backup og meta

น้ำตาลเทียม คนเป็นเบาหวานกินได้หรือไม่ ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล · โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/03/2023

    น้ำตาลเทียม คนเป็นเบาหวานกินได้หรือไม่ ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ

    ผู้ป่วยเบาหวานหลายคนติดรสชาตืหวานซึ่งเกิดจากการเติมน้ำตาลหรือน้ำเชื่อมในอาหารและเครื่องดื่ม ในการควบคุมเบาหวานผู้ดูแลอาจทำให้ผู้ป่วยปรับรสชาติ ด้วยการรับประทานอาหารโดยใช้สารให้ความหวานทดแทนหรือ น้ำตาลเทียม ดังนั้น จึงควรศึกษาเกี่ยวกับชนิดและการใช้ประโยชน์จากการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ที่จะช่วยให้ผู้ป่วย เบาหวาน สามารถลดการใช้น้ำตาลจริง และอาจจะได้ประโยชน์จากสารให้ความหวานเทียมบางชนิด ที่ช่วยเพิ่มการผลิตอินซูลิน ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดการลุกลามของเบาหวาน และการป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้อีกด้วย

    น้ำตาลเทียม คืออะไร

    น้ำตาลเทียม คือ สารให้ความหวานแทนน้ำตาล อาจมีแคลอรี่ต่ำหรือไม่มีแคลอรี่ ซึ่งเหมาะผู้ป่วย เบาหวาน ที่ต้องการเติมรสชาติให้กับอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากสามารถให้ความหวานแทนน้ำตาล ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น โดยน้ำตาลเทียมอาจแบ่งออกเป็นหลายประเภท ดังนี้

    • ขัณฑสกร (Saccharin) เป็นสารให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 300-700 เท่า ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ ทนความร้อน ละลายน้ำได้ดี ซึ่งใช้ได้ทั้งกับอาหารร้อนและเย็น ทั้งนี้ ไม่ควรรับประทานมากเกินไป โดยเฉพาะผู้ป่วยและหญิงกำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เนื่องจาก สารชนิดนี้อาจซึมผ่านรกเข้าไปทำอันตรายต่อทารกในครรภ์ และหากรับประทานมากเกินไปจนสะสมอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งผิวหนัง จึงควรรับประทานไม่เกิน 80-100 มิลลิกรัม/ลิตร/วัน
    • แอสปาร์แตม (Aspartame) เป็นสารให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 180-200 เท่า ไม่ทำให้เกิดฟันผุและไม่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด สามารถใช้ได้กับอาหารอุ่นและเย็น แต่หากอาหารมีอุณหภูมิสูงมากอาจทำให้สูญเสียความหวาน ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสปาร์แตมกับผู้มีภาวะฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของเอ็นไซม์ที่ใช้ย่อยสลายสารฟีนิลอะลานีน (Phynylalanine) จนเกิดการสะสมของสารนี้มากขึ้นและเข้าไปทำลายสมอง จนอาจเกิดภาวะปัญญาอ่อนอย่างรุนแรงได้ ควรรับประทานไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/น้ำหนักตัว/วัน
  • แอซีซัลเฟม โพแทสเซียม หรือแอซีซัลเฟม เค (Acesulfame Potassium หรือ Acesulfame K) เป็นสารให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 200 เท่า อาจช่วยควบคุมความอยากอาหารและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สามารถใช้ได้กับอาหารร้อน เย็น อาหารอบ และการทำอาหารทุกประเภท ทั้งนี้ หากรับประทานมากเกินไปจนสะสมอาจเสี่ยงให้ระบบประสาทและการทำงานของสมองทำงานลดลง หรือหญิงตั้งครรภ์อาจเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด จึงควรรับประทานไม่เกิน 15 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว/วัน
  • ซูคราโลส (Sucralose) เป็นสารให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 600 เท่า ไม่มีผลเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด สามารถใช้ได้กับอาหารร้อน เย็น อาหารอบ การทำอาหารและอาหารแปรรูป แต่หากปรุงซูคราโลสที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 175 องศาเซลเซียส อาจเสี่ยงเกิดสารคลอโรโพรพานอล (Chloropropanols) ที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ ควรรับประทานไม่เกิน 3.3 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว/วัน
  • แอดวานเทเม (Advantame) เป็นสารให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 2,000 เท่า สามารถใช้ได้กับขนมอบ น้ำอัดลม เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ หมากฝรั่ง ลูกอม ของหวานแช่แข็ง เจลาติน พุดดิ้ง แยม เยลลี่ ผลไม้แปรรูป น้ำผลไม้ และน้ำเชื่อม ไม่แนะนำให้รับประทานมากเกินไปและในผู้ที่เป็นโรคฟีนิลคีโตนูเรียแต่กำเนิด เนื่องจากอาจส่งผลเสียต่อระบบประสาทและสมอง ควรรับประทานไม่เกิน 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว/วัน
  • นีโอแตม (Neotame) เป็นสารให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 7,000-13,000 เท่า ทนความร้อนในระดับปานกลาง ไม่มีพลังงาน ไม่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด หากรับประทานมากเกินไปอาจกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ระบบสืบพันธุ์และระบบประสาท ควรรับประทานไม่เกิน 0.5-1.5  มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว/วัน
  • นอกจากนี้ ยังมีน้ำตาลเทียมบางชนิดที่อาจส่งผลดีต่อโรคเบาหวาน เช่น

    • หญ้าหวาน เป็นสารให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 250-300 เท่า สามารถใช้ได้กับการปรุงอาหารหรือเพิ่มรสชาติให้กับอาหารคาวและหวานได้ทุกชนิด อาจมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและต้านเบาหวาน อาจช่วยเพิ่มการผลิตอินซูลิน เพิ่มความไวต่ออินซูลิน รักษาระดับน้ำตาลในเลือด ต้านการลุกลามของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะแทรกซ้อน โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMC Complementary Medicine and Therapies เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติต้านเบาหวานของสารสกัดจากใบหญ้าหวาน พบว่า หลังจากใช้สารสกัดจากใบหญ้าหวาน 8 สัปดาห์ อาจมีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร ช่วยปรับปรุงการจัดการกับแคลอรี่ และช่วยในการควบคุมน้ำหนัก ดังนั้น สารสกัดจากใบหญ้าหวานอาจสามารถมีฤทธิ์ช่วยต้านโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องได้ ควรรับประทานหญ้าหวานไม่เกิน 7,938 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว/วัน
    • ทากาโทส (Tagatose) เป็นสารให้ความหวานซึ่งเป็นน้ำตาลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติพบได้ในผลไม้และผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งอาจมีคุณสมบัติช่วยต้านโรคเบาหวานและช่วยลดความอ้วน ทั้งยังอาจช่วยลดน้ำตาลในเลือด เพิ่มการตอบสนองต่ออินซูลินและขัดขวางการดูดซึมคาร์โบไฮเดรต โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Expert Opinion on Investigational Drugs เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ศึกษาเกี่ยวกับสารให้ความหวานทากาโทส พบว่า ทากาโทสเป็นน้ำตาลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีแคลอรี่ต่ำประมาณ 1.5 กิโลแคลอรี่/กรัม โดยทากาโทสได้รับการศึกษาว่าเป็นยารักษาโรคเบาหวานและยาลดความอ้วน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากรับประทานอาหารและเพิ่มการตอบสนองต่ออินซูลิน นอกจากนี้ ยังยับยั้งการดูดซึมของคาร์โบไฮเดรตในลำไส้อีกด้วย ทั้งนี้ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม และไม่ควรรับประทานทากาโทสเกินวันละ 30 กรัม

    น้ำตาลเทียมมีผลต่อเบาหวานหรือไม่

    น้ำตาลเทียมส่วนใหญ่อาจไม่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากไม่มีแคลอรี่หรือมีแคลอรี่น้อยกว่า 20 กิโลแคลอรี่ และให้คาร์โบไฮเดรตประมาณ 5 กรัมหรือน้อยกว่า จึงไม่นับว่าเป็นพลังงานที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อเบาหวานได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Journal of Family Medicine and Primary Care เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับผลของสารให้ความหวานเทียมต่อการดื้อต่ออินซูลินในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยแบ่งผู้ป่วยเบาหวานออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม A บริโภคสารให้ความหวานเป็นประจำ และกลุ่ม B ไม่บริโภคสารให้ความหวานทุกชนิดแต่กินน้ำตาลปกติ พบว่า ผู้ป่วยกลุ่ม A ที่บริโภคสารให้ความหวานเทียมมีความต้านทานต่ออินซูลินสูงกว่าเมื่อเทียบกับผู้ป่วยกลุ่ม B ที่ไม่บริโภคสารให้ความหวานเทียม ทั้งนี้ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

    โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา