backup og meta

ฉีดอินซูลิน อันตรายไหม ทำไมต้องฉีดอินซูลิน

ฉีดอินซูลิน อันตรายไหม ทำไมต้องฉีดอินซูลิน

ฉีดอินซูลิน อันตรายไหม อาจเป็นคำถามที่ผู้ป่วยเบาหวานสงสัย การฉีดอินซูลิน เป็นหนึ่งในวิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยการฉีดฮอร์โมนอินซูลินเข้าสู่ร่างกายที่ผิวหนังบริเวณหน้าท้อง แขน หรือสะโพก เพื่อให้อินซูลินช่วยทำหน้าที่แทนฮอร์โมนอินซูลินธรรมชาติของร่างกายในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทั้งนี้ การฉีดอินซูลินถือว่าปลอดภัยหากปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม อาจมีผู้ป่วยบางรายมีอาการเเพ้ หรือเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากการใช้ยาอินซูลินได้ 

[embed-health-tool-bmi]

ฉีดอินซูลิน คืออะไร ใครบ้างที่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน

อินซูลิน เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ผลิตจากตับอ่อน มีหน้าที่หลักในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมิให้สูงจนเกินไป ด้วยการกระตุ้นให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายนำน้ำตาลในกระเเสเลือดเข้าสู่เซลล์เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงาน และยังนำน้ำตาลบางส่วนไปสะสมไว้ที่ตับในรูปของพลังงานสำรอง โดยที่ในภาวะปกติ หากเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง จะมีค่าไม่เกิน 99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 

หากตับอ่อนผลิตอินซูลินได้น้อยลง หรือน้อยกว่าความต้องการของร่างกาย การควบคุมระดับน้ำตาลจะเสียสมดุลไป น้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปสู่”ภาวะก่อนเบาหวาน” ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหา 8 ชั่วโมงอยู่ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือเป็นโรคเบาหวานในที่สุด ซึ่งหมายถึงมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง ตั้งเเต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมปล่อยให้ระดับน้ำตาลสูงเป็นเวลานาน จะทำให้ผู้ที่เป็นเบาหวานนั้นเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ เบาหวานขึ้นตา ปลายประสาทเสื่อม หลอดเลือดตีบหรืออุดตัน แผลติดเชื้อเรื้อรัง ซึ่งอาจมีอันตรายถึงเเก่ชีวิตได้ 

ผู้ป่วยเบาหวานที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลิน ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ได้รับการรักษาด้วยยาชนิดรับประทานร่วมกับปรับพฤติกรรมสุขภาพเเล้วยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ เเละ ผู้ป่วยเบาหวานที่ตั้งครรภ์ หรือคุณเเม่ที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์

วิธีฉีดอินซูลินในปัจจุบันไม่ยุ่งยากเเละน่ากลัวเท่าสมัยก่อน สามารถทำได้โดยการใช้ปากกาเฉพาะสำหรับฉีดอินซูอิน ซึ่งส่วนปลายจะมีหัวเข็มขนาดเล็กโดยจะฉีดเข้าสู่ชั้นไขมันใต้ผิวหนังบริเวณบริเวณหน้าท้อง แขน หรือสะโพก

ฉีดอินซูลิน อันตรายไหม

โดยปกติแล้ว การฉีดอินซูลินไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหากฉีดอย่างถูกต้องและปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เนื่องจากในกระบวนการศึกษาและผลิตยา จะพยามทำให้เสมือนกับอินซูลินที่ผลิตจากตับอ่อนของมนุษย์ให้ได้มากที่สุด อีกทั้งยังต้องมีการทดสอบความปลอดภัยก่อนนำมาผลิตเเละให้ในการรักษาจริงผลข้างเคียงจากการฉีดอินซูลินที่อาจพบได้ มีดังนี้

  • ภาวะแพ้รุนแรง ผู้ป่วยเบาหวานบางรายอาจมีอาการแพ้ เกิดผื่นแดงคันตรงบริเวณผิวหนังที่ฉีดอินซูลินได้ เเต่ในบางราย อาจเกิดภาวะเเพ้รุนเเรง ซึ่งมีอาการคือ ผื่นขึ้นตามร่างกายส่วนต่าง ๆ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำ หมดสติได้ หรือ เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามพบภาวะเเพ้รุนเเรงจากอินซูลินได้น้อยมาก
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) เป็นภาวะที่พบได้ในผู้ที่รับประทานอาหารน้อยกว่าปกติหรือรับประทานอาหารผิดเวลา ออกกำลังกายอย่างหักโหม รวมไปถึงฉีดอินซูลินเกินขนาด ทั้งนี้ อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ได้แก่ รู้สึกหวิว ๆ รู้สึกโหย/อยากอาหารมากผิดปกติ มือสั่น ใจสั่น  เวียนศีรษะ สับสน สายตาพร่ามัว และหากไม่ได้รับการแก้ไข้ที่ถูกต้อง อาการอาจเป็นมากขึ้น จนทำให้หมดสติ และหัวใจหยุดเต้นจนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

การควบคุมน้ำตาลในเลือดแบบอื่น

นอกจากการฉีดอินซูลินแล้ว ผู้ที่เป็นเบาหวานยังสามาถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานซึ่งออกฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในกระเเสเลือด ซึ่งในปัจจุบันมียารับประทานหลายชนิด ออกฤทธิ์ผ่านกลไกที่ต่างกันออกไป โดยที่คุณหมอจะพิจารณาเลือกตามความเหมาะสมของผู้ป้วยเเต่ละบุคคล
  • เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเเละน้ำตาลสูง เน้นรับประทานกลุ่มที่มีใยอาหารเช่น ข้าวโอ๊ต คีนัว ข้าวฟ่าง เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ผักใบเขียวออกกำลังกายเป็นประจำ เเนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที อาจเเบ่งเป็น วันละ 30 นาที 5วันต่อปสัปดาห์ เพื่อควบคุมน้ำหนักและกระตุ้นการตอบสนองต่ออินซูลินของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย
  • นอนหลับให้เพียงพอ แนะนำให้นอนวันละ 6-8 ชั่วโมง จะดีต่อสุขภาพของผู้ที่เป็นเบาหวานมากที่สุด เพราะหากนอนน้อยหรือนอนดึก มักส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) เเละคอร์ซิซอล (Cortisol) มากขึ้น ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นความอยากอาหาร เเละยังมีฤทธิ์ต้านกับอินซูลินอีกด้วย 
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของคุณหมอ ไม่ควรปรับขนาดตัวยาหรืออินซูลิน และหากมีอาการผิดปกติใด ๆ ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาเพิ่มเติม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Mortality and Other Important Diabetes-Related Outcomes With Insulin vs Other Antihyperglycemic Therapies in Type 2 Diabetes.  https://academic.oup.com/jcem/article/98/2/668/2833166%20. Accessed September 2, 2022

Insulin Therapy Increases Cardiovascular Risk in Type 2 Diabetes. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/28958751/. Accessed September 2, 2022

Diabetes and insulin. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/diabetes-and-insulin. Accessed September 2, 2022

Human Insulin Injection. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682611.html#:~:text=redness%2C%20swelling%2C%20and%20itching%20at,constipation. Accessed September 2, 2022

Low blood sugar (hypoglycaemia). https://www.nhs.uk/conditions/low-blood-sugar-hypoglycaemia/#:~:text=A%20low%20blood%20sugar%20level,usually%20treat%20it%20easily%20yourself. Accessed September 2, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

16/03/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ฮอร์โมน อินซูลิน คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร

ฉีดอินซูลินตอนไหน จึงได้ผลดีต่อสุขภาพผู้ป่วยเบาหวาน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 16/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา