backup og meta

วิธีลดน้ำตาลในเลือดคนท้อง และการดูแลตัวเองที่เหมาะสม

วิธีลดน้ำตาลในเลือดคนท้อง และการดูแลตัวเองที่เหมาะสม

คุณเเม่ที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือโรคเบาหวานในคนท้องควรให้ความสำคัญกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพราะหากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพทั้งกับคุณแม่และทารกในครรภ์ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะคลอดก่อนกำหนด ภาวะทารกเสียชีวิตในครรภ์ คุณแม่จึงควรศึกษา วิธีลดน้ำตาลในเลือดคนท้อง และวิธีการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนดังที่กล่าว ทั้งนี้ โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์เป็นภาวะที่สามารถควบคุมให้ดีได้ โดยการวางแผนการดูแลสุขภาพและเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมจากคุณหมอตลอดการตั้งครรภ์

โรคเบาหวานในคนท้องคืออะไร

โรคเบาหวานในคนท้อง หรือโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) เกิดจากเมื่อตั้งครรภ์ร่างกายของคุณเเม่จะมีการผลิตฮอร์โมนหลาย ๆ ชนิด เพิ่มมากขึ้น เช่น ฮอร์โมนจากรก ฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้มีผลทำให้ร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลินมากขึ้นกว่าปกติ (ก่อนตั้งครรภ์) ส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจากเดิม และหากระดับน้ำตาลสูงจนเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ควรปรับพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้ได้ตามเกณฑ์เป้าหมาย เพื่อลดความเสี่ยงในของภาวะแทรกซ้อนทั้งในขณะตั้งครรภ์และระหว่างการคลอดบุตร

โดยปกติแล้ว ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะหายได้เองหลังคลอด เนื่องจากฮอร์โมนต่าง ๆ ที่สูงขึ้นระหว่างตั้งครรภ์นั้น ลดลงกลับสู่สมดุลปกติ เเต่อย่างไรก็ตาม คุณหมอจะนัดตรวจทดสอบทนทานต่อน้ำตาลกลูโคสซ้ำหลังคลอด เนื่องจากคุณเเม่ที่เคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

ระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสมสำหรับคนท้อง

สำหรับคนท้องที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานอยู่ก่อน คุณหมอจะตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ในช่วงอายุครรภ์ที่ 24-28 สัปดาห์ โดยจะทดสอบความทนทานต่อกลูโคสโดยในขั้นเเรก จะเป็นการตรวจโดยไม่ต้องงดอาหารมา เมื่อถึงวันตรวจคุณหมอจะให้คุณเเม่ดื่มสารละลายกลูโคส 50 กรัม เเล้วรอเป็นระยะเวลา 1 ชั่วโมง จากนั้นจึงเจาะเลือดตรวจค่าระดับน้ำตาล หากคุณแม่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร คุณหมอจะนัดให้คุณแม่กลับมารับการทดสอบความทนทานต่อกลูโคสเพิ่มเติมขั้นที่สองอีกครั้งในสัปดาห์ถัดไป ซึ่งจะเป็นการตรวจความทนทานต่อกลูโคสแบบ 3 ชั่วโมง ในครั้งนี้ คุณแม่จะต้องงดอาหารและเครื่องดื่มมา (ยกเว้นน้ำเปล่า) 8-14 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการทดสอบ เพื่อเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารก่อน แล้วคุณหมอจะให้ดื่มสารละลายกลูโคส 100 กรัม จากนั้นจะมีการเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคสไปแล้วที่ 1 2 และ 3 ชั่วโมงตามลำดับ หากผลออกมาผิดปกติตั้งเเต่ 2 ค่าขึ้นไป แสดงว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

การรักษาโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะมุ่งเน้นไปที่การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ โดยระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสมในคนท้องที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีดังนี้

  • ระดับน้ำตาลก่อนรับประทานอาหาร 60-95 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 
  • ระดับน้ำตาลหลังรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมง ไม่เกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ระดับน้ำตาลหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง ไม่เกิน 120 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 

วิธีลดน้ำตาลในเลือดคนท้อง

แนวทางการดูแลตัวเองที่เหมาะสม ดังต่อไปนี้ อาจช่วยควบคุมโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่อาจเกิดกับคุณแม่และทารกในครรภ์ได้

การลดระดับน้ำตาลด้วยการดูแลสุขภาพตนเอง

  • ควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด คุณแม่ควรให้ความสำคัญกับชนิดเเละปริมาณอาหารที่รับประทานในเเต่ละมื้อ โดย ลดการบริโภคอาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาล เน้นเลือกบริโภคโปรตีนเพิ่มเติม โดยเป็นโปรตีนที่มีไขมันต่ำ เช่น เช่น เนื้อไก่ เนื้อปลา นมจิด และเลือกรับประทานผักและผลไม้ที่มีใยอาหารสูง เช่น แอปเปิล ธัญพืช  บร็อกโคลี คะน้า ควรหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัดหรือมีดัชนีน้ำตาลสูง เช่น ทุเรียน เงาะ มะม่วงสุก ลำไย เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูง ทั้งนี้ คุณแม่สามารถขอคำแนะนำเกี่ยวกับโภชนาการที่เหมาะสมเพิ่มเติมได้จากคุณหมอและนักโภชนาการ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายแล้ว ยังอาจช่วยกระตุ้นความไวต่ออินซูลินและช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ คุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจออกกำลังกายแบบแอโรบิคระดับความเหนือย เบา ๆ ถึงปานกลาง ที่ไม่มีการกระเเทก เช่น เดิน ปั่นจักรยานอยู่กับที่ ว่ายน้ำ/ออกกำลังกายในน้ำ ประมาณ 30นาที/วัน อย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์ โดยแนะนำให้มีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังออกกำลังกายเพื่อวอร์มร่างกาย ลดโอกาสกล้ามเนื้ออักเสบเเละ และป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อเป็นตะคริวได้

การลดระดับน้ำตาลด้วยยา

หากคุณเเม่ลองลองปรับพฤติกรรมสุขภาพด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายนานในช่วงเเรกเเล้วแต่ยังคงมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์เป้าหมาย คุณหมอจะต้องสั่งจ่ายยาที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดกลุ่มที่อาจใช้ได้ในคุณเเม่ตั้งครรภ์ เช่น ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) ซึ่งเป็นยาชนิดรับประทาน หรือยาอินซูลินแบบฉีด โดยคุณแม่ควรใช้ยาตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด ไม่ควรหยุดยาหรือเปลี่ยนยาเอง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Gestational Diabetes. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/gestational.html. Accessed June 22, 2022.

Gestational diabetes. https://www.nhs.uk/conditions/gestational-diabetes/treatment/. Accessed June 22, 2022.

Gestational diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/gestational-diabetes/symptoms-causes/syc-20355339. Accessed June 22, 2022.

Gestational Diabetes Mellitus (GDM). https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/diabetes/gestational-diabetes. Accessed June 22, 2022.

Gestational Diabetes. https://www.webmd.com/diabetes/gestational-diabetes. Accessed June 22, 2022

Diabetes During Pregnancy. https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=diabetes-and-pregnancy-90-P02444. Accessed June 22, 2022

ภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์. https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=183. Accessed June 22, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/08/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความเสี่ยงสุขภาพที่คุณแม่ป้องกันได้

GDM คือ โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สาเหตุและแนวทางการรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/08/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา