backup og meta

ผักแว่น ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

    ผักแว่น ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

    ผักแว่น เป็นพืชตระกูลเฟิร์น เจริญเติบโตในน้ำตื้น ใบมีลักษณะเป็น 4 แฉก มีสีเขียว เมื่อแก่ใบจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล นิยมนำมาใช้เป็นยาหรือประกอบอาหาร อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อาจช่วยบำรุงกระดูก บำรุงสุขภาพตา และอาจช่วยป้องกันโรคหลายชนิด เช่น โรคเบาหวาน มะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ

    คุณค่าทางโภชนาการของผักแว่น

    ผักแว่น ปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 18 กิโลแคลอรี่ และประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น

    นอกจากนี้ ผักแว่นยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 ฟอสฟอรัส แคลเซียม ธาตุเหล็ก

    ประโยชน์ของผักแว่นที่มีต่อสุขภาพ

    ผักแว่นมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของผักแว่นในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

    1. อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ

    ผักแว่นอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) สารเอทิลอะซิเตท (Ethyl Acetate) วิตามินซี ที่อาจมีประโยชน์ต่อการบำรุงรักษาสุขภาพร่างกายและอาจช่วยป้องกันโรค เช่น ลดไข้ แก้เจ็บคอ คออักเสบ สมานแผลในปาก ลำคอและกระเพาะอาหาร แก้อาการร้อนใน ดับกระหาย โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน The Journal of Nutrition เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 ศึกษาเกี่ยวกับเบต้าแคโรทีนซึ่งเป็นแหล่งวิตามินเอที่สำคัญ พบว่า เบต้าแคโรทีนเป็นแหล่งวิตามินเอสำคัญที่พบได้ในผักและผลไม้หลายชนิด มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันปฏิกิริยาออกซิเดชันเนื่องจากการทำลายเนื้อเยื่อและเซลล์จากอนุมูลอิสระ อาจช่วยป้องกันสุขภาพดวงตา เช่น ต้อกระจกในผู้สูงอายุ ป้องกันสุขภาพผิวจากการทำร้ายของรังสียูวี เช่น ผิวไหม้จากแดด ผื่นแดง

    นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในเอกสารการประชุมในงาน Bromo Conference Symposium on Natural Products and Biodiversity ที่เมืองซูราบายา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 ศึกษาเกี่ยวกับสารสกัดเอทิลอะซิเตทจากผักแว่น (Marsilea crenata Presl) พบว่า สารสกัดเอทิลอะซิเตทเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบมากในผักแว่น มีฤทธิ์ช่วยต้านความเสียหายของเซลล์ที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันเนื่องจากทำลายจากอนุมูลอิสระ

    1. อุดมไปด้วยโฟโตเอสโตรเจน

    ผักแว่นอุดมไปด้วยสารประกอบไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) ที่ออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยจะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพผู้หญิง ระบบสืบพันธุ์ สุขภาพกระดูก และอาจช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคที่เกี่ยวกับระบบเผาผลาญ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน British Journal of Pharmacology เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับไฟโตเอสโตรเจนในอาหารที่ส่งผลต่อสุขภาพ พบว่า ไฟโตเอสโตรเจนเป็นสารประกอบอาหารที่ได้จากพืชมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ลดอาการวัยหมดประจำเดือน เช่น ร้อนวูบวาบ โรคกระดูกพรุน ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน โรคเมตาบอลิซึม โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ความผิดปกติของการทำงานของสมอง มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ และมะเร็งอื่น ๆ

    1. อาจช่วยป้องกันโรคเบาหวาน

    ผักแว่นอุดมไปด้วยฟลาโวนอยด์ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและป้องกันโรคเบาหวานได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Current Applied Science and Technology Journal เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 พบว่า ฟลาโวนอยด์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบในผักแว่น อาจช่วยยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดส (α-Glucosidase) ที่เป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน ซึ่งการยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดสจะช่วยให้ร่างกายย่อยแป้งเป็นน้ำตาลได้ช้าลง ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จึงส่งผลดีต่อการป้องกันโรคเบาหวาน

    1. อาจดีต่อสุขภาพกระดูก

    ผักแว่นอุดมไปด้วยสารประกอบไฟโตเอสโตรเจนที่สำคัญต่อความแข็งแรงของกระดูกและการสร้างกระดูกใหม่ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Journal of Basic and Clinical Physiology and Pharmacology เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ศึกษาเกี่ยวกับสารประกอบพฤกษเคมีของสารสกัดเอทานอล (Ethanol) ของใบเซมังกี (Semanggi) ซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกับผักแว่น พบว่า สารสกัดเอทานอล 96% จากพืชตระกูลเดียวกับผักแว่น อาจช่วยให้เซลล์ตอบสนองต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ดีขึ้น ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการสร้างกระดูกใหม่ที่แข็งแรง

    1. อาจช่วยบำรุงสายตา

    ผักแว่นอุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีนที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันความเสียหายของเรตินาและเลนส์ตาที่เสื่อมสภาพ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Antioxidants เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับเบต้าแคโรทีน ลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) พบว่า เบต้าแคโรทีนเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ มีความสำคัญต่อสุขภาพร่างกายและการมองเห็น ปกป้องเรตินาและเลนส์ตาจากความเสียหายที่เกิดจากแสง ซึ่งช่วยรักษาสุขภาพดวงตาและป้องกันโรคตา เช่น ต้อกระจก การเสื่อมสภาพของดวงตาตามอายุ ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา

    ข้อควรระวังในการบริโภคผักแว่น

    ผักแว่นอุดมไปด้วยสารประกอบไฟโตเอสโตรเจนปริมาณมากที่มีโครงสร้างและการออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน ดังนั้น การรับประทานผักแว่นมากเกินไปอาจส่งผลต่อความสมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย เนื่องจาก สารไฟโตเอสโตรเจนอาจเข้าไปรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อในการหลั่งฮอร์โมนที่เป็นปกติ จึงอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ภาวะมีบุตรยาก เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในอวัยวะที่ไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกในมดลูก ดังนั้น จึงควรรับประทานผักแว่นในปริมาณที่เหมาะสม หรือปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทาน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา