backup og meta

ภูมิแพ้นิกเกิล โรคที่คนชอบใส่เครื่องประดับต้องระวัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    ภูมิแพ้นิกเกิล โรคที่คนชอบใส่เครื่องประดับต้องระวัง

    ภูมิแพ้นิกเกิล โรคที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่ามีอยู่จริง แต่ความจริงแล้วเป็นโรคหนึ่งในโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย เพราะนิกเกิลเป็นส่วนประกอบของข้าวของเครื่องใช้ที่ทำจากโลหะผสม ที่อยู่ในชีวิตประจำวันมากมาย โดยเฉพาะในเครื่องประดับ ผู้ที่ชอบสวมใส่เครื่องประดับ จึงต้องเลือกเครื่องประดับให้ดี เพื่อหลีกเลี่ยงภูมิแพ้นิกเกิล เพราะหากแพ้รุนแรง อาจนำไปสู่โรคหรืออาการที่เป็นอันตรายได้

    นิกเกิล และภูมิแพ้นิกเกิลคืออะไร

    นิกเกิล (nickel) คือโลหะหนักสีขาววาวคล้ายเงินที่พบได้ในธรรมชาติ สามารถตีเป็นแผ่นและขึ้นรูปได้ง่าย จึงมักถูกนำมาผสมกับโลหะอื่น เพื่อผลิตเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เครื่องประดับ เหรียญ กุญแจ โทรศัพท์มือถือ กรอบแว่นตา คลิปหนีบกระดาษ ปากกา ลวดจัดฟัน เครื่องครัวที่ทำจากสแตนเลส สตีล รวมไปถึงธัญพืช ผัก และผลไม้บางชนิด เช่น ชาดำ นมถั่วเหลือง ผักโขม บร็อกโคลี ก็มีนิกเกิลอยู่เช่นกัน

    ภูมิแพ้นิกเกิลคืออาการไม่พึงประสงค์จากอาหาร หรือวัตถุที่มีนิกเกิลเป็นส่วนประกอบ ถือเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของผื่นแพ้สัมผัสจากสารก่อภูมิแพ้ (Allergic Contact Dermatitis) เมื่อผู้ที่มีอาการแพ้นิกเกิลสัมผัส หรือได้รับนิกเกิลเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะเข้าใจผิดว่า นิกเกิลเป็นตัวอันตราย จึงหลั่งสารที่ชื่อว่า “ฮิสตามีน (histamine)” ออกมาต่อสู้กับนิกเกิล ทำให้อาการแพ้กำเริบ

    อาการของโรคภูมิแพ้นิกเกิล

    โดยปกติแล้ว อาการแพ้นิกเกิลจะแสดงอาการภายใน 24-28 ชั่วโมง หลังได้รับสารก่อภูมิแพ้ และอาจคงอยู่ได้นานตั้งแต่ 2-4 สัปดาห์ โดยอาการแพ้สามารถเกิดกับผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับนิกเกิลโดยตรง หรือบริเวณอื่นก็ได้ ผู้ที่แพ้นิกเกิลจะมีอาการดังต่อไปนี้

    • เกิดผื่นแดง หรือเป็นตุ่ม
    • ผิวแห้งเป็นปื้น ดูคล้ายรอยไหม้
    • ผิวหนังเปลี่ยนสี
    • มีอาการคัน
    • รายที่แพ้รุนแรงอาจมีเป็นตุ่มพอง

    หากอาการแพ้นิกเกิลรุนแรงมาก อาจทำให้ติดเชื้อในโพรงจมูกหรือหอบหืดกำเริบได้อีกด้วย

    บุคคลเหล่านี้… เสี่ยงแพ้นิกเกิล

    • ผู้ที่ชอบสวมใส่เครื่องประดับ เนื่องจากนิกเกิลเป็นส่วนประกอบที่พบได้ทั่วไปในเครื่องประดับ
    • ผู้ที่ทำงานกับโลหะ อาชีพที่ต้องสัมผัสกับนิกเกิล เช่น บาร์เทนเดอร์ พนักงานในอุตสาหกรรมอาหาร คนงานในโรงโลหะ ช่างตัดเสื้อ ช่างทำผม อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภูมิแพ้นิกเกิลได้มากกว่าคนอื่น ยิ่งสัมผัสกับนิกเกิลตอนที่เหงื่อออกหรือตัวเปียก ความเสี่ยงในการเกิดภูมิแพ้นิกเกิลก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น
    • เป็นผู้หญิง เพศหญิงมีแนวโน้มเป็นภูมิแพ้นิกเกิลมากกว่าเพศชาย เนื่องจากชอบสวมใส่เครื่องประดับมากกว่า ทั้งยังมีผลการศึกษาที่พบว่า ผู้หญิงน้ำหนักเกินยิ่งเสี่ยงเป็นภูมิแพ้นิกเกิล มากกว่าผู้หญิงที่น้ำหนักตัวปกติ
    • คนในครอบครัวเป็นภูมิแพ้นิกเกิล หากสมาชิกในครอบครัวไวต่อนิกเกิล อาจทำให้คุณเสี่ยงเป็นภูมิแพ้นิกเกิลได้มากกว่าคนอื่น
    • เป็นภูมิแพ้โลหะชนิดอื่น ผู้ที่ไวต่อโลหะชนิดอื่น อาจแพ้นิกเกิลได้เช่นกัน

    ภูมิแพ้นิกเกิลป้องกันได้

    ภูมิแพ้นิกเกิลเมื่อเกิดแล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ วิธีรักษาและป้องกันภูมิแพ้นิกเกิลที่ดีที่สุดก็คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งของ หรือกินอาหารที่มีนิกเกิล โดยทำตามวิธีเหล่านี้

    สวมใส่เครื่องประดับที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้

    หากคุณอยากเลือกซื้อเครื่องประดับ ควรซื้อเครื่องประดับที่ทำจากสแตนเลสสตีลที่ไม่ผสมนิกเกิล สแตนเลสสตีลเกรดการแพทย์ ไทเทเนียม ทองคำ 18k หรือทองคำที่ไม่ผสมนิกเกิล หรือเครื่องประดับเงินแท้ก็ได้

    เลือกร้านเจาะหูที่ได้มาตรฐาน

    คุณควรเลือกร้านเจาะหูที่สะอาด และดูเป็นมืออาชีพ ใช้เครื่องมือที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรค และใช้เข็มเจาะที่ไม่มีนิกเกิลเป็นส่วนผสม หรือใช้เข็มสแตนเลสสตีลเกรดการแพทย์

    หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้

    คุณสามารถเลือกของใช้ในชีวิตประจำที่ไม่มีนิกเกิลได้ เช่น เลือกใส่นาฬิกาสายผ้า เลือกเสื้อผ้าที่ใช้ซิปพลาสติก ใช้กรอบแว่นตาที่เป็นพลาสติกหรือไทเทเนียม รวมไปถึงหลีกเลี่ยงอาหารที่มีนิกเกิล เพื่อป้องกันอาการภูมิแพ้นิกเกิลกำเริบ

    อาศัยเกราะป้องกัน

    หากงานของคุณทำให้คุณต้องสัมผัสกับนิกเกิล คุณควรสวมถุงมือ หรือเสื้อผ้าที่มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้นิกเกิลสัมผัสกับผิวหนัง

    ภูมิแพ้นิกเกิลกำเริบ…บรรเทาได้

    สำหรับผู้ที่เกิดอาการแพ้นิกเกิล อาจรักษาเบื้องต้นด้วยยาคาลาไมน์ ครีมบำรุงผิว หรือประคบเย็น หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบคุณหมอ โดยคุณหมออาจสั่งจ่ายยาที่ช่วยลดอาการระคายเคืองผิวหนัง เช่น

    • คอร์ติโคสสเตียรอยด์ชนิดครีม หรือชนิดกิน เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone)
    • ครีมไม่มีสเตียรอยด์
    • ยาต้านฮีสตามีน หรือยาแก้แพ้ (Antihistamine) เช่น เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) เซทิไรซีน (cetirizine)

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา