backup og meta

โทษของกาแฟ ผลกระทบต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 04/04/2022

    โทษของกาแฟ ผลกระทบต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

    กาแฟเป็นเครื่องดื่มมีคาเฟอีน (Caffeine)  ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของร่างกาย อาจช่วยเพิ่มปริมาณของเซโรโทนิน (serotonin) ที่ทำให้รู้สึกอารมณ์ดีและพึงพอใจ แม้ว่ากาแฟจะทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าและทำให้มีเรี่ยวแรงมากขึ้น แต่หากบริโภคเกินปริมาณที่ควรได้รับต่อวันก็อาจทำให้เกิดโทษได้ โทษของกาแฟ เมื่อได้รับคาเฟอีนจากกาแฟมากเกินไป เช่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ กระวนกระวาย หงุดหงิดง่ายขึ้น นอกจากในกาแฟแล้ว คาเฟอีนยังพบในเครื่องดื่มและอาหารประเภทอื่น ๆ เช่น ชา ช็อกโกแลต ไอศกรีม เครื่องดื่มชูกำลัง ยาแก้ปวดบางชนิด ควรบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในปริมาณพอเหมาะ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงจากการได้รับคาเฟอีนมากเกินไป

    โทษของกาแฟ มีอะไรบ้าง

    โทษของกาแฟ อาจมีดังต่อไปนี้

    ทำให้นอนไม่หลับ

    คาเฟอีนในกาแฟเป็นสารที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของร่างกาย และอาจทำให้ร่างกายตื่นตัวมากเกินไป จนส่งผลให้นอนไม่หลับหลังร่างกายได้รับจากบริโภคคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลา 10-12 ชั่วโมง และทำให้มีเวลาพักผ่อนในตอนกลางคืนน้อยลง อาจทำให้เกิดภาวะนอนไม่หลับ (Insomnia)

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 ศึกษาความสัมพันธ์ของการบริโภคคาเฟอีนกับคุณภาพการนอนหลับในผู้ใหญ่ โดยมีผู้เข้าร่วมการวิจัยจำนวน 80 คน พบว่า กลุ่มที่บริโภคกาแฟในปริมาณเฉลี่ย 192 มิลลิกรัม ใช้เวลาบนเตียงเพื่อพักผ่อนน้อยกว่ากลุ่มที่บริโภคกาแฟในปริมาณเฉลี่ย 125.5 มิลลิกรัม แสดงให้เห็นว่าปริมาณของกาแฟส่งผลต่อการนอนหลับของผู้ใหญ่ ยิ่งบริโภคมากก็ยิ่งลดคุณภาพของการนอนหลับ

    ทำให้ปวดศีรษะ

    การบริโภคคาเฟอีนมากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดภาวะพิษจากคาเฟอีน (Caffeine toxicity) ที่ทำให้เส้นเลือดในสมองขยายตัว จนอาจเกิดอาการปวดศีรษะหรือคลื่นไส้ได้ ควรลดปริมาณการบริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายคุ้นชิน และปรับสมดุลของการทำงานของหลอดเลือดและหัวใจให้ทำงานตามปกติ

    ทำให้ปัสสาวะบ่อย

    คาเฟอีนจะไปกระตุ้นการทำงานของไต ทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย และบางครั้งอาจปวดปัสสาวะแบบฉับพลันต้องรีบไปปัสสาวะทันที การถ่ายปัสสาวะบ่อยจะทำให้ร่างกายเสี่ยงเกิดภาวะขาดน้ำได้ง่าย หากไม่ดื่มน้ำทดแทนปริมาณน้ำที่เสียไป

    ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

    การดื่มกาแฟอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ และหากความดันโลหิตสูงเรื้อรัง อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือที่เรียกว่าภาวะหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากคาเฟอีนทำให้หลอดเลือดหดตัว ส่งผลให้ส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจและสมองได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะหากบริโภคคาเฟอีนเป็นประจำ

    ทำให้รู้สึกวิตกกังวล

    การบริโภคกาแฟเกินครั้งละ 400 มิลลิกรัม อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหากมีภาวะวิตกกังวล (Anxiety disorders) อยู่แล้ว เนื่องจากร่างกายได้รับการกระตุ้นจากฤทธิ์ของคาเฟอีนในปริมาณมาก คาเฟอีนจะไปปิดกั้นการทำงานของสารเคมีในสมองที่ชื่อว่าอะดีโนซีน (Adenosine) ที่ทำให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อย ทั้งยังกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนอะดรีนาลีนที่มีผลต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด เมื่อสมดุลของสารเคมีหรือฮอร์โมนเหล่านี้เปลี่ยนแปลง จึงอาจทำให้เกิดอาการวิตกกังวลและกระวนกระวายหลังบริโภคกาแฟได้

    ข้อควรระวังเมื่อดื่มกาแฟ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

    ข้อควรระวังในการดื่มกาแฟและเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ อาจมีดังนี้

    • ไม่ควรบริโภคกาแฟมากกว่า 4 แก้ว/วัน เพราะอาจทำให้มีอาการปวดศีรษะ นอนไม่หลับ รู้สึกกระวนกระวาย หงุดหงิด หัวใจเต้นเร็วและรัวกว่าปกติ กลั้นปัสสาวะลำบาก กล้ามเนื้อกระตุก
    • กาแฟอาจลดประสิทธิภาพการดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย และเพิ่มการขับแคลเซียมออกจากร่างกายผ่านการปัสสาวะ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน เพราะแคลเซียมถือเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ช่วยทำให้กระดูกแข็งแรง
    • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน รวมถึงผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน ควรบริโภคคาเฟอีนอย่างระวัง เพราะคาเฟอีนในกาแฟจะไปเพิ่มภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ไม่ดี จนอาจส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

    ปริมาณกาแฟที่สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย

    • คนทั่วไปสามารถบริโภคกาแฟในปริมาณ 200 มิลลิกรัม/ครั้ง หรือ 400 มิลลิกรัม/วัน
    • ผู้หญิงตั้งครรภ์ควรบริโภคกาแฟไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน เนื่องจากคาเฟอีนอาจทำให้เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด กระทบต่อน้ำหนักของทารกแรกคลอด และอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้
    • สำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ควรบริโภคกาแฟไม่เกิน 300 มิลลิกรัม หรือ 3 แก้ว/วัน เนื่องจากคาเฟอีนอาจส่งผลให้กระดูกไขสันหลังเสื่อมเร็วขึ้น หากได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ โดยผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนควรได้รับแคลเซียมเสริมวันละ 1,000 มิลลิกรัม
    • ผู้เป็นโรคกระดูกพรุน ควรบริโภคกาแฟไม่เกิน 300 มิลลิกรัม หรือ 3 แก้ว/วัน และรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมหรือหรืออาหารเสริมแคลเซียมเป็นประจำ เพื่อให้ได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ โดยควรได้รับแคลเซียมวันละ 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน

    ทั้งนี้ คาเฟอีนไม่ได้มีพบแค่ในกาแฟเท่านั้น แต่ยังพบในเครื่องดื่มประเภทอื่น ๆ เช่น ชา ช็อกโกแลต น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง จึงควรบริโภคแต่พอดีในแต่ละวัน เพื่อให้ร่างกายสามารถรักษาสมดุล และป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ตามมา

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 04/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา