backup og meta

น้ำตาลในเลือด 150 หมายถึงอะไร ถือว่าปกติหรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/03/2023

    น้ำตาลในเลือด 150 หมายถึงอะไร ถือว่าปกติหรือไม่

    ระดับน้ำตาลในเลือดสามารถบ่งชี้ภาวะสุขภาพได้ โดยทั่วไปผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงจะมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในขณะที่ผู้ทีมีภาวะเบาหวานเเล้วจะมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารสูงกว่า 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป ดังนั้นหากตรวจค่าระดับ น้ำตาลในเลือด ก่อนอาหารได้ 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จึงถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวานเเล้ว เเต่หากเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลโดยที่ไม่ได้อดอาหาร อาจบอกได้ไม่ชัดเจนนักว่ามีความเสี่ยงของโรคเบาหวานหรือไม่

    ระดับน้ำตาลเท่าไรถึงเรียกว่าปกติ

    โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติอย่างเรื้อรัง ซึ่งเป็นผลมาจากตับอ่อนไม่สามารผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ หรือ ร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน เนื่องจากฮอร์โมนอินซูลินมีหน้าทีทำให้เซลล์ต่างๆของร่างกายนำน้ำตาลไปใช้เผาผลาญเป็นพลังงาน เมื่อมีอินซูลินไม่เพียงพอ หรือ ร่างกายไม่สามารถตอบสนองกับอินซูลินได้ปกติจึงส่งผลให้มีน้ำตาลค้างอยู่ในกระแสเลือดมากกว่าปกติ เเละทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมาได้ โดยสามารถแปลผลค่าระดับน้ำตาลในเลือดคร่าวๆเป็น 3 กลุ่มดังนี้

    • ระดับปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง น้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ภาวะก่อนเบาหวาน หรือเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน (Prediabetes) ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง อยู่ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • เบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง ตั้งเเต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป
  • น้ำตาลในเลือด 150 เป็นอันตรายหรือไม่

    หากมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง เเล้วอยู่ที่ 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจบ่งชี้ได้ว่า มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน และเเนะนำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ลดลงอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน โดยเกณฑ์ระดับน้ำตาลเป้าหมายของผู้ป่วยเบาหวานที่เหมาะสม มีดังนี้

    ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ดังนี้

    • ระดับน้ำตาลก่อนรับประทานอาหาร 70-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 
    • ระดับน้ำตาลหลังรับประทานอาหาร น้อยกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 

    ผู้ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ดังนี้

    • ระดับน้ำตาลก่อนรับประทานอาหาร 60-95 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 
    • ระดับน้ำตาลหลังรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมง ไม่เกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 
    • ระดับน้ำตาลหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง ไม่เกิน 120 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 

    ภาวะแทรกซ้อนเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง

    ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรหมั่นดูแลตัวเองด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายหากผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจส่งผลให้อวัยวะและระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานผิดปกติ และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังต่อไปนี้

    • โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ภาวะหัวใจวาย ภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) อาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด (Angina) เกิดจากการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานจะทำลายผนังหลอดเลือดหัวใจเสื่อม เเละตีบหรืออุดตันได้ง่าย
    • โรคเกี่ยวกับเส้นประสาท เช่น ภาวะปลายประสาทเสื่อม เนื่องจากเส้นเลือดฝอยที่เลี้ยงเส้นประสาทเกิดการอุดตัน ทำให้เส้นประสาทนั้นๆ เสียหาย ส่งผลให้เกิดอาการมือเท้าชา หรือปวดเเสบ ๆ ร้อน ๆ ได้
    • โรคไต เช่น โรคไตวาย การที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังจะทำให้ ประสิทธิภาพการกรองของเสียของไตเสือมลง ทำให้เกิดโรคไตวายเรื้อรังตามมาได้โรคเบาหวานขึ้นตา เกิดจากหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงบริเวณจอประสาทตาเสื่อม ส่งผลให้การมองเห็นของผู้ป่วยผิดปกติ และอาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆเกี่ยวกับดวงตาได้ เช่น โรคต้อหิน โรคต้อกระจก
    • โรคผิวหนัง เมื่อโรคเบาหวานควบคุมไม่ดีอาจทำให้ผิวเเห้ง ลอก คัน เเละเกิดเเผลได้ง่าย รวมทั้งอาจร่วมกับมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงจากการเป็นโรคเบาหวาน เสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ง่ายขึ้น

    วิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง

    การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง สามารถทำได้ดังต่อไปนี้

  • เลือกรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลต่ำเเละไฟเบอร์สูง เช่น ผักใบเขียว ถั่ว ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด ที่นอกจากจะมีไฟเบอร์หรือใยอาหารสูงแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมวิตามิน เกลือแร่ และไขมันดี เนื่องจากอาหารที่มีกากใยสูงอาจช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเเละไขมันคลอเรสเตอรอล อีกทั้งระบบย่อยอาหารต้องใช้เวลาในการย่อยใยอาหารนาน ทำให้รู้สึกอยู่ท้องเเละอิ่มได้นานขึ้น จึงส่งผลดีต่อการควบคุมน้ำตาลในเลือดและน้ำหนักตัว
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น เดิน ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ วันละ 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์ จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
  • งดสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานขึ้นตา โรคไต ระบบไหลเวียนโลหิต เซลล์ประสาทเสียหาย อาจเริ่มต้นเลิกบุหรี่ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนนิโคตินและยารักษาที่ช่วยลดความอยากนิโคติน ทั้งนี้ควรปรึกษาคุณหมอก่อนเลือกใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ เนื่องจากยาอาจมีปฏิกิริยากับยารักษาเบาหวาน หรือ โรคประจำตัวอื่น ๆ ที่ใช้อยู่ได้
  • หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานสามารถตรวจระดับน้ำตาลในเลือดปลายนิ้วได้เอง โดยใช้เครื่องวัดน้ำตาลในเลือด เพื่อติดตามค่าระดับน้ำตาลในเลือดของเเต่ละวันในได้ตามเป้าหมาย ทั้งนี้ วิธีการใช้เครื่องวัดน้ำตาลในเลือดปลายนิ้วโดยทั่วไป คือ เจาะเลือดที่ปลายนิ้วโดยใช้ชุดเข็มเจาะเลือด เเล้วหยดเลือดลงบนเครื่องวัดน้ำตาล จากนั้นรอให้เครื่องแสดงผลที่หน้าจอ ซึ่งจะช่วยให้ทราบระดับน้ำตาลในเลือดในขณะนั้น และยังช่วยให้คุณหมอสามารถวางแผนในการควบคุมโรคเบาหวานได้ดียิ่งขึ้นด้วย
  • ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารเเละเครื่องดื่มที่น้ำน้ำตาลสูง ร่วมกับออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้มีสุขภาพที่เเข็งเเรง เเละระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติเเละหากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวานเเล้ว เเนะนำให้ปรึกษาคุณหมอ เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติม เเละรับการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเเทรกซ้อนจากโรคเบาหวานในอนาคต

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา