backup og meta

วัคซีน Novavax ในการป้องกันโควิด-19 เหมาะกับใคร ผลข้างเคียงมีอะไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 14/02/2022

    วัคซีน Novavax ในการป้องกันโควิด-19 เหมาะกับใคร ผลข้างเคียงมีอะไรบ้าง

    Novavax หรือวัคซีนโควิดโนวาแวกซ์ หรือ Nuvaxovid และ NVX-CoV2373 เป็นวัคซีนสำหรับป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดล่าสุด คิดค้นและพัฒนาโดยบริษัทเวชภัณฑ์โนวาแวกซ์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลกให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเพื่อรักษาโควิด-19 ได้ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2564 และโดยสหภาพยุโรปในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2564

    ปัจจุบัน  บริษัทโนวาแวกซ์เริ่มทยอยส่งวัคซีนไปยังประเทศที่สั่งซื้อแล้ว เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ และประเทศในทวีปยุโรป

    นอกจากนี้ วัคซีน Novavax ยังอยู่ในโครงการ COVAX (Covid-19 Vaccines Global Access Facility) หรือโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ระดับโลกด้วย

    สำหรับประเทศไทย  วัคซีน Novavax ยังอยู่ในขั้นตอนรอการอนุมัติโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยคาดว่าจะผ่านภายในปีพ.ศ. 2565 นี้

    เทคโนโลยีที่ใช้ผลิต Novavax

    วัคซีนโควิดโนวาแวกซ์ผลิตด้วยกระบวนการผลิตวัคซีนแบบโปรตีนเบส (Protein-nanoparticle Vaccine) ในกรณีของโรคโควิด-19 คือการเพาะโปรตีนหนามของไวรัส SARS-CoV-2 อันเป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 ขึ้นมา แล้วฉีดเข้าร่างกายมนุษย์โดยตรง พร้อมสารเสริมภูมิคุ้มกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานต่อโรคโควิด-19

    การทำงานของวัคซีนแบบโปรตีนเบส แตกต่างเล็กน้อยกับการทำงานของวัคซีนแบบ mRNA (Messenger Ribonucleic Acid) อย่างวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา

    โดยวัคซีนโควิดโนวาแวกซ์จะกระตุ้นให้ร่างกายรู้ว่าโปรตีนหนามของ SARS-CoV-2 เป็นสิ่งแปลกปลอมและต้องกำจัด ด้วยการส่งโปรตีนหนามเข้าไปให้ร่างกายรู้จักโดยตรง เมื่อ SARS-CoV-2 เข้ามาในร่างกายของผู้ได้รับวัคซีนจริง ๆ ระบบภูมิคุ้มกันซึ่งจดจำโปรตีนของ SARS-CoV-2 ชนิดนี้ไว้แล้วจะรู้ทันทีว่าต้องกำจัด ก่อนที่เชื้อจะก่อโรค

    ในขณะที่การฉีดวัคซีน mRNA จะกระตุ้นให้ร่างกายจำลองโปรตีนหนามของ SARS-CoV-2 ขึ้นมาก่อน เพื่อให้ถูกจดจำในฐานะสิ่งแปลกปลอม และเมื่อร่างกายพบโปรตีนจริง ๆ ของไวรัส ก็จะรีบกำจัดพร้อมไวรัสทันที

    อย่างไรก็ตาม กระบวนการผลิตวัคซีนแบบโปรตีนเบสไม่ใช่ของใหม่ เพราะเคยถูกใช้เพื่อผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีและไข้หวัดใหญ่มาก่อนแล้ว

    การฉีดวัคซีน Novavax

    ผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดโนวาแวกซ์จะได้รับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อทั้งหมด 2 เข็ม เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 จะฉีดห่างกันอย่างน้อย 21 วัน

    ใครบ้างที่รับวัคซีน Novavax ได้

    องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ผู้ขอรับวัคซีนโควิดโนวาแวกซ์ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป และบุคคลซึ่งป่วยเป็นโรคหรือมีความผิดปกติซึ่งเสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อนรุนแรงหากติดโควิด-19 ก็สามารถรับวัคซีนได้ โดยโรคและความผิดปกติดังกล่าว ประกอบด้วย

    • โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • โรคระบบทางเดินหายใจ
    • โรคเบาหวาน
    • โรคตับ
    • โรคอ้วน
    • ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา
    • ภาวะประสาทเสื่อม

    นอกจากนี้ บุคคลซึ่งเคยเป็นโควิด-19 มาก่อนและหายดีแล้ว และหญิงซึ่งยังอยู่ในช่วงให้นมบุตรสามารถรับวัคซีนได้เช่นกัน

    ใครบ้างที่ไม่ควรรับวัคซีน Novavax

    องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า บุคลลในกลุ่มต่อไปนี้ไม่ควรได้รับวัคซีนโควิดโนวาแวกซ์

    • บุคคลซึ่งมีประวัติแพ้วัคซีนอย่างรุนแรง
    • บุคคลที่ยังไม่หายจากโรคโควิด-19
    • บุคคลที่อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียสก่อนเข้ารับวัคซีน
    • เด็กและวัยรุ่น (จนกว่าจะมีข้อมูลสนับสนุนว่ารับวัคซีนโควิดโนวาแวกซ์ได้)
    • หญิงตั้งครรภ์ (จนกว่าจะมีข้อมูลสนับสนุนว่ารับวัคซีนโควิดโนวาแวกซ์ได้)

    ในกรณีของหญิงตั้งครรภ์ องค์การอนามัยโลกเสริมว่า อ้างอิงจากผลทดสอบก่อนหน้านี้ของวัคซีนโรคอื่นที่ผลิตด้วยกระบวนการโปรตีนเบส หญิงตั้งครรภ์และหญิงที่มีอายุช่วงวัยเดียวกันแต่ไม่ตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงจากการรับวัคซีนโควิดโนวาแวกซ์เท่า ๆ กัน

    ประสิทธิภาพของและผลข้างเคียงของ Novavax

    อ้างอิงจากทดสอบเฟส 3 ของ Novavax ในประเทศสหรัฐอเมริกา และเม็กซิโกทั้ง 2 ครั้ง  โดยกลุ่มทดลองมีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 30,000 รายและไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน พบว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนต่อเชื้อโควิด-19 หลากหลายสายพันธุ์ทั้งเชื้อโควิดสายพันธุ์เบตาและอัลฟา คิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์

    ในส่วนของผลข้างเคียง การศึกษาในเฟส 3 ชี้ว่าอาการที่พบได้คือ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย ทั้งจากการฉีดเข็มแรกและเข็มที่ 2

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 14/02/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา