ตับอ่อน หน้าที่ มีอะไรบ้าง ตับอ่อนคืออวัยวะภายในร่างกายที่มีรูปร่างยาวรีคล้ายใบไม้ โดยมีหน้าที่หลักคือสร้างน้ำย่อยเพื่อย่อยสารอาหารต่าง ๆ เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน และผลิตฮอร์โมนสำหรับใช้ลำเลียงน้ำตาลเข้าสู่เซลล์และอวัยวะต่าง ๆ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติ แต่หากตับอ่อนมีความผิดปกติไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มักก่อให้เกิดโรคได้ เช่น เบาหวาน มะเร็ง
[embed-health-tool-bmi]
ตำแหน่งและลักษณะของตับอ่อน
ตับอ่อนมีความยาวประมาณ 6-10 นิ้ว และรูปร่างยาวรีคล้ายปลาหรือใบไม้ค่อนข้างแบนอยู่ด้านหลังกระเพาะอาหาร บริเวณส่วนบนซ้ายของช่องท้อง รอบ ๆ ตับอ่อน คืออวัยวะภายในอื่น ๆ เช่น ตับ ม้าม หลอดเลือดแดงซีลิแอก (Celiac Artery) ถุงน้ำดี ลำไส้เล็กส่วนต้น
ตับอ่อนประกอบด้วยเนื้อเยื่อชนิดหนึ่งเรียกว่า เนื้อเยื่อมีท่อ (Exocrine Tissue) อยู่ราว 95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำหน้าที่ผลิตเอนไซม์สำหรับช่วยในการย่อยสารอาหารต่าง ๆ ของร่างกาย ขณะเดียวกัน ส่วนที่เหลือของตับอ่อนอีก 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นกลุ่มเซลล์ที่เรียกว่า ไอส์เลตออฟลังเกอร์ฮันส์ (Islets of Langerhans) ประกอบด้วยเซลล์ไร้ท่อจำนวนมาก (Endocrine Cells) ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ เช่น อินซูลิน กลูคากอน
ตับอ่อน หน้าที่ มีอะไรบ้าง
ตับอ่อน หน้าที่ หลักในร่างกายมีดังต่อไปนี้
ผลิตเอนไซม์เพื่อย่อยสารอาหาร
ตับอ่อนผลิตเอนไซม์ต่าง ๆ ในรูปแบบของน้ำย่อยประมาณ 226 กรัมต่อวัน เพื่อย่อยสารอาหารต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย โดยน้ำย่อยจะถูกส่งจากตับอ่อนผ่านท่อและถุงน้ำดีไปยังลำไส้เล็กส่วนต้นซึ่งเชื่อมกับกระเพาะอาหาร
เอนไซม์ที่ผลิตจากตับอ่อน ประกอบด้วย
- ไลเปส (Lipase) ทำงานร่วมกับน้ำดีซึ่งผลิตจากตับ เพื่อย่อยสลายไขมันจากอาหารเป็นพลังงานให้แก่อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย
- โปรตีเอส (Protease) ทำหน้าที่ย่อยสลายโปรตีนเป็นพอลิเพปไทด์ (Polypeptides) หรือโมเลกุลโปรตีนซึ่งมีขนาดเล็กมาก และกรดอะมิโนเชิงเดี่ยว เพื่อให้ร่างกายดูดซึมหรือนำไปใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งช่วยป้องกันร่างกายจากเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้
- อะไมเลส (Amylase) ทำหน้าที่ย่อยสลายคาร์โบไฮเดรตหรือแป้งให้เปลี่ยนเป็นน้ำตาล เพื่อให้ร่างกายดูดซึมไปใช้เป็นพลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
ผลิตฮอร์โมนเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด
ตับอ่อนทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ เข้าสู่กระแสเลือดโดยตรงเพื่อลำเลียงสารอาหารไปยังส่วนต่าง ๆ ของระบบย่อยอาหาร โดยฮอร์โมนเหล่านั้น ได้แก่
- อินซูลิน (Insulin) มีหน้าที่ ลำเลียงน้ำตาล ในกระแสเลือดไปยังเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อใช้เป็นพลังงาน และหากมีน้ำตาลส่วนเกิน จะลำเลียงไปที่ตับเพื่อสะสมไว้ในรูปของไกลโคเจน (Glycogen) หรือพลังงานสำรอง
- กลูคากอน (Glucagon) เป็นฮอร์โมนซึ่งมีหน้าที่กระตุ้นให้ตับเปลี่ยนไกลโคเจนกลับเป็นกลูโคส เพื่อระบายสู่กระแสเลือดในกรณีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงผิดปกติ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลไม่ให้ต่ำเกินไป
- แกสตริน (Gastrin) เป็นฮอร์โมนซึ่งกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร โดยผลิตจากกระเพาะเป็นหลัก แต่มีบางส่วนที่ผลิตจากตับอ่อน
- อะไมลิน (Amylin) เป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารเมื่อท้องว่าง
โรคที่อาจเกิดขึ้นกับตับอ่อน
โรคเกี่ยวกับตับอ่อนที่อาจพบได้หากเกิดความผิดปกติของเซลล์ในระบบย่อยอาหาร ได้แก่
- ตับอ่อนอักเสบ เกิดขึ้นจากการที่น้ำย่อยของตับอ่อนซึ่งทำหน้าที่ย่อยโปรตีนไม่สามารถไหลออกจากตับอ่อนเพื่อไปย่อยโปรตีนได้ เนื่องจากเกิดการอุดตันของท่อเซลล์ในตับอ่อนอันเป็นผลจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ซึ่งกระบวนการย่อยสลายแอลกอฮอล์นั้นส่งผลให้เซลล์อับต่อนอักเสบ ทำให้น้ำย่อยย่อยเนื้อเยื่อตับอ่อนแทนการย่อยโปรตีนจนเกิดเป็นโรคตับอ่อนอักเสบได้ หากป่วยเป็นตับอ่อนอักเสบ จะมีอาการปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน และปวดร้าวบริเวณหลัง ทั้งนี้ ตับอ่อนรักษาได้โดยแพทย์เฉพาะทาง แต่อาจใช้เวลาค่อนข้างนาน ยกเว้นเป็นแบบเฉียบพลัน ซึ่งอาจทำให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลวเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
- มะเร็งตับอ่อน โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากความผิดปกติหรือการอักเสบของเซลล์ตับอ่อนจนกลายเป็นเนื้องอกหรือเซลล์มะเร็ง มะเร็งตับอ่อนในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ แต่ทั้งนี้ ภาวะของโรคอาจพัฒนามาจากโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังได้ อาการของผู้ป่วยที่อาจพบได้คือ ปวดท้อง ตัวเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม คันตามร่างกาย อ่อนเพลีย น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นมะเร็งตับอ่อนได้คือการสูบบุหรี่จัด หรือมีภาวะน้ำหนักเกิน
- เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังซึ่งเกิดจากความผิดปกติของตับอ่อน ทำให้ผลิตอินซูลินได้น้อยกว่าความต้องการของร่างกาย เมื่ออินซูลินไม่เพียงพอในการลำเลียงน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ จึงเหลือน้ำตาลตกค้างในกระแสเลือด เกิดเป็นภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคไต ตาบอด