สำหรับผู้ที่ให้ความสนใจเรื่องสุขภาพ อาจมีข้อสงสัยว่า การตรวจหาโรคเบาหวานนั้นสามารถตรวจวินิจฉัยจากสิ่งใด เพื่อให้ทราบว่าถึงระดับน้ำตาลในเลือดว่าเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวานหรือต้องรับได้รับการรักษาหรือไม่ ซึ่งการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดมีหลายวิธี ซึ่งคุณหมออาจเเนะนำตามความเหมาะสมของผู้ป่วยเเต่ละราย
[embed-health-tool-vaccination-tool]
การตรวจหาโรคเบาหวานนั้นแพทย์นิยมตรวจวินิจฉัยจากสิ่งใด
อาการของโรคเบาหวาน เช่น กระหายน้ำมากกว่าปกติ ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ตาพร่ามัว แผลหายช้า ติดเชื้อง่าย คุณหมอจะเเนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองหาโรคเบาหวาน หากพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูงถึงเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะสามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคเบาหวาน
อย่างไรก็ตามผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดคัดกรองโรคเบาหวาน เเม้จะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ มีดังนี้
- มีดัชนีมวลกายสูงกว่า 25
- ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน เช่น คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ระดับคอเลสเตอรอลไม่ปกติ การมีวิถีชีวิตที่ไม่เคลื่อนไหวร่างกาย มีประวัติโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบหรือโรคหัวใจ ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ควรได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด หากผลตรวจเป็นปกติควรตรวจทุก ๆ 3 ปีหลังจากนั้น
- ผู้หญิงที่เคยมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน ควรได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุก ๆ 6 เดือน – 1 ปี
การวินิจฉัยโรคเบาหวานทำได้อย่างไร
การวินิจฉัยโรคเบาหวานอาจทำได้หลายวิธี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเภทของโรคเบาหวานและความเหมาะสมซึ่งมีวิธีการตรวจ ดังนี้
การวินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 และภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
การตรวจฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี (Hemoglobin A1C)
เป็นการตรวจที่แสดงถึงระดับน้ำตาลในเลือดโดยเฉลี่ยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ด้วยการตรวจน้ำตาลที่จับกับฮีโมโกลบินของเซลล์เม็ดเลือดแดง หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ฮีโมโกลบินก็จะมีน้ำตาลมาจับอยู่มาก ส่งผลให้ HbA1c มีค่าสูง ซึ่งการตรวจ HbA1c จะไม่จำเป็นต้องอดอาหาร
โดยสามารถแปลผลดังนี้
- ค่า HbA1C ไม่เกิน 5.7% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ค่า HbA1C อยู่ระหว่าง 5.7%-6.4% ถือว่ามีภาวะก่อนเป็นเบาหวาน หรือ มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ
- ค่า HbA1C สูงตั้งเเต่ 6.5% ขึ้นไปถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน
การตรวจน้ำตาลในเลือดแบบสุ่ม
เป็นการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดโดยไม่ต้องคำนึงถึงเวลาที่รับประทานอาหารครั้งสุดท้าย หากพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูงตั้งเเต่ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือ 11.1 มิลลิโมล/ลิตร เป็นต้นไปจะเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน เเต่หากค่าต่ำกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร มิได้เเปลว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยังคงต้องอาศัยการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม
การตรวจน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร
เป็นการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดโดยผู้เข้ารับการตรวจจะต้องงดอาหารเเละเครื่องดื่มที่มีเเคลอรี่มาเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ซึ่งสามารถเเปลผลได้ดังนี้
- ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือ 5.6 มิลลิโมล/ลิตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือ 5.6-6.9 มิลลิโมล/ลิตร ถือว่ามีภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
- ระดับน้ำตาลในเลือดขณะสูงตั้งเเต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือ 7 มิลลิโมล/ลิตร เป็นต้นไป ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน
การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาลของร่างกาย (Oral Glucose Tolerance Test หรือ OGTT)
การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล สามารถทำได้ดังนี้
บุคคลทั่วไป
ผู้ที่จะเข้ารับการตรวจ OGTT จะต้องงดอาหารและเครื่องดื่มที่มีเเคลอรี่ ก่อนเข้ารับการทดสอบอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (แต่ไม่เกิน 14 ชั่วโมง)
เมื่อถึงวันนัด จะทำการตรวจเลือดครั้งที่1 เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร จากนั้นให้ผู้เข้ารับการตรวจดื่มสารละลายกลูโคส 75 กรัม แล้วรอเป็นระยะเวลา 2 ชั่วโมง จึงตรวจระดับน้ำตาลเลือดครั้งที่ 2 เพื่อวัดความทนทานต่อน้ำตาลของร่างกาย โดยระหว่างช่วง 2 ชั่วโมงนี้ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องงดอาหารเเละเครื่องดื่มด้วย
โดยผลการตรวจอาจแบ่งดังนี้
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังขณะอาหาร จะเเปลผลดังที่กล่าวไปในข้างต้น
- การเเปลผลระดับน้ำตาลหลังกลืนน้ำตาล 2 ชั่วโมง
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูงไม่เกิน140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือ 7.8 มิลลิโมล/ลิตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่าง 140-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือ 7.8-11.0 มิลลิโมล/ลิตร ถือว่ามีภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูงตั้งเเต่ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือ 11.1 มิลลิโมล/ลิตร ง ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน
การวินิจฉัยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ส่วนมากเเล้วจะเข้ารับการตรวจ OGTT เมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ เพื่อตรวจคัดกรองภาวะโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยมีขั้นตอนแตกต่างจากบุคคลทั่วไปเล็กน้อยดังนี้
การตรวจขั้นที่1 (ดื่มสารละลายกลูโคส 50 กรัม)
ในขั้นแรกผู้เข้ารับการตรวจไม่ต้องงดอาหารมา โดยเมื่อถึงเวลานัด จะให้ดื่มสารละลายกลูโคสปริมาณ 50 กรัม แล้วรอเป็นระยะเวลา 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะทำการเจาะเลือดตรวจค่าระดับน้ำตาล โดยหากมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคสไม่เกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มีความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เเต่หากมีระดับน้ำตาลหลังดื่มสารละลายกลูโคส มากกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณหมอจึงจะนัดตรวจในขั้นที่ 2 อีกครั้ง
การตรวจขั้นที่2 (ดื่มสารละลายกลูโคส 100 กรัม)
การตรวจในขั้นที่2 ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องงดอาหารเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง และจะทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทั้งหมด 4 ครั้ง
- เจาะเลือดครั้งที่ 1 เพื่อตรวจระดับน้ำตาลหลังงดอาหาร
- ดื่มสารละลายกลูโคสปริมาณ 100 กรัม หลังจากนั้นรอเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลหลังดื่มสารละลายกลูโคสไปแล้วที่ 1 2 และ 3 ชั่วโมงตามลำดับ
- โดยระหว่างการเจาะเลือดเเต่ละครั้ง ผู้เข้ารับการตรวจจะยังต้องงดอาหารเเละเครื่องดื่มด้วย
หากผลตรวจในครั้งนี้สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดตั้งแต่ 2 ค่าขึ้นไป จะถือว่ามีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหารควรน้อยกว่า 95 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคส 1 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคส 2 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 155 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคส 3 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร