backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

เบาหวานลงไต อาการ สาเหตุ วิธีรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

เบาหวานลงไต อาการ สาเหตุ วิธีรักษา

หากสังเกตตนเองแล้วพบว่าอวัยวะบางส่วน เช่น เท้า มือ มีอาการบวมขึ้น พร้อมทั้งมีความดันโลหิตสูงมากขึ้นกว่าปกติ เเนะนำให้รีบไปพบคุณหมอ เพื่อทำการตรวจ วินิจฉัยเพิ่มเติมโดยเร็ว เพราะอาการดังกล่าวนี้ เป็นสัญญาณของ ภาวะเบาหวานลงไต (Diabetic Nephropathy หรือ Diabetic Kidney Disease) ได้

คำจำกัดความ

เบาหวานลงไต คืออะไร

โรคเบาหวานลงไต หรือ ภาวะเบาหวานลงไต (Diabetic Nephropathy หรือ Diabetic Kidney Disease) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ทั้งในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่1 (Type 1 diabetes) และ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 diabetes) โดยไตจะมีประสิทธิภาพในการทำงานลงเรื่อย

โดยที่ไตเป็นอวัยวะหลักที่ทำหน้าที่ในการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย ดังนั้น

เมื่อไตไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ จึงส่งผลให้ของเสียในร่างกายคั่งเเละเกิดอาการ รวมถึงควาผิดปกติของระบบอื่น ๆ ตามมา หรืออาจกล่าวง่ายๆ ว่าอาการนี้ก็คือ โรคไตจากเบาหวาน นั่นเอง

เบาหวานลงไต พบบ่อยเพียงใด

ภาวะเบาหวานลงไต (Diabetic Kidney Disease) พบได้ประมาณมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน การควบคุมโรคเบาหวานให้ดี จะช่วยป้องกัน เเละ ชะลอความเสื่อมของไตในอนาคตได้

อาการ

อาการของเบาหวานลงไต

ในระยะเริ่มต้นนั้นอาการของโรคไตจากเบาหวาน หรือ ภาวะเบาหวานลงไต มักจะไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจน แต่หากปล่อยให้ไตมีความเสื่อมมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้มีอาการ ดังต่อไปนี้

  • ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น
  • ตรวจพบปัสสาวะมีโปรตีนรั่วเพิ่มมากขึ้น
  • มีอาการบวมที่เท้า ข้อเท้า เปลือกตา
  • ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ
  • อ่อนเพลีย เหนือยง่าย
  • เบืออาาหาร
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • มีอาการคันตามร่างกาย

หากมีอาการที่สงสัยว่าอาจเป็นภาวะเบาหวานลงไต หรือ มีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการอื่น ๆ เเนะนำให้ไปพบคุณหมอเพื่อปรึกษาเพิ่มเติม

ควรไปพบหมอเมื่อใด

หากคุณมีอาการที่สงสัยว่ามีภาวะเบาหวานลงไต ดังเช่นที่ระบุข้างต้น หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวโรคเพิ่มเติม เเนะนำให้ปรึกษากับคุณหมอที่ดูเเลอีกครั้ง เนื่องจากร่างกายของแต่ละบุคคลอาจมีการตอบสนอง หรือ อาการเเสดงที่แตกต่างกันออกไป ทางที่ดีที่สุดจึงควรปรึกษาคุณหมอถึงอาการรวมทั้งวิธีรักษาที่ดีเหมาะสมสำหรับเเต่ละบุคคล

สาเหตุ

สาเหตุของ ภาวะเบาหวานลงไต

สาเหตุของ ภาวะเบาหวานลงไต นั้นค่อนข้างที่จะมีความซับซ้อน เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกระจุกหลอดเลือดฝอยในไต หรือ โกลเมอรูลัส (Glomerulus) ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการกรองของเสีย หากเมื่อควบคุมเบาหวานไม่ดี ระดับนำ้ตาลที่สูงอย่างเรื้อรังจะส่งผลให้ โกลเมอรูลัสเสียหาย กระบวนการขับของเสียที่ไตจึงทำหน้าที่ได้ลดลง เเละเกิดเป็นภาวะไตเสื่องเรื้อรัง ซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดปัญหากับอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายตามา

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของ ภาวะเบาหวานลงไต

ภาวะเบาหวานลงไต หรือโรคไตจากเบาหวาน สามารถพบได้ทั้งในผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

  • ผู้ที่ไม่สามารถควบคุมเบาหวานให้ได้ดี ปล่อยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน เรื้อรัง
  • มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือ ไม่ควบคุมระดับควมดันให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งโดยทั่วไปเเล้ว ผู้ป่วยเบาหวาน ควรมีความดันโลหิตสูงไม่เกิน 130/80 มิลลิเมตรปรอท
  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง

การวินิจฉัยและการรักษา

*ข้อมูลในบทความนี้ เป็นเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานที่อาจเป็นประโยชน์ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมโปรดปรึกษาคุณหมออีกครั้งเพื่อความปลอดภัย

การวินิจฉัย ภาวะเบาหวานลงไต

การวินิจฉัย ภาวะเบาหวานลงไต มีวิธีการตรวจหลัก ๆ สองประเภทคือ

  • การตรวจเลือด เพื่อนตรวจค่าการทำงานของไต ซึ่งสามารถบอกได้ว่าไตมีการทำงานมากน้อยเพียงใด เเละใช้บอกว่าไตมีความเสื่อมอยู่ในระะดับใด (ไตเสื่อมมี 5 ระดับ ซึ่งสุดท้ายอาจจำเป็นต้องเข้ารับการฟอกไต)
  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจปริมาณโปรตีนที่รั่วออกมาในปัสสาวะ

การรักษา ภาวะเบาหวานลงไต

สำหรับการลดความเสี่ยงของการเป็นโรคไตจากเบาหวาน หรือ อาการเบาหวานลงไต นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลดความดันโลหิต และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยที่อาจมียาบางกลุ่มที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันหรือชะลอการเสื่อมของไตได้ ดังต่อไปนี้

  • ยา SGLT2 inhibitors ซึ่งเป็นยารักษาโรคเบาหวาน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ เเละ ชะลอการเสื่อมของไตได้
  • ยาในกลุ่ม Angiotensin converting enzyme หรือ ACE inhibitors เเละยากลุ่มAngiotensin receptor blockers หรือ ARBs ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะความดันโลหิตสูง เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะเบาหวานลงไตได้

การปรับพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม

การปรับพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมจะช่วยชะลอความเสื่อมของไต รวมทั้งยังป้องกันภาวะเบาหวานลงไตได้อีกด้วย โดยสามารถทำได้เบื้องต้นดังนี้

  • เลิกสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่จะมีผลทำให้การทำงานไตเเย่ลงได้
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม การมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสมอยู่ในเกณฑ์มาตฐานจะช่วยให้ร่างกายจัดการกับน้ำตาลส่วนเกินได้ดีขึ้น เเละยังพบว่าผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน หากลดน้ำหนักตัวลงได้ เพียง 10% ก็จะช่วยให้ควบคุมโรคเบาหวานได้ดีขึ้นอีกด้วย
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีส่วนช่วยให้ควบคุมโรคเบาหวานได้ดีขึ้น รวมไปถึงช่วยลดภาวะความดันโลหิตสูง เเล ไขมันในเลือดสูง ซึ่งต่างส่งผลดีกับไต
  • เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ อาจยึดหลัก “ลดเค็ม ลดมัน ลดหวาน” เพื่อมิให้ไตต้องทำงานหนัก
  • สำหรับผู้ป่วยด้วยโรคไต หรือโรคเบาหวาน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรในเรื่องของการใช้ยา หลีกเลี่ยงการซื้อยาเเก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ รวมทั้งยาสมุนไพรเเละอาหารเสริมรับประทานเอง เนื่องจากยากลุ่มดังกล่าวอาจส่งผลให้การทำงานของไตลดลง จนถึงขั้นไตวายได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา