backup og meta

ลักษณะของโรคเบาหวานที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และวิธีรับมือ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 09/02/2023

    ลักษณะของโรคเบาหวานที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และวิธีรับมือ

    โรคเบาหวานที่พบในผู้สูงอายุ มักมีการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยผู้ดูแลหรือคนรอบข้างอาจสังเกตอาการได้ เช่น ตาพร่ามัว อ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลด ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการที่เกิดจากร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง การทราบข้อมูลเกี่ยวกับ ลักษณะของโรคเบาหวานที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และวิธีการรับมืออย่างเหมาะสม จะช่วยให้สามารถดูแลสุขภาพของผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบไตวาย โรคจอประสาทตาเสื่อม

    โรคเบาหวานในผู้สูงอายุเกิดจากอะไร

    โรคเบาหวานในผู้สูงอายุ อาจเกิดจากความผิดปกติของอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อน มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมสมดุลระดับน้ำตาลในเลือด โดยฮอร์โมนอินซูลินจะช่วยกระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายนำน้ำตาลในเลือดไปเปลี่ยนใช้เป็นพลังงาน แต่เมื่ออายุมากขึ้น ตับอ่อนอาจเสื่อม จึงส่งผลให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินได้น้อยลง นอกจากนี้ โรคเบาหวานในผู้สูงอายุยังอาจเกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นภาวะที่เซลล์ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินบกพร่อง จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น และนำไปสู่โรคเบาหวานในเวลาต่อมา

    ลักษณะของโรคเบาหวานที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ

    ลักษณะของโรคเบาหวานที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ อาจสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เมื่อตรวจหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง หรือระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เมื่อตรวจน้ำตาลในเลือดแบบสุ่ม
  • กระหายน้ำบ่อย 
  • หิวบ่อย รับประทานอาหารมากขึ้น
  • ปัสสาวะบ่อย ต้องตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืน
  • น้ำหนักลดลงกะทันหัน
  • รู้สึกไม่มีแรง อ่อนเพลีย เหนื่อยล้าง่าย
  • มองเห็นภาพไม่ชัดเจน
  • แผลหายช้า
  • ผิวแห้งคัน
  • วิธีดูแลผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวาน

    หากสังเกตพบอาการที่เป็นสัญญานของโรคเบาหวาน หรือตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดสูง แนะนำให้ดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวานเบื้องต้น ด้วยวิธีดังนี้

    • ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ เช่น การเลือกอาหารในแต่ละมื้อ การฉีดอินซูลิน การรับประทานยาลดระดับน้ำตาล รวมถึงการออกกำลังกาย เพื่อควบคุมอาการเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์
    • พาผู้สูงอายุไปพบคุณหมอตามนัดสม่ำเสมอ
    • หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดให้ผู้สูงอายุเป็นประจำ และจดบันทึกค่าน้ำตาลในเลือดรวมถึงช่วงเวลาที่ตรวจ เพื่อให้ทราบระดับน้ำตาลโดยรวมในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยให้สามารถควบคุมเบาหวานได้ดีขึ้น และใช้เป็นข้อมูลเพื่อแจ้งให้คุณหมอทราบ และช่วยปรับการรักษาให้เหมาะสมกับตัวผู้ป่วยได้ดีขึ้น
    • ดูแลสุขภาพช่องปาก โดยควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ และใช้ไหมขัดฟัน เพื่อช่วยกำจัดเศษอาหารที่อาจติดอยู่ตามซอกฟัน เพราะผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะเสี่ยงเกิดโรคปริทันต์ โรคเหงือกอักเสบ และฟันผุได้ง่าย หากพบว่าผู้สูงอายุมีเหงือกบวม หรือมีเลือดออกตามไรฟัน ควรรีบพาไปพบคุณหมอฟัน
    • หากควบคุมโรคเบาหวานได้ไม่ดี อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อและทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย จึงควรพาผู้สูงอายุเข้ารับการฉีดวัคซีนต่าง ๆ เช่น วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนป้องกันโรคปอดบวม วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ตามกำหนด
    • ดูแลสุขภาพผิว ด้วยการทาโลชั่นหรือมอยส์เจอร์ไรเซอร์ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว และป้องกันไม่ให้ผิวแห้ง 
    • เลิกบุหรี่และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • ผู้ดูแลหรือคนรอบข้างควรเป็นกำลังใจ หรือหากิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำเพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียด เช่น พาไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ ออกกำลังกาย ร้องเพลง เต้นรำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 09/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา