backup og meta

น้ำตาลในเลือด 140 หมายถึงอะไร อันตรายต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล · โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 28/03/2023

    น้ำตาลในเลือด 140  หมายถึงอะไร อันตรายต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง

    น้ำตาลในเลือด 140 คือ ค่าระดับน้ำตาลในเลือด 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งถือว่าเป็นระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติ และยังเป็นสัญญาณหนึ่งของโรคเบาหวาน ปกติแล้ว น้ำตาลในเลือดนับเป็นแหล่งพลังงานอย่างหนึ่งของร่างกายซึ่งได้จากการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่ม หรือจากการที่ร่างกายแปรรูปสารอาหาร เช่น คาร์โบไฮเดรต ไปเป็นพลังงานในร่างกาย การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ ทำได้ด้วยการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควบคุมอาหารโดยเลือกบริโภคแป้งและน้ำตาลในปริมาณจำกัด

    ระดับน้ำตาลเท่าไรจึงเรียกว่าปกติ

    ระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งทางการแพทย์ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือระหว่าง 70-99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เมื่อตรวจค่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารแล้ว 8 ชั่วโมง

    ส่วนระดับน้ำตาลในเลือดระหว่าง 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานหรือมีภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) ขณะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่านั้น หรือตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป หมายถึงกำลังเป็นโรคเบาหวาน

    ดังนั้น หากมีน้ำตาลในเลือด 140 จึงหมายความว่า มีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ที่ 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งนับว่าเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน

    น้ำตาลในเลือด 140 อันตรายไหม?

    ระดับน้ำตาลในเลือด 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แม้จะสูงกว่าระดับปกติพอสมควร โดยปกติภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพหรือความเสี่ยงต่าง ๆ ในการเกิดโรคอื่น ๆ จะเริ่มแสดงเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่าง 180-200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

    อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงหรือต่ำเกินไป ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด และหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เสมอ เพราะหากเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพจะได้รักษาทันท่วงที

    สาเหตุของน้ำตาลในเลือดสูง

    สาเหตุหลักที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงคือโรคเบาหวาน เนื่องจากตับอ่อนของผู้ป่วยเบาหวานจะผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยกว่าความต้องการของร่างกาย หรือร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินน้อยกว่าปกติ

    โดยปกติ อินซูลินจะถูกผลิตเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นหลังการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่ม ทำหน้าที่ช่วยลำเลียงน้ำตาลซึ่งถือเป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกายไปยังเซลล์ต่าง ๆ

    เมื่อร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้อย่างเพียงพอ ทำให้น้ำตาลซึ่งไม่ถูกใช้เป็นพลังงานตกค้างอยู่ในกระแสเลือดจนมีค่าระดับน้ำตาลสูงกว่าปกติ

    ทั้งนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ได้แก่

    • โรคอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน มักมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง
    • ความเครียด เป็นตัวการที่ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
    • ความดันเลือดสูง
    • ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ผู้ป่วยจะมีฮอร์โมนผิดปกติ มักส่งผลให้การผลิตฮอร์โมนอินซูลินผิดปกติไปด้วย
    • การใช้ยาขับปัสสาวะและสเตียรอยด์
    • ประวัติการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ของบุคคลในครอบครัว
    • ประวัติการเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
    • ร่างกายได้รับอินซูลินทดแทนและคาร์โบไฮเดรตไม่สมดุลกัน

    อาการผิดปกติและภาวะแทรกซ้อน หากมีน้ำตาลในเลือดสูง

    ผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือด 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และไม่ดูแลตัวเองตามคำแนะนำของคุณหมอ อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารสูงเกินเกณฑ์ปลอดภัย หรือตั้งแต่ 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป อาจพบอาการผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนต่อไปนี้

    อาการผิดปกติเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง

    • กระหายน้ำกว่าปกติ
    • ปวดหัว
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • ตาพร่ามัว
    • อ่อนเพลีย
    • ปากแห้ง
    • ลมหายใจมีกลิ่นเปรี้ยว
    • ปวดท้อง

    ภาวะแทรกซ้อนเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง

    • โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • เส้นประสาทถูกทำลาย
    • โรคไตจากเบาหวาน
    • ภาวะเบาหวานขึ้นตา
    • การติดเชื้อที่ฟัน เหงือก หรือผิวหนัง

    การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

    ระดับน้ำตาลในเลือด สามารถควบคุมไม่ให้สูงเกินไปได้ด้วยวิธีการดังนี้

    • ควบคุมอาหาร โดยหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีแป้งหรือน้ำตาลสูง เนื่องจากมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดโดยตรง
    • ออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ และวันละ 30 นาที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอินซูลินในร่างกาย ทั้งนี้ ผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรออกกำลังกายแบบต้องใช้แรงอย่างต่อเนื่อง หนักหน่วง ยาวนาน เช่น บาสเกตบอล แบดมินตัน เพราะอาจมีผลทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นระหว่างออกกำลังกายได้ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับภาวะเบาหวานของตนเอง
    • ฉีดอินซูลิน ตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด การปรับเปลี่ยนระดับการฉีดอินซูลิน ควรทำภายใต้การดูแลของคุณหมอ ซึ่งอาจจะปรับเพิ่มหรือลดได้ตามอาการและระดบน้ำตาลในเลือด แต่หากใช้อินซูลินน้อยหรือมากเกินไป จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ ซึ่งนำมาสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ การใช้อินซูลินน้อยเกินไปเป็นปัจจัยหนึ่งของภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง ขณะที่การใช้อินซูลินมากเกินไป ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ และนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
    โดยปกติค่าระดับน้ำตาลในเลือดควรอยู่ที่ 70-99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หาก น้ำตาลในเลือด สูงเกินกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ และควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างรวดเร็ว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

    โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 28/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา