อาการ ตามัว ในผู้ป่วยเบาหวาน อาจเป็นสัญญาณของอาการเบาหวานขึ้นตา มักพบในผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดภาวะเเทรกซ้อนของดวงตา หรือเบาหวานขึ้นตาได้ เช่น จอตาเสื่อม จุดรับภาพชัดบวม ต้อหิน รวมไปถึงอาจรุนเเรงจนทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมาย และหมั่นสังเกตอาการของตัวเองอยู่เสมอ หากมีอาการตาพร่ามัวร่วมกับมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม
อาการ ตามัว เกิดจากอะไร
อาการตามัวอาจเกิดจากแมคูลาหรือจุดภาพชัด (Macula) ที่อยู่ตรงกลางของเรตินาหรือจอประสาทตา (Retina) บวม เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะทำให้หลอดเลือดที่เลี้ยงจอประสาทตาอุดตัน จนทำให้เลือดและสารต่าง ๆ รั่วซึมออกมาสู่จอตา รวมไปถึงที่จุดรับภาพชัด ซึ่งอาจส่งผลให้มองเห็นภาพไม่ชัดเจนหรือบิดเบี้ยวได้ หากเป็นช่วงระยะเริ่มเเรกซึ่งผู้ป่วยจะยังมีการมองเห็นยังค่อนข้างชัดเจนอาการจะดีขึ้นจนกลับมามองเห็นเป็นปกติได้เองเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลงลง
ปัญหาตามัวที่เกิดจากจุดรับภาพบวมจากเบาหวาน (Diabetic Macular Edema) ทำให้การมองเห็นแย่ลง ตามัวมองภาพไม่คมชัดเหมือนปกติ โดยส่วนมากเเล้วมักพบในระยะที่โรครุนเเรงไประยะหนึ่งเเล้ว ซึ่งจำเป็นต้องทำการรักษาโดยวิธีการฉีดยาเข้าในลูกตา หรือเลเซอร์จอตา เเต่หากตรวจพบภาวะนี้ในระยะแรก ๆ ก็อาจค่อย ๆ ดีขึ้นฃได้หากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม
ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลให้ได้ใกล้เคียงเป้าหมายให้มากที่สุด กล่าวคือ ระดับน้ำตาลก่อนอาหาร ควรอยู่ระหว่าง 70-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และน้อยกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง หากปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูงอย่างเรื้อรัง ไม่ควบคุมหรือรับการรักษาที่เหมาะสม อาจทำให้อาการรุนแรงจนเกิดเป็นภาวะจอประสาทตาขาดเลือด และลทำให้ตาบอดถาวรได้
ปัญหาสุขภาพตาจากเบาหวาน
นอกจากอาการ ตามัว จากจอประสาทตาเสื่อม และจุดรับภาพบวมแล้ว โรคเบาหวานอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางตาอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ได้ด้วย
โรคต้อกระจก (Cataracts)
ผู้ป่วยเบาหวานอาจเสี่ยงเกิดโรคต้อกระจกได้ง่ายขึ้นเนื่องจากน้ำตาลในเลือดสามารถเปลี่ยนไปเป็นน้ำตาลซอร์บิทอล (Sorbitol) และฟรุคโตส ซึ่งจะเข้าไปสะสมอยู่ที่เลนส์ตา และทำให้เลนส์ตาขุ่นมัวและบดบังแสงไม่ให้ทะลุผ่านเข้าไปถึงจอประสาทตา นอกจากนี้ หากควบคุมโรคเบาหวานได้ไม่ดี อาการของโรคต้อกระจกอาจรุนแรงขึ้นและจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนเลนส์ตาเดิมที่ขุ่นมัวเป็นลนส์ตาเทียมแทน
โรคต้อหิน (Glaucoma)
โรคต้อหินชนิดที่พบบ่อยในผู้เป็นเบาหวาน ได้แก่
- ต้อหินมุมเปิด (Primary open angle glaucoma) เป็นต้อหินที่พบได้บ่อยกว่าต้อหินชนิดอื่น โดยปกติเเล้วจะมีน้ำในลูกตาที่คอยหล่อเลี้ยงให้สารอาหารภายในลูกตา ซึ่งหากการระบายน้ำในลูกตาผิดปกติไป จะส่งผลให้ความดันในตาสูงและอาจทำให้เส้นประสาทตาและหลอดเลือดเสียหาย ส่งผลให้การมองเห็นแย่ลง ผู้ป่วยเบาหวานและผู้สูงอายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะนี้ได้ จึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาประจำปีเพื่อคัดกรองโรคและรับรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ทั้งนี้ โรคต้อหินมุมเปิดสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาหยอดตาเพื่อลดความดันภายในลูกตาตา
- ต้อหินจากเส้นเลือดใหม่ที่ผิดปกติในตา (Neovascular glaucoma) เป็นต้อหินที่สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานที่ควบคุมไม่ดี เนื่องจากร่างกายจะมีการสร้างหลอดเลือดภายในลูกตาขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่เปราะบางและเเตกง่าย รวมทั้งยังทำให้เกิดการดึงรั้ง หากเกิดเส้นเลือดใหม่นี้ที่บริเวณม่านตา ใกล้กับจุดระบายน้ำในลูกตา อาจขัดขวางการระบายน้ำในลูกตา ส่งผลให้ความดันในตาสูงขึ้น และเกิดเป็นภาวะต้อหินตามมา ซึ่งมักต้องอาศัยการรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ หรือการผ่าตัด
วิธีป้องกัน ตามัว เมื่อเป็นเบาหวาน
วิธีป้องกันตามัวเมื่อเป็นเบาหวาน อาจทำได้ดังนี้
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด การรักษาน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพตาจากเบาหวานได้
- ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ หากมีภาวะความดันโลหิตสูงอาจทำให้ความดันตาสูงขึ้น และกระทบต่อเส้นประสาทที่ส่งสัญญาณจากดวงตาไปยังสมอง ทำให้เป็นโรคต้อหินได้
- เลิกบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นอีกปัจจัยทำให้เส้นเลือดที่จอประสาทเสื่อม ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรงดหรือเลิกสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจากเบาหวานทั้งที่ตารวมทั้งอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย
- หลีกเลี่ยงรังสีที่เป็นอันตราย เช่น รังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวีจากดวงอาทิตย์ ที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพตา จึงควรป้องกันโดยสวมแว่นกันแดดเมื่อต้องออกไปอยู่ในที่กลางแจ้ง หรือมีแดดจัด
ผู้ที่มีภาวะเบาหวานขึ้นตาหากเป็นระยะเริ่มเเรกมักจะยังไม่มีอาการ จึงจะไม่ทราบได้ จนกว่าจะได้รับการตรวจจากคุณหมอตาหรืออาการลุกลามจนไประดับหนึ่งแล้ว ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรเข้ารับการตรวจตาประจำทุกปี เพื่อให้คุณหมอตาสามารถตรวจวินิจัยโรคที่เกี่ยวกับตาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-bmi]