลข้างเคียงอย่างอาการตับวายและปัญหาการแข็งตัวของเลือด โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน European Journal of Pediatrics เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548 ศึกษาเกี่ยวกับพิษจากน้ำมันหอมระเหย พบว่า มีเด็กชายอายุ 15 เดือน เป็นโรคตับวายเฉียบพลันหลังจากกินน้ำมันกานพลู 10 มิลลิลิตร เมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมง