backup og meta

น้ำตาลในเลือดปกติ อยู่ในระดับเท่าไหร่ ถึงดีต่อสุขภาพ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/03/2023

    น้ำตาลในเลือดปกติ อยู่ในระดับเท่าไหร่ ถึงดีต่อสุขภาพ

    น้ำตาล เป็นแหล่งพลังงานหลักที่สำคัญของร่างกาย แต่หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน สำหรับคำถามที่ว่าระดับ น้ำตาลในเลือดปกติควรอยู่ที่เท่าไร ? อาจขึ้นอยู่กับวิธีการตรวจ ดังนั้น จึงควรศึกษาวิธีการตรวจและแปลผลเบื้องต้น เพื่อเป็นข้อมูลให้ทราบว่าตนเองกำลังเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานอยู่หรือไม่

    ทำไมจึงควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือด

    การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยให้ทราบว่าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะหากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ใจสั่น มือสั่น ตาลาย หากมีรุนเเรงอาจมีอาการชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้ แต่หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ภาวะเลือดเป็นกรด (Ketoacidosis) รวมถึงเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม และตามัวจากเบาหวานขึ้นตาได้

    นอกจากนี้ การตรวจน้ำตาลระดับในเลือดยังเป็นการติดตามผลการรักษาในผู้ป่วยเบาหวาน ว่ามีประสิทธิภาพในการควบคุมน้ำตาลได้ดีหรือไม่เพียงใด

    ระดับน้ำตาลในเลือดปกติอยู่ที่เท่าไร

    การแปลผลค่าน้ำตาลในเลือดจะต่างกันตามวิธีการตรวจ ดังนี้

    • ระดับน้ำตาลในเลือดที่ทำการตรวจหลังงดอาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมงแล้ว ไม่เกิน 99 มิลลิกรัม/เดซิลิตรถือว่า อยู่ในเกณฑ์ปกติ
    • การตรวจความทนทานต่อน้ำตาล OGTT โดยเป็นการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอีกวิธีหนึ่งซึ่งจะต้องงดอาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมงเช่นกัน เเล้วทำเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลหลังดื่มสารละลายกลูโคส 75 กรัมหากระดับน้ำตาลหลังดื่มสารละลายกลูโคสไปเเล้วเป็นเวลา 2 ชั่วโมงมีค่าน้อยกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงถึงร่างกายมีว่ามีความทนทานต่อน้ำตาลปกติ

    ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติอยู่ที่เท่าไร

    ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ อาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

    ค่าน้ำตาลในเลือดต่ำ

    ในบุคคลทั่วไป หากมีค่าน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 55 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือ ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานแล้วมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะถือว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การอดอาหารเป็นเวลานาน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ภาวะพร่องฮอร์โมนต่อมหมวกไต การใช้ยาลดระดับน้ำตาลในขนาดสูงไป มีภาวะโรคไต โรคตับอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการดังนี้ห

    • ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
    • เหงื่อออกมาก
    • วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • อ่อนเพลียง่าย เหนื่อยล้า
    • อ่อนเเรงแขน-ขา เดินเซ
    • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด วิตกกังวล
    • การมองเห็นเปลี่ยนแปลง พูดไม่ชัด ไม่มีสมาธิ
    • อาการชัก และหมดสติ

    ค่าน้ำตาลในเลือดสูง

    คือค่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหาร 8 ชั่วโมงสูงตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป หรือ หากตรวจเมื่อไม่ได้งดอาหาร (ตรวจแบบสุ่ม) เเล้วมีค่าระดับน้ำตาลสูงกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร โดยอาจมีสาเหตุมาจากการบริโภคอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ขาดการออกกำลังกาย มีภาวะบางประการทำให้ร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ หรืออาจเกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้การควบคุมจัดการระดับน้ำตาลในเลือดของร่างกายผิดปกติ นำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งอาจทำให้มีอาการได้ดังต่อไปนี้

    • ปวดศีรษะ/เวียนศีรษะ
    • เหนื่อยล้าง่าย อ่อนแรง น้ำหนักลดผิดปกติ
    • กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย
    • ไม่มีสมาธิ
    • แผลหายช้า
    • ตามัว มองเห็นภาพไม่ชัดเจน

    วิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

    วิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อาจทำได้ดังนี้

    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที หรือ 150 นาที/สัปดาห์ โดยเเนะนำให้การออกกำลังกายแบบแอโรบิค ที่มีความเหนื่อยระดับกลาง เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ ปั่นจักรยาน เพราะ นอกจากการออกกำลังกายช่วยทำให้ร่างกายเเข็งเเรงโดยรวมเเล้ว ยังช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน ทำให้สามารถจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น จึงช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้
    • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นการรับประทานอาหารประเภทผัก ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ธัญพืชไม่ขัดสี ไขมันดี อาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ กะหล่ำดอก คะน้า ฝรั่ง แอปเปิ้ล มะเขือเทศ ขนมปังโฮลวีท อัลมอนด์ ถั่วลิสง ปลาทู ปลาแซลมอน น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกทานตะวัน และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและแป้งมากเกินไป เช่น ของทอด อาหารแปรรูป ของหวาน น้ำอัดลม เบียร์ ไวน์ ข้าวขาว ขนมปังขาว พาสต้า
    • ลดความเครียด ด้วยการผ่อนคลาย ทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น อ่านหนังสือ เล่นเกม ฟังเพลง ดูโทรทัศน์
    • หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ โดยอาจตรวจด้วยตัวเองหรือเข้ารับการตรวจสุขภาพจากคุณหมอ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา