backup og meta

รองเท้า เบาหวาน เลือกอย่างไรให้เหมาะสม

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

    รองเท้า เบาหวาน เลือกอย่างไรให้เหมาะสม

    รองเท้า เบาหวาน คือรองเท้าที่ได้รับการออกเเบบเเละผลิตมาให้เหมาะสมสำหรับเท้าผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อดูแลและปกป้องสุขภาพเท้าของผู้ป่วยที่อาจมีปัญหาระบบปลายประสาทเสื่อม และหลอดเลือดส่วนปลายตีบซึ่งเป็นภาวะเเทรกซ้อนที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังเป็นเวลานาน ทำให้มีอาการเท้าชา เป็นแผลได้โดยที่มักจะไม่ทันรู้ตัว จึงอาจปล่อยทิ้งไว้จนแผลติดเชื้อลุกลามและรักษาหายยาก ทั้งนี้การเลือกใช้รองเท้าที่เหมาะสม อาจช่วยป้องกันผู้ป่วยเบาหวาน มิให้เกิดปัญหาเท้าเบาหวานได้  โดยในขั้นต้นควรเลือกรองเท้าที่มีขนาดเหมาะสมกับเท้า หัวไม่แหลม น้ำหนักเบา เเละ ระบายอากาศได้ดี

    รองเท้า สำคัญอย่างไรกับผู้ป่วยเบาหวาน

    ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมโรคไม่ดี มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้ผนังของหลอดเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาทต่าง ๆ ได้รับความเสียหายจนเกิดปัญหาระบบเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม ทำให้มีอาการชา เสี่ยงเป็นแผลโดยไม่รู้ตัว จึงมักไม่ได้รับการรักษา จนกระทั่งแผลติดเชื้อและลุกลาม กลายเเป็นเเผลเรื้อรัง

    นอกจากนี้ ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ยังทำให้เสี่ยงต่อการมีไขมันมาสะสมในหลอดเลือดมากขึ้น จนทำให้หลอดเลือดตีบเเคบลง ขัดขวางการไหลเวียนของเลือดซึ่งคอยขนส่งออกซิเจน สารอาหาร และแร่ธาตุต่าง ๆ เพื่อไปรักษาบาดแผลบริเวณเท้า ทำให้บาดแผลของผู้ป่วยเบาหวานหายช้ากว่าปกติ

    จึงเเนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเท้าชา หรือ เท้าเบาหวาน  ควรสวมรองเท้าหรือถุงเท้าตลอดเวลา เเม้จะอยู่ภายในบ้านเพื่อป้องกันมิให้เท้าเป็นแผลหรือเกิดรอยขีดข่วน รวมทั้งลดความเสี่ยงในการเกิดแผลติดเชื้อซึ่งอาจลุกลามแผลเบาหวานจนเกิดเนื้อตาย หรือทำให้ เกิดปัญหาร้ายแรงต่อสุขภาพตามมาได้

    รองเท้า เบาหวาน ควรเลือกอย่างไรให้เหมาะสม

    วิธีเลือกรองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวานให้เหมาะสม มีเเนวทางดังนี้

    • เลือกรองเท้าที่หัวไม่แหลมเกินไป ให้นิ้วเท้าสามารถขยับได้ ไม่เบียดกันหรือเสียดสีจนอาจเกิดแผลพุพอง
    • เลือกรองเท้าที่มีน้ำหนักเบา และระบายอากาศได้ดี เพื่อลดการอับชื้นและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อราบริเวณเท้า อีกทั้งส้นรองเท้าควรได้รับการออกแบบเพื่อช่วยรองรับแรงกดหรือแรงกระแทกได้ดี
    • หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าส้นสูง เนื่องจากทรงของรองเท้าจะเพิ่มแรงกดไปยังบริเวณฝ่าเท้าส่วนบน ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเสียดสี ช้ำ หรือเกิดแผลรองเท้ากัด ทั้งนี้ ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการเท้าชา อาจไม่ทราบว่าตนเองเจ็บหรือมีเเผลขณะใส่รองเท้าส้นสูงได้
    • หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าแตะ รองเท้าสาน หรือรองเท้าที่เผยให้เห็นส่วนของนิ้วเท้า เนื่องจากอาจป้องกันนิ้วเท้าจากการบาดเจ็บได้ไม่ดีนัก นอกจากนั้น อาจเสี่ยงต่อการเกิดบาดเเผลหากมีกรวดหรือหินก้อนเล็ก ๆ เข้ามาในรองเท้า
    • เลือกรองเท้าที่พื้นผิวด้านในเรียบนุ่ม มีความยืดหยุ่น และมีความหนาพอสมควร ส่วนด้านนอกรองเท้าควรแข็งแรงไม่หักงอหรือเสียรูปง่ายเกินไป นอกจากนี้ ควรเลือกสวมรองเท้าที่สามารถปรับขนาดได้ เช่น แบบมีเชือกผูก หรือแถบตีนตุ๊กเเก เพราะจะช่วยให้รองเท้ามีความกระชับและประคับประคองเท้าขณะเคลื่อนไหวได้ดีกว่า อีกทั้ง ขนาดเท้ายังอาจบวมขยายใหญ่ขึ้นเมื่อเวลาเดินนาน ๆ ได้
    • หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าที่แน่นหรือรัดจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดการเสียดสีเเละกดทับจนเป็นแผล ที่สำคัญ ควรเลือกรองเท้าที่ใส่แล้วรู้สึกสบาย ไม่อึดอัด เดินสะดวก
    • ควรเลือกซื้อรองเท้าในช่วงเวลาเย็นของวัน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เท้ามักขยายใหญ่สุด หากลองรองเท้าแล้วรู้สึกสวมใส่สบาย อาจตัดสินใจเลือกซื้อได้
    • ผู้ป่วยเบาหวานบางรายที่มีเท้าผิดรูป ควรปรึกษาคุณหมอหรือเลือกซื้อรองเท้าที่ได้รับการออกแบบโดยเฉพาะ หรือ สั่งตัดรองเท้าโดยเฉพาะเพื่อให้เหมาะกับรูปร่างเท้าเเละดูแลรักษาสุขภาพเท้าได้ดีกว่า

    คำแนะนำในการสวม รองเท้า สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

    ผู้ป่วยเบาหวานควรสวมรองเท้า ตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • ควรสวมถุงเท้าร่วมกับรองเท้าเสมอ เพื่อป้องการเสียดสีระหว่างผิวหนังกับรองเท้า ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลหรือติดเชื้อได้
    • ควรเปลี่ยนรองเท้าเมื่อใช้จนส้นรองเท้าบางหรือสึกลงมาก เนื่องจากประสิทธิภาพในการรับน้ำหนักเเละการประคับประคองการทรงตัวของร่างกายจะลดลง โดยสังเกตจากสภาพและลักษณะของส้นรองเท้าหรือแผ่นรองรองเท้าด้านในที่ยุบตัวลง
    • ควรมีรองเท้าสำหรับใส่ประจำ 2 คู่ ใช้สลับกันเพื่อการใช้งานที่ยาวนาน และสำรองไว้หากคู่ใดคู่หนึ่งสึกหรอ

    การดูแลเท้า สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

    นอกจากการเลือกรองเท้าที่เหมาะสมเเล้ว ผู้ป่วยเบาหวานควรดูแลรักษาสุขภาพเท้าด้วยวิธีเบื้องต้นต่อไปนี้

  • หมั่นสังเกตเท้าอยู่เสมอว่ามีบาดแผล รอยขีดข่วน หรือแผลพุพองหรือไม่ หากเกิดแผลจะได้รีบรักษาได้อย่างทันท่วงที
  • รักษาความสะอาดของเท้าอยู่เสมอ ด้วยการล้างทำความสะอาด เช็ดให้แห้ง และทาครีมบำรุงเพื่อป้องกันผิวแห้งแตก
  • ตัดเล็บเท้าให้สั้นอยู่เสมอ รวมทั้งตะไบเล็บให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันมิให้เล็บฉีก หรือ ซ้น หากปล่อยให้เล็บยาวจนเกินไป
  • เเนะนำให้นั่งยกขาขึ้นเหนือพื้น เช่น หาเก้าอี้เล็ก ๆ มารองเท้า หรือออกกำลังกายเท้าด้วยการสะบัดเท้าไปด้วย เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณฝ่าเท้า
  • ตรวจสุขภาพเท้ากับคุณหมออย่างสม่ำเสมอ
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา