เรามักหันมาพึ่ง ยาแก้ไอ เมื่อมีอาการไอเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือรุนแรง จนอาจก่อให้เกิดความรำคาญแก่ทั้งผู้มีอาการและคนรอบข้าง หรืออาจรบกวนการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันทั่วไปก็ได้ อย่างไรก็ตาม ยาแก้ไอ ที่มีขายกันอยู่ตามท้องตลาดก็มีอยู่หลายประเภท ทั้งยาแก้ไอสำหรับอาการไอแบบไม่มีเสมหะ และยาสำหรับอาการไอแบบมีเสมหะที่เรียกว่า ยาขับเสมหะ หรือ ยาละลายเสมหะ จึงทำให้เกิดความสับสนอยู่บ่อย ๆ
ยาแก้ไอแต่ละประเภทนั้นก็มีตัวยาสำคัญ คุณสมบัติ และข้อบ่งใช้ที่แตกต่างกัน บางชนิดอาจใช้ร่วมกันได้ และบางชนิดก็ใช้ทดแทนกันไม่ได้ ดังนั้น การเข้าใจสาเหตุ และการเลือกประเภทยาแก้ไอที่เหมาะสมกับอาการไอของคุณ ย่อมหมายถึงการรักษาอาการไอที่มีประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง บทความนี้จึงขอนำคุณมาทำความเข้าใจกับยาแก้ไอแต่ละประเภท เพื่อให้คุณสามารถเลือกใช้รักษาอาการไอของคุณได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยมากที่สุด
ประเภทของ ยาแก้ไอ มีอะไรบ้าง
ยาแก้ไอสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ
1. ยาระงับอาการไอ หรือ บรรเทาอาการไอ
ยาประเภทนี้ออกฤทธิ์ตามชื่อ คือการกดไม่ให้เกิดอาการไอ การทำงานของยาชนิดนี้คือการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับกลไกการไอ ทำให้ร่างกายตอบสนองต่อกลไกการไอน้อยลง ทำให้ผู้ป่วยไอน้อยลง ส่วนใหญ่ ยาแก้ไอประเภทนี้มักเหมาะกับการ บรรเทาอาการไอ ในระยะสั้น ๆ สำหรับผู้ป่วยที่ไอแห้งแบบไม่มีเสมหะ และยาชนิดนี้ไม่สามารถรักษา หรือจัดการกับสาเหตุของอาการไอ ที่เกิดจากโรคหรือภาวะสุขภาพอื่น ๆ ส่วนใหญ่ยาระงับอาการไอมักมาในรูปแบบของยาน้ำ ยาเม็ดรับประทาน หรือ ยาอม ซึ่งสามารถเลือกรับประทานได้ตามความสะดวก
2. ยาขับเสมหะ
ยาขับเสมหะมีฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายเพิ่มปริมาณของเหลว และสารหล่อลื่นที่ทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นและหล่อลื่นระบบทางเดินหายใจ เพื่อให้เสมหะคลายความข้นเหนียว และหลุดอออกจากเยื่อบุในระบบทางเดินหายใจ จนร่างกายสามารถขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น การใช้ยาขับเสมหะจะได้ผลมากที่สุด เมื่อร่างกายมีปริมาณน้ำมากพอ ดังนั้น เมื่อใช้ยาขับเสมหะ ก็ต้องดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวันด้วย ผลข้างเคียงที่เกิดจากใช้ยาขับเสมหะพบได้น้อย แต่ที่พบบ่อยที่สุด คือ อาการไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และปวดหัว
3. ยาละลายเสมหะ
ยาละลายเสมหะจะเข้าไปออกฤทธิ์โดยตรงกับเสมหะ กล่าวคือ ไปทำให้เสมหะแตกตัว และลดความข้นเหนียวลง ทำให้ร่างกายสามารถกำจัดหรือขับเสมหะออกมาผ่านการไอได้ง่ายขึ้นนั่นเอง แต่การใช้ยาละลายเสมหะนี้อาจมีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ไม่สบายท้อง หรืออาจมีอาการง่วงซึม หรือปวดศีรษะได้ หรือในบางกรณีที่รุนแรงกว่า แต่พบได้น้อยมากคือ อาการแพ้ยาทางผิวหนังอย่างรุนแรง โดยสังเกตได้จากอาการบวมหรือคัน หากมีอาการผิดปกติดังกล่าว ควรหยุดยาทันที แล้วรีบปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้ ข้อควรระวังสำหรับการใช้ยาละลายเสมหะ คือ ไม่ควรใช้กับอาการไอที่เกิดจากภาวะหอบหืดเฉียบพลันในผู้ป่วยโรคหอบหืด
อย่างไรก็ตาม หากคุณใช้ยาแก้ไอเหล่านี้แล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงของสาเหตุการไอ เพื่อการรักษาที่แม่นยำและเหมาะสมมากที่สุด