backup og meta

มะเร็ง อาการ สาเหตุ และการรักษา

มะเร็ง อาการ สาเหตุ และการรักษา

มะเร็ง หมายถึงกลุ่มโรคที่เซลล์ในร่างกายมีการพัฒนาอย่างผิดปกติจนอาจไม่สามารถควบคุมได้อีกทั้งยังสามารถลุกลามและเข้าทำลายเนื้อเยื่อปกติในอวัยวะส่วนอื่น ๆได้อย่างรวดเร็ว หากไม่ทำการตรวจและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ มะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ทั่วร่างกายและอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต การตรวจคัดกรอง การรักษา และการป้องกันมะเร็งจึงอาจเป็นวิธีที่จะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตจากมะเร็งได้

คำจำกัดความ

มะเร็ง คืออะไร

มะเร็ง คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ภายในร่างกาย ซึ่งเซลล์มะเร็งอาจเจริญเติบโตมากขึ้น จนเกิดเป็นเนื้อร้าย เนื้องอก ซึ่งอาจเกิดขึ้นเฉพาะจุด หรือในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาจลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงหรือกระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ผ่านทางหลอดเลือดหรือทางเดินน้ำเหลือง โรคมะเร็งยังแบ่งออกเป็นหลายชนิดขึ้นอยู่กับอวัยวะที่เป็นจุดกำเนิดของโรค และอาจเห็นเป็นเนื้อร้ายชัดเจน เช่น มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม ในขณะที่มะเร็งบางชนิดอาจไม่เห็นเป็นเนื้อร้าย เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว

อาการ

อาการของมะเร็ง

อาการเฉพาะของมะเร็งแต่ละชนิดอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งและอวัยวะที่ได้รับผลกระทบ แต่อาการทั่วไปที่พบบ่อย มีดังนี้

  • มีก้อนเนื้อเกิดขึ้นในร่างกาย
  • การเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เช่น ผิวเหลือง ผิวคล้ำ ผิวแดง แผลที่รักษาไม่หาย หรือไฝบนผิวหนังอาจเปลี่ยนไป
  • อาการหายใจลำบาก กลืนลำบาก หรือไอเรื้อรัง
  • ร่างกายอ่อนเพลีย
  • การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก อาจลดลงหรือเพิ่มขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ
  • การเปลี่ยนแปลงของลำไส้หรือกระเพาะปัสสาวะ อาจทำให้อาหารไม่ย่อยหรือรู้สึกไม่สบายตัวหลังรับประทานอาหาร
  • เสียงแหบ
  • ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่ออย่างเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีไข้เรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ หรืออาจมีเหงื่อออกตอนกลางคืน
  • มีเลือดออก เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด เลือดออกจากช่องคลอดกะปริบกะปรอย หรือมีรอยช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ

ควรเข้าพบคุณหมอหากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น หรือสงสัยว่าอาจมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเพื่อตรวจคัดกรองและเริ่มกระบวนการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

สาเหตุ

สาเหตุของการเกิดมะเร็ง

มะเร็ง อาจมีสาเหตุมาจากการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอภายในเซลล์ โดยยีนจะมีชุดคำสั่งเพื่อบอกให้เซลล์ทำหน้าที่ต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น การเจริญเติบโต การแบ่งตัว การกลายพันธุ์นี้อาจทำให้เซลล์แบ่งตัวและเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ ทำให้เซลล์กลายเป็นมะเร็งได้ ซึ่งการกลายพันธุ์ของยีนอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • การกลายพันธุ์ของยีนตั้งแต่กำเนิด ลูกอาจได้รับถ่ายทอดยีนที่ผิดปกติมาจากพ่อแม่ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งได้ในอนาคต
  • การกลายพันธุ์ของยีนที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิต การกลายพันธุ์ของยีนส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ สารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ไวรัส การฉายรังสี โรคอ้วน ฮอร์โมน การอักเสบเรื้อรัง และขาดการออกกำลังกาย ซึ่งสิ่งกระตุ้นเหล่านี้อาจสร้างความผิดปกติให้กับยีน ขัดขวางการทำงานและคำสั่งระหว่างเซลล์จนเกิดการกลายพันธุ์ ส่งผลให้เซลล์เจริญเติบโตผิดปกติและลุกลามกลายเป็นเนื้องอกมะเร็งได้

การกลายพันธุ์ของยีนอาจสั่งเซลล์ให้ทำงานผิดปกติ ดังนี้

  • ทำให้เซลล์เติบโตอย่างรวดเร็ว การกลายพันธุ์ของยีนอาจทำให้เซลล์เจริญเติบโตและแบ่งตัวเร็วขึ้น ทำให้มีการสร้างเซลล์ที่กลายพันธุ์เป็นจำนวนมาก
  • ไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ได้ โดยปกติเซลล์จะหยุดการเจริญเติบโตเพื่อให้ร่างกายมีจำนวนเซลล์แต่ละประเภทที่เหมาะสม แต่เซลล์มะเร็งจะสูญเสียการควบคุมทำให้เซลล์เติบโตต่อไปโดยไม่สามารถควบคุมได้
  • ดีเอ็นเอที่ผิดปกติจะไม่ได้รับการซ่อมแซม โดยปกติยีนจะค้นหาความผิดปกติของดีเอ็นเอและซ่อมแซมทันที แต่การกลายพันธุ์ในยีนอาจทำให้ดีเอ็นเอที่ผิดปกติไม่ได้รับการซ่อมแซม ทำให้เซลล์กลายเป็นมะเร็ง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็ง

ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้ มีดังนี้

  • รูปแบบการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 2 แก้ว/วันเป็นประจำ การสัมผัสกับแสงแดดมากเกินไป โรคอ้วน ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ยีนกลายพันธุ์ได้ ทั้งสารเคมีในบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รังสียูวีในแดด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อในร่างกายที่อาจทำให้เกิดการอักเสบอาจมีส่วนทำให้เซลล์เจริญเติบโตผิดปกติและกลายเป็นมะเร็ง นอกจากนี้ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันอาจเสี่ยงติดเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้
  • อายุ มะเร็งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย แต่ในบางครั้งมะเร็งอาจต้องใช้ระยะเวลานานในการพัฒนา จึงทำให้มักตรวจพบมะเร็งในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  • พันธุกรรม หากคนในครอบครัวเป็นมะเร็งก็อาจมีโอกาสที่บุตรหลานจะได้รับการถ่ายทอดยีนที่ผิดปกติ และอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งบางชนิด
  • สุขภาพ เช่น อาการลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผล อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งบางชนิดได้
  • สิ่งแวดล้อม สภาพอากาศหรือการทำงานอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเปิดรับสารก่อมะเร็ง เช่น ควันบุหรี่มือสอง เบนซีน (Benzene) สารเคมีในบ้าน เช่น สารหนู สีทาบ้าน

ภาวะแทรกซ้อนจากมะเร็ง

มะเร็งและการรักษามะเร็งด้วยการฉายรังสีหรือเคมีบำบัด อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนี้

  • ความเจ็บปวด อาจเป็นอาการจากมะเร็งหรือจากการรักษามะเร็ง
  • ความเหนื่อยล้า ความเหนื่อยล้าในผู้ป่วยมะเร็งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความเหนื่อยล้าจากการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและสามารถจัดการได้
  • น้ำหนักลดลง มะเร็งและการรักษามะเร็งอาจทำให้น้ำหนักลด เนื่องจากเซลล์มะเร็งจะดึงอาหารจากเซลล์ปกติซึ่งทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้
  • คลื่นไส้ มะเร็งบางชนิดและการรักษามะเร็งอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้
  • ท้องร่วงหรือท้องผูก มะเร็งและการรักษามะเร็งอาจส่งผลต่อลำไส้และทำให้เกิดอาการ ท้องร่วงหรือท้องผูกได้
  • มะเร็งที่แพร่กระจาย มะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ซึ่งการแพร่กระจายของมะเร็งอาจขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งด้วย
  • มะเร็งที่กลับมาเป็นซ้ำ ในบางครั้งหลังมะเร็งอาจสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้แม้ว่าจะผ่านการรักษาแล้วก็ตาม
  • การเปลี่ยนแปลงทางเคมีในร่างกาย มะเร็งอาจทำให้ความสมดุลของสารเคมีในร่างกายแย่ลง เกิดความผิดปกติของของหมู่เคมีที่มีปฏิสัมพันธ์กับสารพันธุกรรมส่งผลให้เซลล์เจริญเติบโตอย่างผิดปกติมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรงได้ เช่น ภาวะบวมน้ำเหลือง การแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ๆ อาจทำให้มีอาการการกระหายน้ำมากเกินไป ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก และสับสนมึนงง
  • ปัญหาทางสมองและระบบประสาท มะเร็งสามารถกดทับเส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียง และทำให้เกิดความเจ็บปวดและอาจสูญเสียการทำงานของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง
  •  ระบบภูมิคุ้มกันการโจมตีเซลล์ปกติ ในบางกรณีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอาจตอบสนองต่อมะเร็งโดยการโจมตีเซลล์ปกติ อาจนำไปสู่อาการเดินลำบากและชักได้
  • ผมร่วง ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดอาจมีอาการผมร่วงอย่างฉับพลัน เนื่องจากยาที่ใช้ในการรักษามีคุณสมบัติทำลายเซลล์มะเร็ง จึงอาจส่งผลให้เซลล์รากผมถูกทำลายด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้ป่วยผมร่วงในเวลาอันรวดเร็ว

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยมะเร็ง

คุณหมออาจทำการวินิจฉัยหาโรคมะเร็งด้วยวิธีเหล่านี้

  • การตรวจร่างกาย คุณหมออาจตรวจสอบความผิดปกติบนร่างกายที่อาจเป็นสัญญาณของมะเร็ง เช่น ก้อนเนื้อใต้ผิวหนัง การเปลี่ยนแปลงของสีผิว การขยายตัวของอวัยวะ
  • การทดสอบ การเก็บตัวอย่างปัสสาวะหรือเลือดเพื่อตรวจในห้องปฏิบัติการอาจช่วยให้คุณหมอระบุความผิดปกติที่อาจเกิดจากมะเร็งได้
  • การตรวจชิ้นเนื้อ การเก็บตัวอย่างเซลล์เพื่อทำการทดสอบในห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็ง
  • การสแกนร่างกาย เช่น การสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) การสแกนกระดูก การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) การสแกนด้วยเอกซเรย์ปล่อยโพซิตรอน (PET) อัลตราซาวนด์และการเอ็กซ์เรย์ เพื่อช่วยฉายภาพอวัยวะภายในร่างกายที่อาจได้รับผลกระทบ และทำให้คุณหมอสามารถตรวจตรวจกระดูกและอวัยวะภายในเพื่อหาความผิดปกติ

เมื่อตรวจพบมะเร็งคุณหมอจะกำหนดระยะของมะเร็งจาก 0-4  คือ ระยะ 0 มะเร็งยังอยู่เพียงผิวของอวัยวะ ระยะ 1-2 มะเร็งระยะต้นที่สามารถตรวจพบความผิดปกติและรักษาได้ ระยะ 3 มะเร็งระยะลุกลามเฉพาะที่ ระยะ 4 มะเร็งระยะลุกลามมากเฉพาะที่หรือแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ โดยระยะของมะเร็งจะช่วยกำหนดทางเลือกในการรักษาและโอกาสในการรักษา

เป้าหมายในการรักษา

เป้าหมายของการรักษามะเร็งอาจแตกต่างกันตามชนิดของมะเร็งและความรุนแรงของโรค โดยอาจทำการรักษาเพื่อให้มะเร็งหายขาด หรือเพื่อประทังชีวิต ซึ่งเป้าหมายการรักษามีดังนี้

  • การรักษาเบื้องต้น มีเป้าหมายเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งออกจากร่างกายหรือฆ่าเซลล์มะเร็งทั้งหมด การรักษาเบื้องต้นที่พบบ่อย เช่น การผ่าตัด แต่หากมะเร็งตอบสนองได้ดีต่อเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี คุณหมออาจเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งเพื่อใช้เป็นการรักษาหลัก
  • การรักษาแบบเสริม มีเป้าหมายเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่ยังอาจหลงเหลืออยู่หลังจากการรักษาเบื้องต้น เพื่อลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ การรักษาแบบเสริมที่พบบ่อย เช่น เคมีบำบัด การฉายรังสี และการรักษาด้วยฮอร์โมน
  • การรักษาแบบประคับประคอง เช่น การผ่าตัด เคมีบำบัด การฉายรังสี และการรักษาด้วยฮอร์โมน มีเป้าหมายเพื่อช่วยบรรเทาอาการของมะเร็งหรือผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็ง และยังสามารถใช้เพื่อบรรเทาอาการและควบคุมการแพร่กระจายของมะเร็งที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

การรักษามะเร็ง

การักษามะเร็งมีหลายวิธีโดยอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ชนิดและระยะของมะเร็ง สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ความเต็มใจในวิธีรักษา โดยคุณหมออาจใช้วิธีรักษา ดังนี้

  • เคมีบำบัด เป็นวิธีการใช้ยาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง เช่น เคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำ เคมีบำบัดแบบฉีดเข้าทางผิวหนัง เคมีบำบัดแบบรับประทาน ช่วยป้องกันการแพร่กระจายและการเจริญเติบโตของมะเร็ง กำจัดมะเร็ง และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
  • การฉายรังสี เป็นการบำบัดโดยใช้ลำแสงพลังงานสูง เช่น เอ็กซ์เรย์และโปรตอน เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
  • การผ่าตัด เป้าหมายของการผ่าตัดคือการกำจัดมะเร็งให้หมดหรือกำจัดมะเร็งให้ได้มากที่สุด
  • การปลูกถ่ายไขกระดูก เป็นวิธีที่ช่วยสร้างเม็ดเลือดในร่างกาย สำหรับผู้ป่วยมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งไขกระดูก นอกจากนี้ การปลูกถ่ายไขกระดูกอาจช่วยให้คุณหมอสามารถใช้ยาที่แรงขึ้นเพื่อรักษามะเร็งได้
  • ภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการใช้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็ง  โดยอาจใช้โมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibodies) วัคซีนโรคมะเร็ง (Cancer Vaccines) หรือการยับยั้งการทำงานที่อิมมูนเช็คพอยต์ (Immune Checkpoint Inhibitors) เพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงาน และเข้าทำลายมะเร็ง
  • การรักษาด้วยฮอร์โมน มะเร็งบางชนิดอาจเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกาย เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก การกำจัดฮอร์โมนบางชนิดออกจากร่างกายหรือป้องกันผลกระทบจากฮอร์โมนอาจทำให้เซลล์มะเร็งหยุดเติบโตได้

การรักษาทางเลือก

อาจไม่มีการรักษาแบบอื่นที่พิสูจน์ว่าช่วยรักษามะเร็งได้ แต่การรักษาทางเลือกอาจช่วยบรรเทาผลข้างเคียงจากมะเร็งหรือจากการรักษามะเร็งได้ ดังนี้

  • โยคะ นวด
  • การทำสมาธิ
  • การฝังเข็ม

อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับการรักษาทางเลือกเพื่อความปลอดภัยและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจรบกวนการรักษามะเร็ง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็ง

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันมะเร็งอาจสามารถทำได้ ดังนี้

  • งดสูบบุหรี่ สารพิษในบุหรี่อาจกระตุ้นความผิดปกติของเซลล์ และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งปอด
  • ควรดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ โดยผู้หญิงควรดื่มวันละไม่เกิน 1 แก้ว และผู้ชายควรดื่มวันละไม่เกิน 2 แก้ว
  • หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดมากเกินไป เพราะรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้
  • กินอาหารเพื่อสุขภาพ เลือกอาหารที่อุดมด้วยผักและผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสีและโปรตีน จำกัดการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูป หรืออาหารแปรรูปทุกชนิด เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงขงมะเร็งได้ โดยควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์
  • ควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากการมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้
  • ตรวจคัดกรองมะเร็ง พิจารณาจากปัจจัยเสี่ยง รูปแบบการใช้ชีวิตของตนเองและเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็ง อย่างน้อยทุก ๆ 1 หรือ 2 ปี เพราะหากเป็นมะเร็งจะได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
  • การฉีดวัคซีน เนื่องจากไวรัสบางชนิดเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง เช่น ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมาไวรัส (Human papillomavirus: HPV) การฉีดวัคซีนอาจช่วยป้องกันไวรัสและลดความเสี่ยงมะเร็งบางชนิดได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cancer. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/cancer. Accessed January 4, 2022

Cancer. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cancer/symptoms-causes/syc-20370588. Accessed January 4, 2022

Cancer-Diagnosis-treatment. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cancer/diagnosis-treatment/drc-20370594. Accessed January 4, 2022

What Is Cancer?. https://www.cancer.gov/about-cancer/understanding/what-is-cancer. Accessed January 4, 2022

Overview-Cancer. https://www.nhs.uk/conditions/cancer/. Accessed January 4, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

10/01/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

รู้ทันโรคร้าย มะเร็งศีรษะและลำคอ (Head and Neck Cancer)

วิธีตรวจมะเร็ง ด้วยเทคนิคทางการแพทย์


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 10/01/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา