backup og meta

แบ่งปัน

หรือ คัดลอกลิงก์

เรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับ มะเร็งช่องปาก (Oral Cancer)

เรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับ มะเร็งช่องปาก (Oral Cancer)

มะเร็งช่องปาก หรือ มะเร็งในช่องปาก (Oral cancer) คือโรคที่เกิดจากเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย หรือเซลล์มะเร็งที่เกิดในช่องปาก โดยอาจพบเซลล์มะเร็งอยู่ที่ลิ้น เพดานปาก กระพุ้งแก้ม ริมฝีปาก หรือเหงือกก็ได้ แตกต่างกันไปตามแต่บริเวณที่มีเซลล์มะเร็งเติบโต

คำจำกัดความ

มะเร็งช่องปาก คืออะไร

มะเร็งช่องปาก หรือ มะเร็งในช่องปาก (Oral cancer) คือโรคที่เกิดจากเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย หรือเซลล์มะเร็งที่เกิดในช่องปาก โดยอาจพบเซลล์มะเร็งอยู่ที่ลิ้น เพดานปาก กระพุ้งแก้ม ริมฝีปาก หรือเหงือกก็ได้ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่บริเวณที่มีเซลล์มะเร็งเติบโต มากไปกว่านั้น เซลล์มะเร็งยังอาจลุกลามไปยังบริเวณต่อมทอนซิล ต่อมน้ำลาย หรือคอหอยได้ด้วยเช่นกัน

มะเร็งในช่องปาก ถือเป็นอีกหนึ่งโรคมะเร็งที่จำเป็นจะต้องได้รับการวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะถ้าหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

มะเร็งช่องปาก พบได้บ่อยแค่ไหน

สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society; หรือ ACS) ระบุว่า ผู้ชายเป็นกลุ่มมีความเสี่ยงในการเป็น มะเร็งในช่องปาก สูงกว่าผู้หญิงถึง 2 เท่า โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดคือ กลุ่มผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

อาการ

อาการของ มะเร็งช่องปาก

อาการโดยทั่วไปของ มะเร็งในช่องปาก มีดังนี้

  • มีอาการเจ็บที่ริมฝีปากหรือเจ็บที่ปากเป็นเวลานานและไม่หายสักที
  • มีก้อนกลม ๆ หนาขึ้น หรือเป็นตุ่มบริเวณริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก หรือบริเวณต่าง ๆ ในช่องปาก
  • มีรอยฝ้าสีขาวหรือสีแดงเกิดขึ้นในช่องปาก
  • เลือดออกในปากโดยที่ไม่ทราบสาเหตุติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์
  • มีอาการชา สูญเสียความรู้สึกที่บริเวณใบหน้า ปาก หรือลำคอ
  • มีอาการเจ็บปวดและรู้สึกว่ามีบางอย่างติดอยู่ในลำคอ
  • กลืนอาหารลำบาก เจ็บปวดเวลากลืนหรือเคี้ยวอาหาร
  • พูดลำบาก หรือขยับขากรรไกรลำบากเวลาพูดหรือเคี้ยวอาหาร
  • มีอาการเสียงแหบ เจ็บคอเรื้อรัง หรือมีเสียงเปลี่ยน
  • ปวดหู
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ฟันหลุด ฟันหัก
  • หากใส่ฟันปลอมอาจรู้สึกตึงหรือคับแน่นที่ฟันปลอม

อาจมีอาการของ มะเร็งในช่องปาก ที่ไม่ได้กล่าวไว้ข้างต้น สำหรับอาการอื่น ๆ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากแพทย์

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากคุณมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีอาการความผิดปกติใด ๆ ในช่องปากดังที่กล่าวไปข้างต้นติดต่อกันเป็นระยะเวบานานกว่า 2 สัปดาห์และไม่มีทีท่าว่าอาการจะดีขึ้น ควรไปพบทันตแพทย์หรือปรึกษากับคุณหมอเพื่อเข้ารับการวินิจฉัย

สาเหตุ

สาเหตุของมะเร็งช่องปาก

มะเร็งในช่องปาก เกิดจากการเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติของระบบดีเอ็นเอของเซลล์ในช่องปาก และพัฒนากลายเป็นเนื้องอก ก่อนจะค่อย ๆ เติบโตเป็นเซลล์มะเร็ง และเมื่อก่อตัวจนเป็นเซลล์มะเร็งแล้วก็จะค่อย ๆ แพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ภายในช่องปากหรือลำคอ อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า เพราะเหตุใดเซลล์ในช่องปากจึงมีการเปลี่ยนแปลงของระบบดีเอ็นเอภายในเซลล์

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งช่องปาก

พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันก็มีส่วนในการเพิ่มความเสี่ยงของ มะเร็งในช่องปาก ด้วยเช่นกัน ดังนี้

  • การสูบบุหรี่ 
  • การใช้ยาสูบทั้งแบบเคี้ยว แบบดม หรือแบบสูบ
  • การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
  • การปล่อยให้ริมฝีปากสัมผัสกับแสงแดดมากจนเกินไป
  • สมาชิกในครอบครัวมีประวัติการเป็นมะเร็งมาก่อน 
  • การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human papillomavirus virus ) หรือ โรค HPV

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจยังพบอีกว่า ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่เลย หรือผู้ดื่มแอลกอฮอล์เป็นครั้งคราวเท่านั้น ก็ยังมีโอกาสเสี่ยงเป็น มะเร็งในช่องปาก สูงถึง 25 เปอร์เซ็นต์

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยมะเร็งช่องปาก

แพทย์สามารถทำการตรวจวินิจฉัย มะเร็งในช่องปาก ได้หลายวิธี ดังนี้

  • ตรวจโดยการตรวจสุขภาพช่องปาก ทันตแพทย์หรือแพทย์สามารถทำการตรวจสุขภาพช่องปากโดยปกติทั่วไป เพื่อตรวจดูความผิดปกติที่ริมฝีปาก ภายในช่องปาก หรือลำคอ และดูว่ามีก้อนเนื้อที่ผิดปกติ หรือมีรอยคราบ รอยฝ้าที่ผิดปกติเกิดขึ้นในช่องปากหรือไม่
  • ตรวจโดยการตรวจชิ้นเนื้อ เพื่อความแม่นยำ แพทย์อาจพิจารณาทำการตรวจวินิจฉัยโดยการผ่าตัดนำเนื้อเยื่อไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์หาเซลล์มะเร็ง

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น มะเร็งในช่องปาก แพทย์อาจพิจารณาให้มีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ได้แก่

  • ตรวจโดยการส่องกล้อง โดยแพทย์จะมีการส่องกล้องเข้าไปตรวจทั้งในช่องปากและลำคอ เพื่อดูว่าเซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนใดบ้าง
  • ตรวจโดยการถ่ายภาพ ด้วยการเอ็กซเรย์ การทำซีทีสแกน หรือทำเอ็มอาร์ไอ เพื่อให้สามารถชี้ชัดว่าเซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนใดบ้าง

การรักษามะเร็งช่องปาก

การรักษา มะเร็งในช่องปาก จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยแพทย์สามารถทำการรักษามะเร็งในช่องปากได้หลายวิธี ได้แก่

รักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี คือ

  • การผ่าตัดเอาเซลล์มะเร็งในช่องปากออกมา
  • การผ่าตัดเพื่อนำเซลล์มะเร็งที่แพร่ไปยังลำคอออกมา
  • การผ่าตัดหลังจากที่นำเซลล์มะเร็งออกมาแล้ว และต้องมีการผ่าตัดเพื่อทำการซ่อมแซมหรือปลูกถ่ายเนื้อเยื่อในช่องปากหรือลำคอ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ

รักษาโดยการฉายรังสี 

แพทย์อาจพิจารณาให้มีการฉายรังสีเอ็กซ์และรังสีโปรตอน เพื่อทำการฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งมักจะใช้วิธีนี้หลังจากที่มีการผ่าตัดแล้ว หรืออาจใช้ตั้งแต่แรกในกรณีที่เป็น มะเร็งในช่องปาก ระยะเริ่มต้น อย่างไรก็ตาม หลังการฉายรังสี อาจมีผลข้างเคียงคือมีอาการปวด ปากแห้ง ฟันผุ กระดูกขากรรไกรเสื่อม ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นที่จะต้องมีการรักษาสุขภาพฟันและสุขภาพช่องปากหลังจากรับการฉายรังสีเพิ่มเติม

รักษาโดยการทำเคมีบำบัดหรือทำคีโม (Chemotherapy) 

การทำคีโมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งในช่องปากหลังจากที่มีการฉายรังสี หรือมีการทำคีโมไปพร้อม ๆ กับการฉายรังสี ซึ่งจะมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และผมร่วง

รักษาโดยการรับประทานยาแบบเฉพาะเจาะจงเพื่อรักษามะเร็ง

แพทย์อาจพิจารณาสั่งจ่ายยาเพื่อใช้ในการรักษามะเร็งแบบเฉพาะเจาะจง เช่น ยาซิทูซิแม็บ (Cetuximab) ที่ใช้เพื่อรักษามะเร็งในช่องปาก บริเวณลำคอ หรือบริเวณศีรษะ

การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง

การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับมะเร็งช่องปาก

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางประการดังต่อไปนี้ มีส่วนช่วยป้องกัน มะเร็งในช่องปาก ได้ 

  • ไม่สูบบุหรี่ หรือเลิกสูบบุหรี่
  • ไม่ใช้ยาสูบไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม
  • เลิกดื่มแอลกอฮอล์
  • ปกป้องผิวหนังและริมฝีปากจากแสงแดดด้วยการทาครีมกันแดดหรือใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าและผิวกายที่มีส่วนผสมของสารกันแดดเสมอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบทั้ง 5 หมู่
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Oral Cancer. https://www.webmd.com/oral-health/guide/oral-cancer#1. Accessed February 4, 2021.

Mouth cancer. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/mouth-cancer/symptoms-causes/syc-20350997. Accessed February 4, 2021.

Mouth cancer. https://www.nhs.uk/conditions/mouth-cancer/. Accessed February 4, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

13/02/2021

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล

avatar

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 13/02/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา