ท้องผูกเกิดจาก สาเหตุหลายประการ เช่น การรับประทานอาหารไขมันสูง การดื่มน้ำน้อย การไม่ออกกำลังกาย อาการท้องผูกเป็นอาการที่มีไฟเบอร์หรือใยอาหารชนิดละลายน้ำได้ในระบบทางเดินอาหารนานกว่าปกติ ทำให้ลำไส้ดูดซึมน้ำจากใยอาหารเหล่านั้นมากเกินไป ส่งผลให้อุจจาระแห้งและขับออกยาก ต้องออกแรงเบ่งหรือใช้เวลานานในการขับถ่าย หากท้องผูกไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เนื่องจากอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา เช่น ริดสีดวงทวาร หากท้องผูกมาสักระยะหนึ่งแล้วอาการไม่ดีขึ้น และยังไม่สามารถขับถ่ายได้ตามปกติ อาจต้องไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที
ท้องผูกเกิดจาก อะไร
สาเหตุของอาการท้องผูก อาจมีดังนี้
- พฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำ เช่น ข้าวกล้อง ผัก ผลไม้ น้อยเกินไป ทำให้ร่างกายขาดใยอาหารชนิดที่ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ทำให้อาหารค้างอยู่ในลำไส้นาน ลำไส้จึงดูดซึมน้ำออกมากเกินไป ส่งผลให้อุจจาระเป็นก้อนแข็ง นอกจากนี้ การดื่มน้ำน้อย ก็อาจทำให้ท้องผูกได้เนื่องจากส่งผลให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ช้าลง อุจจาระเคลื่อนตัวได้น้อย ไม่ไหลไปตามลำไส้ตามปกติ
- การอุดตันในลำไส้ใหญ่หรือทวารหนัก ความผิดปกติภายในลำไส้ใหญ่ เช่น พังผืด ภาวะลำไส้ตีบ แผลปริที่ปากทวารหนัก ทำให้ลำไส้อุดตัน ส่งผลให้อาหารและของเหลวที่ผ่านลำไส้เคลื่อนตัวได้ช้ากว่าปกติ ส่งผลให้ท้องผูกได้
- ปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาทบริเวณลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เช่น โรคพาร์กินสัน ภาวะหลอดเลือดตีบตัน ไขสันหลังอักเสบ อาจส่งผลต่อการหดเกร็งตัวของเส้นประสาทที่ทำหน้าที่เคลื่อนอุจจาระผ่านลำไส้
- เคลื่อนไหวร่างกายน้อย เมื่อไม่ค่อยออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายน้อย อาจทำให้ร่างกายสะสมแก๊สไว้ในกระเพาะอาหารเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ท้องอืด ลำไส้หดเกร็งตัวน้อยลง และทำให้อุจจาระแข็งได้
- การใช้ยาบางชนิด การใช้ยารักษาโรคหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิด เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคชัก ยาระงับปวด (Anticholinergics) ยาลดกรด วิตามินที่มีส่วนผสมของแคลเซียมและอลูมินัม ร่างกายอาจไม่สามารถดูดซึมยาไปใช้จนหมด ยาบางส่วนอาจเข้าสู่สำไส้ใหญ่ และทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ อีกทั้งยาบางอย่างยังมีฤทธิ์ในการลดการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร เช่น อะลูมินัม อีกทั้งยาบางชนิดยังอาจจะไปรวมตัวกับอุจจาระ ทำให้อุจจาระเป็นก้อนแข็งเกินไปจนขับถ่ายยากได้
- การตั้งครรภ์ ในช่วงตั้งครรภ์ หน้าท้องและมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นอาจไปกดทับอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบขับถ่าย ทำให้โพรงลำไส้แคบกว่าปกติ เมื่อลำไส้ใหญ่มีขนาดเล็กลง อุจจาระจะเคลื่อนตัวได้ช้าลงและส่งผลให้ท้องผูก
ลักษณะของอาการท้องผูก
อาการที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะท้องผูก มีดังนี้
- อุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์
- อุจจาระที่ถ่ายออกมาแห้งและแข็ง
- ถ่ายอุจจาระแล้วแต่รู้สึกเหมือนยังถ่ายไม่สุด
- ใช้เวลาถ่ายอุจจาระนาน อุจจาระเคลื่อนตัวออกมาได้ช้า และรู้สึกเจ็บเมื่อออกแรงเบ่ง
วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันท้องผูก
การปรับอาหารและพฤติกรรมดังต่อไปนี้ อาจช่วยบรรเทาและป้องกันท้องผูกได้
รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์หรือใยอาหาร การเลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์หรือเส้นใยอาหาร โดยเฉพาะชนิดไม่ละลายน้ำ อาจช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้ เนื่องจากใยอาหารมีส่วนช่วยให้ระบบการย่อยอาหารทำงานตามปกติ กระตุ้นให้อาหารเดินทางเร็วขึ้น ช่วยให้ลำไส้บีบตัวได้ดีขึ้น ปริมาณไฟเบอร์ที่ร่างกายต้องการต่อวันคือ 20-35 กรัม โดยอาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ มีดังนี้
- ธัญพืชเต็มเมล็ด เช่น ขนมปังโฮลวีต ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ข้าวกล้อง
- พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเลนทิล ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วชิกพีหรือถั่วลูกไก่
- ผัก เช่น แครอท บร็อคโคลี ถั่วลันเตา กะหล่ำปลี ผักโขม ปวยเล้ง
- ผลไม้ เช่น แอปเปิ้ล ผลไม้ตระกูลเบอร์รี มะละกอ อะโวคาโด มะม่วง
ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน การดื่มน้ำจะช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ และมีส่วนช่วยทำให้กากอาหารในลำไส้อ่อนนุ่ม เคลื่อนตัวได้ง่าย และเมื่อระบบภายในร่างกายมีปริมาณน้ำที่เพียงพอ ก็จะสามารถรักษาสมดุลของร่างกายให้เป็นไปตามปกติ ช่วยให้ลำไส้ลดการดูดซึมน้ำคืนสู่ร่างกาย อุจจาระจึงไม่แข็งจนเกินไป และไม่ทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ โดยปริมาณน้ำและของเหลวที่ควรบริโภค อาจแบ่งได้ดังนี้
- เด็กเล็ก ควรดื่มน้ำหรือของเหลวอย่างน้อยวันละ 6 แก้ว/วัน
- เด็กอายุ 14 ปี ขึ้นไป ควรดื่มน้ำหรือของเหลวอย่างน้อยวันละ 1.5 ลิตร หรือ 8-11 แก้ว/วัน
- ผู้ชายอายุ 19 ปีขึ้นไป ควรดื่มน้ำหรือของเหลวอย่างน้อยวันละ 3.7 ลิตร หรือ 13 แก้ว/วัน
- ผู้หญิงอายุ 19 ปีขึ้นไป ควรดื่มน้ำหรือของเหลวอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร หรือ 9 แก้ว/วัน
- หญิงผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตร ควรดื่มน้ำหรือของเหลวประมาณ 10-12 แก้ว/วัน
- ระหว่างออกกำลังกาย ควรดื่มน้ำเพื่อทดแทนของเหลวที่เสียไปอย่างน้อยครึ่งแก้วหรือ 2 แก้ว ทุก ๆ 15-20 นาที
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายหรือขยับร่างกายทุกส่วนเป็นประจำจะช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวและหดเกร็งอย่างสม่ำเสมอ มีส่วนช่วยในการบริหารกล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหาร ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หากเลือกการออกกำลังกายที่มีระดับความเข้มข้นปานกลาง เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน แอโรบิค ว่ายน้ำ ควรใช้เวลาออกอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือหากเลือกการออกกำลังกายที่มีระดับความเข้มข้นสูง เช่น การกระโดดเชือก การออกกำลังกายแบบบอดี้เวท ควรใช้เวลาออกอย่างน้อย 75 นาที/สัปดาห์
ท้องผูกแบบไหนควรไปพบคุณหมอ
อาการท้องผูกในลักษณะนี้ อาจต้องไปพบคุณหมอ
- เมื่อมีเลือดปนมากับอุจจาระ ถ่ายเป็นเลือด
- อาการท้องผูกที่รับประทานยาระบายแล้วไม่ได้ผล
- เมื่อมีอาการท้องผูกแล้วเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
- คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
[embed-health-tool-bmr]