backup og meta

กาแฟมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานอย่างไร

กาแฟมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานอย่างไร

กาแฟ กลายเป็นเครื่องดื่มที่ทุกคนคุ้นเคยและบริโภคกันเป็นประจำ ในกาแฟมีส่วนประกอบหลายอย่าง ที่มีประโยชน์ และมีโทษกับผู้ป่วย เบาหวาน ในกาแฟจะมีสารต้านอนุมูลอิสระอย่าง โพลีฟีนอล (Polyphenols) และแร่ธาตุที่มีประโยชน์ เช่น แมกนีเซียม โครเมียม (Chromium) ซึ่งช่วยเพิ่มการทำงานของอินซูลินทำให้ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่ในกาแฟก็มีคาเฟอีน ซึ่งเป็นสารกระตุ้นประสาท อาจทำให้มีความดันโลหิตสูง นอนไม่หลับได้ นอกจากนี้ ในเครื่องดื่มกาแฟอาจมีการผสมครีมเทียม รวมถึงอาจมีการเพิ่มน้ำตาลทำให้มีระดับไขมันในเลือดสูงและการควบคุมระดับน้ำตาลทำได้ยากขึ้นด้วย

[embed-health-tool-heart-rate]

ประโยชน์ของ กาแฟ ต่อโรค เบาหวาน

กาแฟอุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิดที่อาจมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของกาแฟในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ

กาแฟอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างโพลีฟีนอลที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันโรคหลายชนิด เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร  Medical Journal of The Islamic Republic of Iran เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับโพลีฟีนอลและผลกระทบต่อการจัดการโรคเบาหวาน พบว่า โพลีฟีนอลในอาหารหลายชนิดอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ปรับปรุงการหลั่งและความไวของอินซูลินในการเปลี่ยนน้ำตาลเป็นพลังงาน อาจช่วยควบคุมและป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานได้

อุดมไปด้วยแร่ธาตุ

กาแฟอุดมไปด้วยแร่ธาตุหลายชนิดอย่างแมกนีเซียมและโครเมียมที่มีคุณสมบัติอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Diabetes Care เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2557 ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคแมกนีเซียมและความเสี่ยงของการเผาผลาญกลูโคสและอินซูลินที่บกพร่อง พบว่า การบริโภคแมกนีเซียมช่วยลดความเสี่ยงของการพัฒนาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้ เนื่องจาก แมกนีเซียมมีส่วนช่วยปรับปรุงการเผาผลาญในร่างกาย ปรับปรุงการทำงานของอินซูลินที่ช่วยควบคุมการเผาผลาญน้ำตาลในกระแสเลือดไปเป็นพลังงาน

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน The Journal of Nutrition เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 ศึกษาเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเสริมที่มีโครเมียมและความเสี่ยงของโรคเบาหวานประเภท 2 พบว่า การรับประทานอาหารเสริมที่มีโครเมียมช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานที่ไม่สามารถระบุสาเหตุได้ ซึ่งโครเมียมอาจช่วยเพิ่มความไวของอินซูลินและลดระดับน้ำตาลในเลือด

ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกดื่มกาแฟอย่างไร

  • ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกดื่มกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีน (Decaf) เนื่องจาก คาเฟอีนอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นหลังรับประทานอาหาร ยับยั้งการตอบสนองต่ออินซูลิน ทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานได้น้อยลง หากปล่อยไว้นานอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น เส้นประสาทเสียหาย โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Diabetes & Metabolic Syndrome เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคคาเฟอีนระยะสั้นและความไวของอินซูลินและการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน จากการรวบรวมการทดลองทั้งหมด 7 ฉบับ พบว่า มี 5 การศึกษาแนะนำว่าการบริโภคคาเฟอีนจะเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลกระทบของการบริโภคคาเฟอีนต่อระดับน้ำตาลในเลือดในระยะยาว
  • ผู้ป่วยเบาหวานควรจำกัดการดื่มกาแฟ ไม่ควรเกินวันละ 1-2 แก้ว/วัน หรือ 400 มิลลิลิตร/วัน เนื่องจากการดื่มกาแฟมากเกินไปอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น นอนไม่หลับ มีความวิตกกังวล ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องการเติมรสชาติในกาแฟ สามารถเติมความหวาน กลิ่นหรือรสชาติอื่น ๆ ได้ตามชอบ แต่ควรเลือกสารให้ความหวานที่ไม่มีคาร์โบไฮเดรต ไขมันอิ่มตัวและน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน ทากาโทส (Tagatose) แอสปาร์แตม (Aspartame)

ความเสี่ยงของการดื่มกาแฟสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน

กาแฟอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพผู้ป่วยเบาหวาน แต่การดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีน น้ำตาลสูงและไขมันอิ่มตัว อาจมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้ ดังนี้

  • กาแฟที่มีคาเฟอีนอาจทำให้มีอาการปวดหัว มึนงง มีความวิตกกังวล หัวใจเต้นแรง
  • การดื่มกาแฟที่มีน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวสูงอาจทำให้คอเลสเตอรอลสูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการจุกเสียดท้อง โรคเบาหวาน น้ำหนักเกินและโรคอ้วน
  • เด็กเล็กควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและวัยรุ่นควรได้รับคาเฟอีนจากอาหารทุกชนิดน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/วัน เนื่องจากคาเฟอีนเป็นสารกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางและการทำงานของร่างกาย ซึ่งอาจเพิ่มความดันโลหิตทำให้เด็กมีอาการวิตกกังวล ปวดหัว และรบกวนการนอนหลับ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Diabetes and Caffeine. https://www.webmd.com/diabetes/diabetes-and-caffeine. Accessed March 18, 2022

cutting coffee could help control diabetes. https://www.diabetes.org.uk/about_us/news_landing_page/2008/cutting-coffee-could-help-control-diabetes. Accessed March 18, 2022

Caffeine: Does it affect blood sugar?. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/type-2-diabetes/expert-answers/blood-sugar/faq-20057941.  Accessed March 18, 2022

Higher Magnesium Intake Reduces Risk of Impaired Glucose and Insulin Metabolism and Progression From Prediabetes to Diabetes in Middle-Aged Americans. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/labs/pmc/articles/PMC3898748/. Accessed March 18, 2022

Polyphenols and their effects on diabetes management: A review. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/labs/pmc/articles/PMC6014790/. Accessed March 18, 2022

The effect of acute caffeine intake on insulin sensitivity and glycemic control in people with diabetes. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/28935543/. Accessed March 18, 2022

Caffeine and Kids. https://familydoctor.org/caffeine-and-kids/#:~:text=In%20children%2C%20caffeine%20can%20raise,suffer%20headaches%20from%20caffeine%20withdrawal. Accessed March 18, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

18/02/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

การนอนดึก ส่งผลเสียต่อผู้ป่วยเบาหวานอย่างไร

เบาหวานคืออะไร มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 18/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา