backup og meta

ตรีผลา สรรพคุณและผลข้างเคียงที่ควรรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/11/2021

    ตรีผลา สรรพคุณและผลข้างเคียงที่ควรรู้

    ตรีผลา (Triphala) เป็นสมุนไพรที่เกิดจากการรวมของผลไม้ 3 ชนิด คือ มะขามป้อม สมอพิเภก และสมอไทยเข้าด้วยกัน และถูกนำมาปรุงเป็นยารักษาโรคมากว่า 1,000 ปี เพราะอาจช่วยขจัดพิษในร่างกาย ปรับสมดุลให้คงที่ได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ควรใช้ตรีผลาอย่างเหมาะสม และควรศึกษาเกี่ยวกับผลข้างเคียงก่อนนำมาบริโภค เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ

    สรรพคุณของ ตรีผลา

    สรรพคุณของตรีผลา

    1. อาจดีต่อสุขภาพช่องปาก

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of Periodontal & Implant Science เมื่อปี 2014 ที่ได้เปรียบเทียบประสิทธิภาพในการดูแลโรคปริทันต์อักเสบ ระหว่างน้ำยาบ้วนปากตรีผลาและน้ำยาบ้วนปากคลอเฮกซิดีน 0.2% พบว่า น้ำยาบ้วนปากตรีผลามีประสิทธิภาพป้องกันคราบจุลินทรีย์ รักษาโรคเหงือกอักเสบ ลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่อยู่ในช่องปาก และรักษาแผลในช่องปากเทียบเท่ากับน้ำยาบ้วนปากคลอเฮกซิดีน 0.2% เนื่องจากตรีผลามีคุณสมบัติต้านจุลชีพและต้านการอักเสบ

    2. อาจช่วยในการควบคุมโรคเบาหวานชนิดที่ 2

    โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นภาวะเรื้อรังที่พบได้บ่อย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนส่งผลให้เซลล์ดูดซึมน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้ไม่ดีนัก งานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร International Journal of Ayurvedic Medicine เมื่อปี 2015 พบว่า ตรีผลาอาจช่วยลดระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้ เนื่องจากมะขามป้อม ซึ่งเป็นส่วนผสมชนิดหนึ่งของตรีผลามีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและอาจช่วยปรับปรุงเส้นประสาทที่เสียหายจากโรคเบาหวานได้ อีกทั้งสมอพิเภกยังอุดมไปด้วยกรดแกลลิก (Gallic acid) ที่อาจช่วยลดภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้เซลล์ดูดซึมน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้ดีขึ้น

    3. มีส่วนช่วยบำรุงผิว

    ตรีผลามีคุณสมบัติต้านการอักเสบและเป็นสารต้านอนมูลอิสระ จึงอาจนำมาใช้เป็นยาทาผิวเพื่อบรรเทาอาการทางผิวหนังบางประการได้ โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร PLOS One เมื่อปี 2016 ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการปกป้องเซลล์ไฟโบรบลาสต์ที่ผิวหนังซึ่งมีหน้าที่สร้างคอลลาเจนและอีลาสตินให้ผิวหนัง และเซลล์เคราติโนไซท์ที่ทำหน้าที่ผลิตเคราตินในผิวหนังกำพร้า พบว่า ตรีผลาอาจช่วยในการสร้างคอลลาเจน อีลาสติน และเคราติน ช่วยรักษาความชุ่มชื้นที่ผิวหนัง ทั้งยังอาจช่วยต้านการอักเสบ ช่วยป้องกันผิวมีปัญหาจากภาวะเครียดออกซิเดชัน และช่วยให้แผลสมานได้เร็วขึ้น

    4. อาจช่วยบำรุงระบบทางเดินอาหาร

    งานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of Pharmacognosy and Phytochemistry เมื่อปี 2016 ชี้ว่า ตรีผลามีสรรพคุณในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดอันตรายในลำไส้ จึงอาจทำให้แบคทีเรียในลำไส้สมดุลขึ้น ทั้งยังอาจช่วยปรับปรุงการบีบตัวของลำไส้ ลดอาการท้องผูกหรือลำไส้แปรปรวน หรือสามารถใช้เป็นยาระบายได้ แต่ควรใช้ในปริมาณพอเหมาะตามคำแนะนำของคุณหมอหรือเภสัชกร

    5. อาจช่วยในการลดน้ำหนัก

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร Alternative Therapies in Health and Medicine เมื่อปี 2012 เผยว่า ตรีผลามีส่วนช่วยในการลดไขมันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะไขมันหน้าท้อง ทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนได้ด้วย แต่ทั้งนี้ ผลที่ได้ขึ้นอยู่กับการออกกำลังกาย และการเลือกรับประทานอาหารตามหลักโภชนการด้วย

    6. บรรเทาโรคข้ออักเสบ และโรคเกาต์

    ระดับกรดของยูริกที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดโรคข้ออักเสบและโรคเกาต์ได้ แต่ตรีผลามีคุณสมบัติต้านการอักเสบ อีกทั้งงานศึกษาวิจัยหลายชิ้น เช่น งานวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ในการรักษาโรคของตรีผลาที่เผยแพร่ในวารสาร The Journal of Alternative and Complementary Medicine เมื่อปี 2017 งานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติในการต้านการอักเสบและเป็นสารต้านอนุมูลอิสระของตรีผลาที่เผยแพร่ในวารสาร SAGE Journals เมื่อปี 2017 พบว่า ตรีผลาอาจช่วยต้านการอักเสบ ช่วยชะลอการสลายกระดูก และช่วยลดระดับกรดยูริก จึงอาจช่วยบรรเทาอาการและป้องกันโรคข้ออักเสบและโรคเกาต์ได้

    ผลข้างเคียงของการใช้ตรีผลา

    แม้ตรีผลาจะเป็นสมุนไพรที่อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ แต่หากรับประทานมากเกินไป หรือใช้ผิดวิธี ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนี้

    • ท้องร่วง
    • รู้สึกท้องไส้ปั่นป่วน
    • ลดประสิทธิภาพการทำงานของยาบางชนิด เช่น ยาคลายกังวล ยาสเตียรอยด์
    • อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติ

    อีกทั้งตรีผลาหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของตรีผลาอาจไม่เหมาะกับเด็ก และสตรีตั้งครรภ์ จึงควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนตัดสินใจใช้งาน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/11/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา