อาการ น็อค เบาหวาน หรืออาการน้ำตาลต่ำ เป็นภาวะสุขภาพที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเบาหวาน อาจเกิดขึ้นเมื่อระดับอินซูลินต่ำกว่าปกติ หรือเมื่อมีน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร มักเกิดจากการกินยารักษาเบาหวานหรือการฉีดอินซูลินเกินขนาด การกินอาหารผิดเวลา การออกกำลังกายหักโหมมากเกินไป จนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายขาดน้ำตาล จึงอาจทำให้ เกิดอาการอ่อนเพลีย ใจสั่น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ เป็นต้น บางครั้งอาจรุนแรงจนถึงขั้น ชัก หมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้นจนเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ เมื่อเกิดอาการน้ำตาลต่ำ ควรรีบรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น ลูกอม น้ำหวานหรือน้ำผลไม้ เพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วและหากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการซ้ำ ๆ ควรรีบไปพบคุณหมอ
[embed-health-tool-bmi]
อาการ น็อค เบาหวาน คืออะไร
อาการน็อคเบาหวานเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) คือ มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน (หรือระดับน้ำตาลต่ำกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในผู้ที่ไม่ไ้ด้เป็นเบาหวาน) มักเกิดขึ้นเมื่อมีอินซูลินในร่างกายปริมาณมากเกินไป จนส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงจนเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายขาดพลังงาน
อาการ น็อค เบาหวาน เป็นอย่างไร
เมื่อเกิดภาวะน็อคเบาหวาน อาจทำให้เกิดอาการ ดังนี้
- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
- อ่อนเพลีย
- เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
- หงุดหงิด กระสับกระส่าย ตื่นตระหนก ไม่มีสมาธิ
- เหงื่อออกมาก ตัวเย็น ตัวสั่น
- หิวบ่อย
- ฝันร้าย ตื่นกลางดึก (หากอาการเกิดช่วงกลางคืน)
หากมีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำเเล้ว ไม่ได้การรักษาอย่างถูกวิธี อาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นได้ เช่น
- สายตาพร่ามัว ตาดับ
- ง่วง ซึม สับสน
- ชัก
- มีพฤติกรรมผิดปกติ เช่น พูดไม่ชัด พูดไม่ออก ปากเบี้ยว อ่อนเเรงแขน-ขา
- ล้ม หรือหมดสติ
- หัวใจหยุดเต้น เสียชีวิต
สาเหตุของอาการน็อคเบาหวาน
สาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการน็อคเบาหวาน อาจมีดังนี้
- ฉีดอินซูลินหรือรับประทานยาลดระดับน้ำตาลในเลือดมากเกินขนาด
- การอดอาหาร การงดรับประทานอาหารบางมื้อ การรับประทานอาหารผิดเวลา เนื่องจากยาลดระดับน้ำตาลบางชนิดออกฤทธิ์เป็นระยะเวลานาน ดังนั้น หากอดอาหาร หรือ รับประทานอาหารไม่ตรงมื้อไป จึงทำให้เกิดอาการน้ำตาลในเลือดต่ำได้
- ทำกิจกรรมที่หนักกว่าปกติหรือออกกำลังกายอย่างหักโหมโดยไม่ได้รับประทานอาหารชดเชยเพื่อป้องกันพลังงานที่เสียเพิ่มขึ้น หรือไม่ได้ปรับขนาดยาให้เหมาะสม จนทำให้ระดับน้ำตาลลดต่ำลงจนเกินอาการน๊อคเบาหวาน
- การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากโดยไม่รับประทานอาหาร เนื่องจากในการกำจัดแอลกอฮอล์ที่ตับจะได้สารที่ไปขัดขวาง กระบวนการผลิดน้ำตาลที่ตัวตับเอง ทำให้เมือระดับน้ำตาลในเลือดเริ่มลดต่ำลงจากการที่ไม่ได้รับประทานอาหาร ตับกลับไม่สามารถผลิตน้ำตาลออกมาทดแทนได้เหมือนในภาวะอื่น ๆ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง
การวินิจฉัยอาการน็อคเบาหวาน
การวินิจฉัยอาการน็อคเบาหวานสามารถทำได้ด้วยการตรวจวัดระดับน้ำตาลโดยสามารถใช้เครื่องตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้วตรวจได้ด้วยตนเอง วิธีการเบื้องต้น คือ เจาะเลือดที่บริเวณปลายนิ้วแล้วหยดลงบนแผ่นทดสอบ จากนั้นเครื่องจะวิเคราะห์ค่าระดับน้ำตาลแล้วเเสดงผลที่หน้าจอ หากพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงว่าผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรรีบรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น ลูกอม น้ำหวาน น้ำผลไม้ เพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วและหากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการซ้ำ ๆ ควรรีบไปพบคุณหมอ
วิธีรักษาอาการน็อคเบาหวานเบื้องต้น
สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาแนะนำการปฐมพยาบาลอาการน็อคเบาหวาน โดยใช้แผนการรักษาที่เรียกว่า 15-15 ดังนี้
- ให้ผู้ป่วยกินหรือดื่มคาร์โบไฮเดรตปริมาณ 15 กรัมเพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด
- หลังจากผ่านไป 15 นาที ให้ตรวจสอบระดับน้ำตาลด้วยเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด
- หากยังมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่ายังไม่ปลอดภัย ให้บริโภคคาร์โบไฮเดรตเพิ่มอีก 15 กรัม แล้ววัดระดับน้ำตาลอีกครั้ง หากยังไม่สูงขึ้น หลังจากปฏิบัติตามขี้นตอนดังกล่าวเเล้ว 3 ครั้ง ควรรีบไปพบคุณหมอ
การป้องกันอาการน็อคเบาหวาน
ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอาจป้องกันอาการน็อคเบาหวานหรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้โดยปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- หมั่นตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้วอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในช่วงที่เหมาะสมหรือไม่ เเนะหากมีระดับน้ำตาลปลายนิ้วลดลง เช่น ต่ำกว่า 80 มิลลกรัม/เดซิลิตร เเม้จะยังไม่มีอาการผิดปกติ อาจเว้นหรือลดปริมาณอินซูลินรวมไปถึงยาลดระดับน้ำตาลในมื้อนั้น ๆ ลงชั่วคราว เพื่อป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- รับประทานยารักษาโรคเบาหวาน เเละ ใช้ยาฉีดอินซูลิน ตามขนาดและเวลาที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด รวมทั้ง ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอเกี่ยวกับการรับประทานกินอาหารและการออกกำลังกายที่เหมาะสม
- หากมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ให้จดรายละเอียดเกี่ยวกับปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะดังกล่าว เช่น เวลาที่รับประทานอาหาร อาหารที่กินล่าสุด ยาที่ใช้ การออกกำลังกาย อาการที่เกิด เพราะข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คุณหมอวินิจฉัยอาการและวางแผนการรักษาได้เหมาะสมยิ่งขึ้น