การพยาบาลผู้ป่วยเบาหวาน เป็นวิธีดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานให้มีสุขภาพดีและอยู่ร่วมกับโรคเบาหวานอย่างเหมาะสมและมีความสุข ซึ่งอาจเป็นการดูแลจากคนใกล้ชิด เช่น ครอบครัว เพื่อนสนิท เพื่อให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการเผชิญหน้ากับโรคมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยสอดส่องอาการที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น
[embed-health-tool-bmi]
โรคเบาหวาน คืออะไร
โรคเบาหวานเป็นภาวะสุขภาพเรื้อรัง ที่ส่งผลให้การเปลี่ยนน้ำตาลเป็นพลังงานในร่างกายผิดปกติ โดยปกติ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ตับอ่อนจะปล่อยอินซูลินเพื่อเปลี่ยนน้ำตาลเป็นพลังงานให้กับเซลล์ในร่างกาย แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ร่างกายจะผลิตอินซูลินไม่เพียงพอหรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน จึงทำให้น้ำตาลสะสมอยู่ในกระแสเลือดมากขึ้น และหากปล่อยไว้เป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น โรคหัวใจ โรคไต การสูญเสียการมองเห็น
การพยาบาลผู้ป่วยเบาหวาน
การพยาบาลผู้ป่วยเบาหวานอาจมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการดูแลตัวเองในผู้ป่วยเบาหวาน และการให้ความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ดังนี้
แนวทางสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- เรียนรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน
ผู้ดูแลควรเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุ อาการของโรคเบาหวาน วิธีการตรวจสอบและวิธีจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยให้อยู่ในระดับปกติ นอกจากนี้ อาจปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตบางอย่างที่จำเป็นเพื่อให้เหมาะสมกับการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น เช่น ปรับเปลี่ยนโภชนาการอาหารเพื่อสุขภาพ โดยลดปริมาณแป้งและน้ำตาลลง จัดหาอาหารที่เหมาะกับผู้เป็นเบาหวาน เช่น ผักผลไม้อย่างบร็อคโคลี่ ผักโขม และถั่วเขียว โปรตีนอย่างไก่ ถั่ว เต้าหู้ และไข่ ธัญพืชไม่ขัดสี นม ร่วมกับการสนับสนุนให้ผู้ป่วยออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้ดูแลอาจต้องอ่านฉลากอาหารเพื่อดูส่วนประกอบทุกครั้ง นับปริมาณคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลให้เหมาะสมในมื้ออาหาร
- อดทน เข้าใจและให้กำลังใจผู้ป่วย
ให้เวลากับผู้ป่วยมากขึ้น และอาจต้องใช้ความเข้าใจและความอดทนสำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน ต้องตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดให้ผู้ป่วยเป็นประจำ ฉีดอินซูลินและจัดยารักษาโรคเบาหวาน ดูแลเท้าและบาดแผลของผู้ป่วย เป็นต้น ผู้ดูแลควรใส่ใจเรื่องเหล่านี้อย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันโรคเบาหวานลุกลามและเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา
- พูดคุยและสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
พูดคุยเพื่อถามถึงอาการและเสนอความช่วยเหลือ รับฟังในสิ่งที่ผู้ป่วยพูด เพราะผู้ป่วยอาจกำลังต้องการความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิด แต่หากผู้ป่วยปฏิเสธการช่วยเหลือ ผู้ดูแลอาจต้องพูดโน้มน้าวให้ผู้ป่วยรู้สึกว่ายังมีคนอยู่เคียงข้างและพร้อมเข้าใจ แต่ไม่ควรบังคับหรือยัดเยียดความช่วยเหลือนั้น วิธีนี้อาจทำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนความคิดและขอความช่วยเหลือเอง นอกจากนี้ ผู้ดูแลควรพูดคุยและให้กำลังใจเพื่อให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และเห็นเป้าหมายของการอยู่กับโรคเบาหวานให้มีความสุข และมีสุขภาพดี
- สังเกตอาการ
ผู้ดูแลควรสังเกตอาการที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะร้ายแรงอื่น ๆ หากพบสัญญาณ ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันทีเพื่อทำการรักษา
การพยาบาลผู้ป่วยเบาหวานประจำวัน
สำหรับกิจวัตรประจำวันที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะต้องปฏิบัติเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ ซึ่งผู้ป่วยบางคนอาจสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง แต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นผู้สูงอายุ หรือเด็ก เป็นต้น อาจต้องการความช่วยเหลือจากผู้ดูแล ดังนั้น ผู้ดูแลจึงควรรู้การพยาบาลผู้ป่วยเบาหวานประจำวันเหล่านี้
- การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดสมดุล ผู้ดูแลควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดและจดบันทึกประจำวัน จัดตารางการกินยา การออกกำลังกาย และการจัดโภชนาการอาหารให้เหมาะสม นอกจากนี้ ผู้ดูแลอาจนำรายการจดบันทึก หรือสัญญาณอาการของผู้ป่วย ไปปรึกษาคุณหมอเพื่อจัดหารูปแบบการดูแลให้เหมาะสม
- การออกกำลังกายของผู้ป่วย ผู้ดูแลสามารถให้ผู้ป่วยเบาหวานออกกำลังกายได้หลังจากรับประทานอาหารไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง เนื่องจากหลังรับประทานอาหาร ระดับน้ำตาลในเลือดอาจสูงขึ้น และหากไปออกกำลังกายนอกบ้านผู้ดูแลควรเตรียมบัตรประจำตัวผู้ป่วยเบาหวาน อาหารว่างที่มีคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาลไปด้วย เผื่อผู้ป่วยเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทั้งก่อน ระหว่าง และหลังออกกำลังกาย เพื่อเช็คความสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือด
- ทำกิจกรรมคลายเครียด ความเครียดอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ดูแลจึงอาจหากิจกรรมเพื่อคลายเครียด เช่น ทำสมาธิ ฟังเพลง ทำสวน ทำงานอดิเรก
- ตรวจสอบสุขภาพผู้ป่วย ผู้ป่วยโรคเบาหวานเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพมากมาย เช่น
- ปัญหาสุขภาพช่องปาก ผู้ดูแลจึงควรให้ผู้ป่วยแปรงฟันหลังรับประทานอาหารทุกมื้อด้วยแปรงขนนุ่ม และใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละครั้ง เพื่อลดโอกาสเกิดโรคเหงือก เชื้อราในปาก และปากแห้ง
- การติดเชื้อ โดยเฉพาะสุขภาพเท้า ผู้ดูแลควรตรวจสอบสุขภาพเท้าของผู้ป่วยเสมอเพื่อหาอาการบวม บาดแผล หรือการติดเชื้อที่เล็บเท้า เช่น เล็บขบ ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
การพยาบาลผู้ป่วยเบาหวานเพื่อลดภาวะแทรกซ้อน
- ห้ามไม่ให้ผู้ป่วยเบาหวานสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ลดการไหลเวียนของเลือดที่ขาและเท้า อาจนำไปสู่การติดเชื้อ โรคหัวใจ โรคไต สูญเสียการมองเห็น เส้นประสาทเสียหาย
- รักษาความดันโลหิตและคอเลสเตอรอล เพราะความดันโลหิตสูงอาจทำลายหลอดเลือด และคอเลสเตอรอลสูงอาจนำไปสู่อาการหัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมองได้
- เข้ารับการตรวจร่างกายและสายตาเป็นประจำ กำหนดเวลาการตรวจเบาหวานประมาณ 2- 4 ครั้ง/ปี เพื่อตรวจหาภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ และปัญการมองเห็น
- เข้ารับการฉีดวัคซีน ผู้ป่วยเบาหวานอาจเสี่ยงเจ็บป่วยง่ายจึงควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนป้องกันโรคปอดบวม
- ดูแลสุขภาพช่องปาก ผู้ป่วยเบาหวานอาจติดเชื้อที่เหงือกง่ายขึ้น จึงควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์ และใช้ไหมขัดฟัน นอกจากนี้ ควรตรวจสุขภาพช่องปากอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
- ดูแลสุขภาพเท้า น้ำตาลในเลือดสูงอาจลดการไหลเวียดเลือด และทำลายเส้นประสาทที่เท้า หากเกิดบาดแผลที่เท้าและไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่การติดเชื้อร้ายแรงได้ จึงควรทำความสะอาดเท้าผู้ป่วยทุกวัน จากนั้นทาโลชั่นหรือปิโตรเลียมเจลเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น และตรวจสอบด้วยว่าผู้ป่วยมีรอยแผลพุพอง หรือผิวหนังเปื่อย แข็งด้าน หรือไม่ หากพบ ต้องรีบรักษาโดยด่วน
- ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ปริมาณที่พอเหมาะ คือควรดื่มวันละ 1-2 แก้วเท่านั้น
- จัดการกับความเครียด เพราะความเครียดอาจทำให้กิจวัตรประจำวันในการดูแลตนเองถูกละเลย และส่งผลต่อการควบคุมโรค จึงควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และมีคิดในเชิงบวกอยู่เสมอ