backup og meta

ตารางค่าน้ำตาลในเลือด ที่ควรรู้เพื่อควบคุมโรคเบาหวาน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    ตารางค่าน้ำตาลในเลือด ที่ควรรู้เพื่อควบคุมโรคเบาหวาน

    ตารางระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสม จะช่วยให้ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงทราบว่าระดับน้ำตาลในเลือดเท่าไหร่จึงจะถือว่าปกติ ไม่เสี่ยงเกิดโรคเบาหวาน และช่วยให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานแล้วสามารถประเมินการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดปัจจุบันของตนและใช้เป็นข้อมูลในปรับแผนการรักษาร่วมกับคุณหมอ เพื่อช่วยให้สามารถควบคุมค่าน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น ซึ่งจะลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้

    ค่าน้ำตาลในเลือด สำคัญอย่างไรต่อโรคเบาหวาน

    โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากตับอ่อนซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินทำงานผิดปกติไป โดยฮอร์โมนอินซูลินจะทำหน้าที่กระตุ้นให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย นำน้ำตาลไปเผาผลาญเป็นพลังงาน เมื่อตับอ่อนผลิตและหลั่งอินซูลินผิดปกติไป จึงส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ

    ระดับน้ำตาลในเลือด (Blood sugar levels) เมื่อตรวจขณะอดอาหาร ของคนทั่วไปจะสูงไม่เกิน 99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แต่หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป จะเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน และหากปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคปลายประสาทอักเสบ

    การควบคุมค่าน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายตามคำแนะนำของคุณหมอ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เพื่อไม่ให้ระดับน้ำตาลสูงเกินไปจนทำให้หลอดเลือดเสียหายและส่งผลเสียต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย

    เกณฑ์ค่าน้ำตาลในเลือด อาจมีดังนี้

    ระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้มีสุขภาพแข็งแรงและไม่เป็นโรคเบาหวาน

    • ระดับน้ำตาลในเลือดช่วงอดอาหาร (Fasting) ระหว่าง 55-99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    • ระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง มักไม่เกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

    ระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

    • ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหาร (Before meals) อยู่ที่ 72-126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 
    • ระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหาร (After meals) ไม่เกิน 162 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และไม่เกิน 154 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2

    ตารางค่าน้ำตาลในเลือด เป้าหมาย

    ระดับน้ำตาลในเลือดเป้าหมาย (Target range) เป็นช่วงของระดับน้ำตาลในเลือดที่จะทำให้ร่างกายสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่ทำให้มีน้ำตาลสะสมในกระแสเลือดสูงจนส่งผลเสียต่อการทำงานและสุขภาพของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย

    การควบคุมค่าน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายจะช่วยให้ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงไม่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน และสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ทั้งชนิดเฉียบพลัน เช่น อาการน็อกเบาหวาน ภาวะเลือดเป็นกรด และชนิดเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง โดยคุณหมอจะช่วยแนะนำระดับน้ำตาลในเลือดเป้าหมายให้กับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งอาจต่างกันตามภาวะสุขภาพ

    อย่างไรก็ตาม สถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ หรือไนซ์ (National Institute for Health and Care Excellence : NICE) ของสหราชอาณาจักร ได้จัดทำหลักเกณฑ์ ตารางค่าน้ำตาลในเลือด เป้าหมาย สำหรับผู้ไม่เป็นโรคเบาหวานและผู้ป่วยโรคเบาหวานไว้ ดังนี้

    ค่าน้ำตาลในเลือดเป้าหมาย

    หลังตื่นนอน

    ก่อนอาหาร

    หลังอาหาร

    ผู้ที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน 72-126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ต่ำกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    โรคเบาหวานชนิดที่ 1

    90-126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

    72-126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 90-162 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    โรคเบาหวานชนิดที่ 2 72-126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

    ต่ำกว่า 154 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

    เด็กที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 72-126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 72-126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

    90-162 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

    วิธีวัดค่าน้ำตาลในเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวาน

    วิธีตรวจวัดค่าน้ำตาลในเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวาน สามารถได้ทำได้หลายวิธี เช่น

    • การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบสุ่ม (Random plasma glucose test) เป็นการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดในช่วงใดของวันก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องอดอาหารล่วงหน้า ทั้งนี้อาจจำเป็นต้องใช้การตรวจวิธีแบบอื่นร่วมด้วย เพื่อยืนยันผลการวินิจฉัยโรคเบาหวานเพิ่มเติม
    • การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร (Fasting plasma glucose test) เป็นการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงาน (ยกเว้นน้ำเปล่า) มาแล้วอย่างน้อย 8 ชั่วโมง วิธีนี้ใช้สำหรับวินิจฉัยภาวะก่อนเป็นเบาหวานและโรคเบาหวาน 
    • การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาลของร่างกาย (Oral Glucose Tolerance Test หรือ OGTT) เป็นการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารและเครื่องดื่มอื่นที่ให้พลังงาน อย่างน้อย 8 ชั่วโมง (แต่ไม่เกิน 14 ชั่วโมง) โดยคุณหมอจะเจาะเลือดครั้งที่ 1 เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร จากนั้นให้ผู้เข้ารับการตรวจดื่มสารละลายกลูโคสปริมาณ 75 กรัม แล้วรอ 2 ชั่วโมง จึงเจาะเลือดครั้งที่ 2 เพื่อวัดความทนทานต่อน้ำตาลของร่างกาย วิธีนี้ใช้สำหรับตรวจคัดกรองภาวะก่อนเบาหวาน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และการทดสอบความทนทานต่อนำ้ตาลยังสามารถใช้ในการตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้อีกด้วย (แต่จะใช้ปริมาณสารละลายกลูโคสที่ต่างกัน)
    • การตรวจระดับฮีโมโกลบิน เอวันซี (Hemoglobin A1c หรือ HbA1c) หรือ การตรวจระดับน้ำตาลสะสม คือการตรวจปริมาณฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีน้ำตาลกลูโคสยึดเกาะ การตรวจนี้ไม่จำเป็นต้องอดอาหารล่วงหน้า ค่าที่ได้จะบอกถึงระดับน้ำตาลในเลือดสะสมในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ใช้สำหรับวินิจฉัยภาวะก่อนเบาหวาน โรคเบาหวาน และติดตามผลการรักษา ซึ่งจะช่วยประเมินความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

    ตารางค่าน้ำตาลในเลือด เพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวาน

    ตารางต่อไปนี้แสดงเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะก่อนเป็นเบาหวานและโรคเบาหวานจากการตรวจวัดค่าน้ำตาลในเลือด

    วิธีตรวจค่าน้ำตาลในเลือด

    ระดับปกติ

    ภาวะก่อนเบาหวาน

    เป็นโรคเบาหวาน

    แบบสุ่ม ไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    แบบอดอาหาร ไม่เกิน 99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    แบบหลังอดอาหาร 2 ชม. ไม่เกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 140-198 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อาจมีดังนี้

    • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นผักและผลไม้น้ำตาลต่ำ เช่น กวางตุ้ง ตำลึง ผักบุ้ง ผักกาดหอม แตงกวา มะเขือ แอปเปิล องุ่น ฝรั่ง แก้วมังกร ส้ม โปรตีนอย่างเนื้อไก่ไม่ติดหนังไม่ติดมัน ธัญพืช เช่น ข้าวโอ๊ต ลูกเดือย ข้าวกล้อง ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เลย์ ซึ่งล้วนแต่ที่มีคุณค่าทางโภชนาการและใยอาหารสูง ทั้งยังมีไขมันและแคลอรีต่ำ ใช้เวลาย่อยนานและทำให้อิ่มท้อง ช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดได้ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานไม่ขึ้นสูง
    • จำกัดปริมาณหรือลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและน้ำตาลสสูง เช่น ขนมหวาน ชานม เบเกอรี ชาบู น้ำมันสัตว์ ไขมันสัตว์ และหลีกเลี่ยงการดื่มควรงดหรือลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเลิกสูบบุหรี่ เพราะล้วนแต่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยแนะนำให้ออกกำลังกายที่มีความเหนื่อยระดับปานกลาง เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ประมาณ 30 นาที/วัน อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน หรือ 150 นาที/สัปดาห์ และกระตุ้นให้ตนเองกระฉับกระเฉงอยู่เสมอ อาจเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ ลุกขึ้นขยับร่างกายยืดเส้นสาย หรือเดินเมื่อต้องนั่งทำงานนาน ๆ พยามไม่นั่งหน้าโทรทัศน์โดยไม่ขยับไปไหนเลยเป็นเวลาหลายชั่วโมงติดต่อกัน เป็นต้น
    • ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ รับประทานยาหรือฉีดอินซูลินอย่างสม่ำเสมอ ตรวจวัดค่าน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองเป็นประจำ และไปพบคุณหมอตามนัดหมายทุกครั้ง
    • ในช่วงที่ไม่สบาย ผู้ป่วยเบาหวานควรดูแลตัวเองให้ดีเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ จนอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดแปรปรวน จนอาจสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์ได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา