backup og meta

อาการโควิด ล่าสุด เป็นอย่างไรบ้าง ฉบับอัปเดตปี 2566

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

    อาการโควิด ล่าสุด เป็นอย่างไรบ้าง ฉบับอัปเดตปี 2566

    แม้ว่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในระยะหลังจะมีการกลายพันธุ์ของเชื้ออย่างต่อเนื่อง ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรงมาก อาการโควิด ล่าสุด อาจมีตั้งแต่เป็นไข้ ไอ เจ็บและระคายคอ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หากสังเกตว่ามีอาการดังกล่าว โดยเฉพาะหลังจากมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ควรตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วยตนเองทันที หากไม่แน่ใจ ควรเข้ารับการตรวจจากสถานพยาบาล เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลตัวเองให้หายโดยเร็ว

    อาการโควิด ล่าสุด เป็นอย่างไร

    ในขณะนี้ โควิดสายพันธุ์หลักของประเทศไทยเป็นสายพันธุ์ย่อยชนิดหนึ่งของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ที่เรียกว่าสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ซึ่งมีการแยกย่อยของสายพันธุ์ไปอีกหลายชนิด เช่น BA.2, BA.2.75, BA.4/BA.5, XBB ลักษณะเด่นของโอมิครอนคือ แพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็วและติดได้ง่ายมากขึ้น ทั้งยังหลบภูมิคุ้มกันของร่างกายและวัคซีนได้ อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของโรคในช่วงหลังลดลงกว่าการระบาดในช่วงปีแรก ๆ โดยอาการที่พบได้บ่อย เช่น

    • เป็นไข้
    • มีน้ำมูก คัดจมูก
    • คอแห้ง เจ็บคอ
    • ปวดศีรษะ
    • ปวดเมื่อยตามตัว
    • อ่อนเพลีย
    • จมูกไม่ได้กลิ่น
    • ลิ้นไม่รับรู้รสชาติอาหาร

    ผู้สูงอายุและผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคอ้วน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มักมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป จึงควรดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่มีคนหมู่มาก หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน หากได้รับเข็มกระตุ้นเข็มล่าสุดนานกว่า 3 เดือนแล้ว ควรไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มเติมที่สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว

    อาการโควิด ล่าสุด และสายพันธุ์ใหม่ในปี 2566

    ในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา มีการค้นพบเชื้อโควิดสายพันธุ์ XBB 1.16 หรือสายพันธุ์อาร์คทูรัส (Arcturus) ซึ่งเป็นโควิดที่เป็นโอมิครอนลูกผสมที่กลายพันธุ์มาจาก XBB 1.15 เพื่อต่อสู้กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและวัคซีน นอกจากเชื้อโควิดจะทำให้มีอาการโควิด เช่น เป็นไข้ ไอ ครั่นเนื้อครั่นตัว จมูกไม่รับกลิ่น ลิ้นไม่รับรส แล้ว ยังมีอาการเพิ่มเติมคือ ผื่นคันบนผิวหนัง และอาการอักเสบบริเวณเยื่อบุตา อาจทำให้ผู้ป่วยตาแดง คันและระคายเคืองตา มีขี้ตาเหนียว และอาจทำให้กลุ่มเสี่ยงบางกลุ่ม เช่น ผู้เป็นโรคภูมิแพ้ ผู้เป็นโรคเยื่อบุอักเสบ มีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป ทั้งนี้ เชื้อโควิดสายพันธุ์ XBB 1.16 เป็นเพียงสายพันธุ์ใหม่ที่ควรเฝ้าระวัง แต่ยังไม่มีแนวโน้มที่จะขึ้นมาเป็นโควิดสายพันธุ์หลัก

    องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขของโรคโควิด-19 ไปตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2566 หลังจากการระบาดไปทั่วโลกเป็นเวลาถึง 3 ปี ทั้งนี้ สถานการณ์โควิดในประเทศไทยยังคงมีการระบาดเป็นระลอก ทุกคนจึงควรดูแลตัวเองอย่างเข้มงวด สวมหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพ หลีกเลี่ยงการไปในที่มีคนแออัด ล้างมือบ่อย ๆ ไม่นำมือสัมผัสใบหน้า โดยเฉพาะในช่วงที่ได้รับข้อมูลว่ามีการระบาดในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่น

    วิธีดูแลตัวเพื่อป้องกันโควิด

    วิธีดูแลตัวเพื่อป้องกันโควิด ควรปฏิบัติตัว ดังนี้

    • สวมหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพ ควรเลือกชนิดที่ป้องกันได้ทั้งเชื้อโควิดและฝุ่นขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 และควรเปลี่ยนหน้ากากอนามัยทุกวัน
    • เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเมื่อไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้นมานานกว่า 3 เดือน โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาด
    • ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ โดยเฉพาะก่อนเตรียมและรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการนำมือเข้าปากหรือสัมผัสกับดวงตา
    • หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีคนแออัดและอากาศไม่ถ่ายเท หากจำเป็นให้สวมหน้ากากอนามัย
    • เว้นระยะห่างเมื่ออยู่ต้องอาศัยร่วมกับผู้ติดเชื้อโควิด
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา