backup og meta

ประโยชน์ของมังคุด และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 15/11/2021

    ประโยชน์ของมังคุด และข้อควรระวังในการบริโภค

    มังคุด เป็นผลไม้เมืองร้อนที่ได้ชื่อว่าเป็นราชินีแห่งผลไม้ไทย มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว นิยมรับประทานเป็นผลไม้สดและนำมาประกอบอาหาร ประโยชน์ของมังคุด มีมากมาย ทั้งยังมีสรรพคุณทางยา เช่น ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม ควรบริโภคมังคุดอย่างพอดี เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ

    คุณค่าทางโภชนาการของมังคุด

    มังคุด 196 กรัม (ประมาณ 7-8 ลูก) ให้พลังงาน 143 กิโลแคลอรี่ และมีสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

    • โปรตีน 1 กรัม
    • ไขมัน 1 กรัม
  • ไฟเบอร์ หรือใยอาหาร 3.5 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 35 กรัม
  • วิตามินบี 1 7% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • วิตามินบี 2 6% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • วิตามินบี 9 15% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • วิตามินซี  9% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • แมกนีเซียม 6% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • แมงกานีส 10% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • ทองแดง 7% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • ประโยชน์ของมังคุด

    มังคุด อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพดังนี้

    1. มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี โฟเลต ที่ช่วยชะลอการเกิดริ้วรอย ต้านการอักเสบ โดยเฉพาะแซนโทน (Xanthone) ซึ่งเป็นสารประกอบตามธรรมชาติที่พบมากในมังคุด
    2. มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และอาจช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย หนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดสิว
    3. มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง โดยการศึกษาจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NIH) ชี้ว่า สารสกัดจากเปลือกมังคุดอย่างแซนโทน (Xanthone) สามารถช่วยชะลอและยังยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้
    4. ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง มังคุดมีวิตามินซีที่จำเป็นต่อการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกัน อาจเสริมสร้างให้ระบบภูมิคุ้มกันต่อสู้กับเชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในร่างกายได้
    5. ช่วยบำรุงผิวิตามินซีช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนซึ่งมีส่วนช่วยในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย ลดการเกิดริ้วรอย
    6. ช่วยลดน้ำหนัก มังคุดอาจช่วยทำให้ร่างกายเผาผลาญไขมันได้ดีขึ้น และอาจมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนัก
    7. ช่วยในการย่อยอาหาร มังคุดอุดมไปด้วยไฟเบอร์ หรือใยอาหาร ซึ่งอาจช่วยปรับสมดุลของระบบลำไส้ ทำให้ขับถ่ายได้คล่องขึ้น
    8. ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือด งานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NIH) ซึ่งเป็นงานศึกษาวิจัยกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงอ้วนและมีภาวะดื้ออินซูลินเป็นเวลา 26 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับสารสกัดแซนโทนจากมังคุด 400 มิลลิกรัม/วัน มีระดับน้ำตาลในเลือดที่สมดุลขึ้น และมีภาวะดื้ออินซูลินน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
    9. อาจช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน เนื่องจากสารแซนโทนในมังคุดอาจช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง
    10. ลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ เนื่องจากเปลือกมังคุดมีสารแซนโทนอาจช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้หลอดเลือดไม่ตีบตัน เลือดไหลเวียนสะดวกขึ้น จึงอาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

    สรรพคุณทางยาของมังคุด

    สรรพคุณตามตำรายาไทยของมังคุด มีดังนี้

    • เนื้อมังคุด ช่วยเพิ่มพลังและบำรุงร่างกาย
    • เปลือกมังคุด อาจช่วยลดการอักเสบและมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ทำให้อาจช่วยรักษาแผล สมานแผล ให้แผลหายเร็วขึ้น
    • ต้น ใบ และดอก รักษาโรคบิดมูกเลือด ซึ่งเป็นโรคท้องร่วงชนิดติดต่อทางระบบทางเดินอาหาร
    • ราก อาจช่วยทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ

    ข้อควรระวังในการรับประทานมังคุด

    บุคคลเหล่านี้ อาจต้องงดหรือหลีกเลี่ยงการรับประทานมังคุด

    • สตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม คือประมาณ 6-7 ลูก เพราะมังคุดเป็นผลไม้ที่มีรสหวาน หากผู้ที่ตั้งครรภ์รับประทานมากเกินไป อาจส่งผลทำให้น้ำตาลในเลือดสูง และเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้
    • ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ หรือเลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก เพราะมังคุดอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้า และอาจส่งผลต่อการตกเลือดได้
    • ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรงดรับประทานมังคุด 2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด เนื่องจากมังคุดอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้า และเพิ่มความเสี่ยงในการตกเลือดระหว่างหรือหลังการผ่าตัด

    เคล็ดลับ การเลือกซื้อมังคุด

    มังคุดเปลือกสีม่วงแดงเข้ม ไม่แข็ง ขั้วดูสด มักมีรสหวาน ส่วนมังคุดที่มีผิวสีแดงมักจะมีรสหวานอมเปรี้ยว เมื่อปอกเปลือกออกจะเห็นเนื้อมังคุดเป็นพูสีขาวนวล แต่ถ้าหากเป็นเนื้อใสและแข็ง จะเรียกว่ามังคุดแก้ว โดยวิธีการปอกมังคุดควรใช้มีดผ่าเป็นเส้นกากบาทที่ก้นผลแล้วบิดออก เพื่อไม่ให้เนื้อช้ำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 15/11/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา