backup og meta

ภาวะพร่องออกซิเจนในเลือดแบบไม่แสดงอาการ ภัยเงียบในผู้ป่วยโควิด-19

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 31/08/2021

    ภาวะพร่องออกซิเจนในเลือดแบบไม่แสดงอาการ ภัยเงียบในผู้ป่วยโควิด-19

    ภาวะพร่องออกซิเจนในเลือดแบบไม่แสดงอาการ (Happy hypoxemia) เป็นภัยเงียบที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างมากในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่ทราบว่าตนเองมีอาการผิดปกติจนกว่าจะเริ่มมีอาการรุนแรง ซึ่งทำให้ล่าช้าต่อการรักษา และอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตทันทีหลังแสดงอาการเพียงไม่กี่วัน แต่เราจะมีวิธีการป้องกันภาวะดังกล่าวนี้ได้อย่างไร วันนี้ Hello คุณหมอ มีคำตอบมาให้คุณค่ะ 

    ภาวะพร่องออกซิเจนในเลือดแบบไม่แสดงอาการ  ภัยเงียบในผู้ป่วยโควิด-19 

    ภาวะพร่องออกซิเจนในเลือดแบบไม่แสดงอาการ หรือที่เรียกว่า Happy Hypoxemia จัดเป็นภาวะที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากที่สุด โดยความน่ากลัวของภาวะนี้คือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 จะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ที่เป็นสัญญาณเตือนของระบบทางเดินหายใจ จึงทำให้ผู้ป่วยไม่ทันได้สังเกตอาการผิดปกติของตนเอง แต่จะเริ่มทราบอาการผิดปกติก็ต่อเมื่อได้รับการตรวจหรือมีอาการรุนแรงเกิดขึ้นโดยฉับพลัน เนื่องจากระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติ จึงแสดงลักษณะผิดปกติออกมาให้เห็นภายนอกอย่างรวดเร็ว เช่น ไออย่างรุนแรง เหนื่อยหอบอย่างรุนแรง ในผู้ป่วยบางรายอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตหลังเริ่มมีอาการไม่กี่วัน 

    นอกจากนี้นายแพทย์ริชาร์ด เลวีเทน (Richard Levitan) ซึ่งประจำอยู่ที่ห้องฉุกเฉินและเป็นประธานของ Airway Cam Technologies ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์บทความในสำนักพิมพ์ The New York Times ระบุว่า ภาวะพร่องออกซิเจนในเลือดแบบไม่แสดงอาการส่งผลให้ผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับการรักษาที่ช้าเกินไป และเสี่ยงเสียชีวิตอย่างกะทันหันโดยไม่มีสัญญาณอาการเตือน 

    อย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องกันการเกิดภาวะดังกล่าวนี้ด้วยการตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด เพื่อที่เราจะได้เช็กอาการเบื้องต้นของตนเอง หากมีอาการผิดปกติ จะได้รีบทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที 

    ลักษณะอาการภาวะพร่องออกซิเจนในเลือด ที่ผู้ป่วยโควิด-19 ควรรู้

    ลักษณะอาการภาวะพร่องออกซิเจนในเลือดของผู้ป่วยโควิด-19 จะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุและปัจจัยหลาย ๆ อย่าง โดยมีอาการที่พบบ่อย ดังนี้

    • การตอบสนองเริ่มช้าลง เริ่มมีอาการสับสน มึนงง
    • เหงื่อออกมากผิดปกติ มือและเท้ามีอาการชา
    • ไออย่างรุนแรง
    • คลื่นไส้และอาเจียน
    • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย 
    • ผิวหนังซีด
    • ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ หายใจติดขัด

    หากผู้ป่วยเริ่มมีอาการเหนื่อยหอบ หรือมีอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาในทันที

    วิธีลดความเสี่ยง ภาวะพร่องออกซิเจนในเลือด 

    วิธีที่ดีที่สุดในการเช็กว่าตนเองเสี่ยงต่อการเกิดภาวะพร่องออกซิเจนในเลือดหรือไม่ คือการวัดระดับออกซิเจนในเลือด ด้วยเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว หากมีระดับออกซิเจนอยู่ในช่วง 70%-50% แสดงว่ามีภาวะพร่องออกซิเจนในเลือด ให้รีบไปโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการรักษาในทันที รวมถึงวิธีอื่น ๆ ที่ช่วยป้องกันการเกิดภาวะพร่องออกซิเจน ดังต่อไปนี้

    • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
    • ดื่มน้ำเปล่าให้มาก ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ
    • แนะนำให้นอนหนุนหมอนสูง ๆ ปอดจะได้ขยายตัวเต็มที่

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 31/08/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา