backup og meta

ประเมินอาการโควิด-19 ตามกลุ่มสี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 29/08/2021

    ประเมินอาการโควิด-19 ตามกลุ่มสี

    หากผู้ใกล้ชิดหรือผู้ที่อาศัยอยู่ในสถานที่เดียวกันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วจะทราบได้อย่างไรว่า ตนเองมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากน้อยแค่ไหน? บทความนี้ Hello คุณหมอ จึงนำข้อมูลการประเมินความเสี่ยง และ ประเมินอาการโควิด-19 ตามกลุ่มสี มาให้ได้ศึกษากัน แต่จะมีรายละเอียดอย่างไรติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความนี้

    เช็กด่วน! ตนเองมีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19มากน้อยแค่ไหน?

    กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขใช้เกณฑ์ในการประเมินผู้ที่มี ความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้

    1. ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง คือ ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการรับหรือแพร่เชื้อจากผู้ป่วยที่สัมผัสกับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจของผู้ป่วย จะต้องได้รับการตรวจหาเชื้อและกักตัวอย่างน้อย 14 วัน โดยประเมินจากพฤติกรรมดังนี้

    • อยู่ใกล้ชิดหรือมีการพูดคุยกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในระยะ 1 เมตร เป็นเวลานานกว่า 5 นาที โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย
    • สถานที่ที่พูดคุยกับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีอากาศถ่ายเท เช่น ในห้องปรับอากาศ ในรถปรับอากาศ

    2. ผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ คือ ผู้ที่มีโอกาสต่ำในการรับหรือแพร่เชื้อกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 จะต้องสังเกตอาการตนเองใน 14 วัน (แต่ไม่ต้องตรวจหาเชื้อและกักตัว) โดยประเมินจากพฤติกรรมดังนี้

  • อยู่ใกล้ชิดหรือมีการพูดคุยกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในระยะมากกว่า 1 เมตร และสวมหน้ากากอนามัยป้องกันอยู่ตลอดเวลา
  • 3. ผู้ที่ไม่มีความเสี่ยง คือ ผู้ที่ไม่มีโอกาสในรับหรือแพร่เชื้อกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยประเมินจากพฤติกรรมดังนี้

    • อยู่ที่ไกลมาก ๆ จากผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 เช่น อยู่คนละชั้น คนละห้อง เป็นต้น

    ประเมินอาการโควิด-19 ตามกลุ่มสี 

    กระทรวงสาธารณสุขได้ประเมินอาการความรุนแรงของโรคโควิด-19 ตามกลุ่มสี คือ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง เพื่อที่จะได้เข้าถึงการรักษา ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

    สีเขียว (กลุ่ม ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่มากหรือมีอาการน้อย)

    • มีไข้ หรือ อุณหภูมิร่างกาย 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป
    • มีผื่น
    • ลิ้นไม่รับรส
    • ไอ มีน้ำมูก
    • ตาแดง
    • ถ่ายเหลว
    • ไม่ได้กลิ่น

    สีเหลือง (กลุ่ม ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรง หรือมีโรคประจำตัวร่วมด้วย)

    • แน่นหน้าอก
    • หายใจลำบาก
    • เวียนศีรษะ
    • ไอแล้วรู้สึกเหนื่อย
    • อาการอ่อนเพลีย
    • ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน
    • ปอดอักเสบ

    สีแดง (กลุ่ม ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง) 

  • แน่นหน้าอก
  • รู้สึกเจ็บขณะหายใจ
  • อาการอ่อนเพลีย
  • ร่างกายตอบสนองช้า
  • หมดสติ
  • วิธีการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แบ่งตามกลุ่มอาการความรุนแรงของโรค

    สำหรับ วิธีการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แบ่งตามกลุ่มอาการได้ 4 กรณี ดังนี้

    1. ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการแสดง

    • แนะนำให้แยกกักตัวที่บ้านหรือสถานที่ที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่ตรวจเชื้อ โดยแพทย์จะให้ยาฟ้าทะลายโจรมารับประทาน (การรับประทานยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์)

    2. ผู้ติดเชื้อโควิด-19  ที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง

  • ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องได้รับการรักษาด้วยการรับประทานทานยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ให้ไวที่สุด หากตรวจพบเชื้อเกินมา 7 วัน โดยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
  • แนะนำให้แยกกักตัวที่บ้านหรือสถานที่ที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 14 วัน หากผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การรักษาแบบโฮมไอโซเลชั่น (Home Isolation) หรือคอมมูนิตี้ไอโซเลชั่น (Community Isolation) ก็สามารถให้การรักษาในลักษณะดังกล่าวได้ จนกว่าจะเริ่มมีอาการดีขึ้นอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง นับจากวันที่เริ่มมีอาการ
  • 3. ผู้ติดเชื้อโควิด-19  ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวม หรืออยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป และอยู่ 7 กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง 

    • แพทย์จะแนะนำให้รักษาที่โรงพยาบาลโดยให้อยู่ในระบบการรักษาและการแยกโรคอย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการหรือจนกว่าอาการจะเริ่มดีขึ้น
    • โดยให้รับประทานยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เร็วที่สุด ซึ่งต้องรับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 5 วัน หรือมากกว่า (ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย) นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปอดแย่ลงคือมี Progression of infiltrates หรือค่า Room air SpO2 ≤96% หรือพบว่ามีภาวะลดลงของออกซิเจน SpO2 ≥3% ของค่าที่วัดได้ครั้งแรก อาจต้องรักษาร่วมกับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)

    4. ผู้ติดเชื้อโควิด-19  ที่มีภาวะปอดบวมและมีภาวะพร่องออกซิเจนร่วมด้วย หรือมีภาวะลดลงของออกซิเจน SpO2 ≥3% ของค่าที่วัดได้ครั้งแรกขณะออกแรง หรือภาพรังสีทรวงอกมี Progression ของ Pulmonary infiltrates

    •  แนะนำให้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ติดต่อกัน 5-10 วัน และอาจพิจารณาให้ยาโลปินาเวีย (Llopinavir) และริโทนาเวีย (Ritonavir) ร่วมด้วย 

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 29/08/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา