ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) หรือ อาการน้ำตาลต่ำ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นหากผู้ป่วยเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร มักพบในผู้ที่ใช้ยาลดระดับน้ำตาลบางกลุ่มและใช้อินซูลินเพื่อลดน้ำตาลในเลือด และหากเป็นเบาหวานมานานกว่า 5-10 ปี หรือมีโรคร่วม เช่นโรคไต โรคตับ ก็จะยิ่งเสี่ยงเกิดภาวะนี้ได้ง่ายขึ้น ภาวะน้ำตาลต่ำอาจทำให้เกิดอาการ เช่น อ่อนเพลีย เซื่องซึม ง่วงนอน กระสับกระส่าย หงุดหงิดง่าย หัวใจเต้นรัว หากน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรงก็อาจทำให้ชัก หมดสติ หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดของตัวเองอยู่เสมอ รับประทานอาหารและยาให้ตรงเวลา และควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเอง เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมและสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น
[embed-health-tool-bmi]
อาการน้ำตาลต่ำ ในผู้ป่วยเบาหวาน เกิดจากอะไร
อาการน้ำตาลต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน อาจเกิดสาเหตุต่อไปนี้
- ยารักษาเบาหวาน ในผู้ป่วยเบาหวานที่จำเป็นต้องรับประทานยาเพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ยาบางกลุ่ม เช่น ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) อย่างไกลเมพิไรด์ (Glimepiride) ไกลพิไซด์ (Glipizide) ไกลบูไรด์ (Glyburide) รวมทั้งยาฉีดอินซูลิน อาจทำให้เกิดอาการน้ำตาลในเลือดต่ำได้ หากได้รับยาในขนาดที่สูงเกินไป หรือใช้ยาไม่ถูกวิธี
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ เหล้า ไวน์ หากดื่มในปริมาณมาก หรือดื่มโดยที่ไม่รับประทานอาหาร อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำกว่าปกติได้ เนื่องจากในกระบวนการกำจัดแอลกอฮอล์ที่ตับจะทำให้เกิดสารที่ไปรบกวนสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำตามมา
- ออกกำลังกายหักโหมเกินไป เมื่อผู้ป่วยเบาหวานออกกำลังกายหนักหรือหักโหมกว่าปกติ จะทำให้ร่างกายนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานมากขึ้น จึงอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
- รับประทานอาหารน้อยกว่าปกติหรือไม่ตรงเวลา การรับประทานอาหารในปริมาณลดลง การอดอาหารบางมื้อ รวมถึงการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา เช่น ช้ากว่าเวลาปกติ ในขณะที่รับประทานยาลดระดับน้ำตาลหรือฉีดยาอินซูลินในปริมาณหรือเวลาเดิม จะทำให้เกิดอาการน้ำตาลต่ำได้ เนื่องจากร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตซึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในปริมาณน้อยลง เมื่อรับประทานยาในเวลาเดิมหรือในปริมาณเท่าเดิมแต่ระดับน้ำตาลในเลือดขณะนั้นต่ำกว่าปกติ จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปได้
ภาวะน้ำตาลต่ำ มีอาการเป็นอย่างไร
หากผู้ที่เป็นเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงมาอยู่ที่ 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตรหรือต่ำกว่านั้น อาจทำให้เริ่มมี อาการน้ำตาลต่ำ ดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ อาการน้ำตาลต่ำที่พบในผู้ป่วยเบาหวานอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน
- สับสน มึนงง กระวนกระวาย
- วิงเวียนศีรษะหรือปวดศีรษะ
- สายตาพร่ามัว
- รู้สึกโหยหรือหิวบ่อย
- หงุดหงิดง่าย
- เหงื่อออกมาก ตัวเย็น
- ใจสั่น หัวใจเต้นรัว
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- ง่วงนอน
- หากเกิดอาการช่วงหลับ อาจทำให้ฝันร้ายได้
ภาวะแทรกซ้อนของ อาการน้ำตาลต่ำ ในผู้ป่วยเบาหวาน
หากเริ่มมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำแล้วไม่ได้รับการรักษาหรือแก้ไขอย่างทันท่วงที อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงต่ำมากจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยผู้ป่วยอาจมีอาการแสดงดังนี้
- ซึม ปลุกไม่ตื่น หมดสติ โคม่า
- ชัก
- หัวใจหยุดเต้น เสียชีวิต
วิธีรับมือเมื่อผู้ป่วยเบาหวานมีอาการน้ำตาลต่ำ
อาการน้ำตาลต่ำ ในผู้ป่วยเบาหวาน สามารถดูแลและรักษาเบื้องต้นเองได้ ดังนี้
การรักษาอาการน้ำตาลต่ำโดยทันที
- รับประทานอาหารที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวเพื่อให้ได้รับคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม เช่น น้ำหวานหรือน้ำผลไม้ 150-200 มิลลิลิตร น้ำตาลชนิดก้อน 2 ก้อน น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ ลูกอม 4-5 เม็ด เนื่องจากร่างกายสามารถดูดซึมได้ง่าย ช่วยให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นหลังจากรับประทานได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นให้รับประทานอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเพื่อให้ได้รับคาร์โบไฮเดรตอีก 15 กรัม เช่น นมจืด 1 กล่อง ขนมปัง 1 แผ่น กล้วยน้ำว้า 1 ผล ซึ่งร่างกายจะค่อย ๆ ดูดซึมเพื่อรักษาให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้นานพอ แล้วตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากรับประทานประมาณ 15 นาที หากระดับน้ำตาลยังน้อยกว่า 70 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ให้รับประทานทานอาหารดังที่กล่าวมาซ้ำจนกว่าระดับน้ำตาลจะมากกว่า 70 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร จึงจะถือว่าปลอดภัย
- หากมีอาการน้ำตาลต่ำช่วงใกล้ถึงมื้ออาหาร ให้รับประทานอาหารที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวเพื่อให้ได้รับคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม แล้วตามด้วยมื้ออาหารปกติ
- ในช่วง 12-24 ชั่วโมงแรกหลังจากระดับน้ำตาลในเลือดกลับสู่ระดับปกติ ให้หมั่นสังเกตอาการ และรับประทานของว่างหรือขนมที่ดีต่อสุขภาพ เช่น โยเกิร์ต เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วอบแห้ง ขนมปังโฮลวีท เพื่อป้องกันน้ำตาลในเลือดลดต่ำเกินไป และควรหาสาเหตุของอาการน้ำตาลต่ำด้วย หากมีอาการบ่อย ๆ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม และพิจารณาปรับยาให้เหมาะสมขึ้น
การรักษาอาการน้ำตาลต่ำรุนแรงโดยทันที
หากผู้ป่วยมีอาการน้ำตาลต่ำรุนแรงจนต้องได้รับการช่วยเหลือจากคนรอบข้างและไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ในต่างประเทศจะมีการใช้ยาฮอร์โมนชื่อกลูคากอนที่ออกฤทธิ์ช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้เร็วในกรณีฉุกเฉิน แต่ยานี้ยังไม่แพร่หลายในไทยมากนัก สำหรับในประเทศไทย หากผู้ป่วยหมดสติ ผู้ช่วยเหลือไม่ควรพยายามให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำหวานเนื่องจากอาจทำให้สำลักได้ ซึ่งจะเป็นอันตรายมากขึ้น ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล หรือเรียกรถพยาบาลเพื่อได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด
วิธีลดความเสี่ยงในการเกิด อาการน้ำตาลต่ำ ในผู้ป่วยเบาหวาน
วิธีดูแลสุขภาพเบื้องต้นเพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ สามารถทำได้ดังนี้
- รับคำปรึกษาด้านโภชนาการ พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสมกับชีวิตประจำวันหรือภาวะสุขภาพของผู้ป่วยอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้ ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาคุณหมอ หรือนักโภชนากรที่เชี่ยวชาญด้านโรคเบาหวาน เพื่อช่วยให้สามารถวางแผนโภชนาการ รวมถึงเลือกอาหารได้อย่างเหมาะสม
- ปรึกษาคุณหมอเพื่อปรับยาลดระดับน้ำตาล ภาวะน้ำตาลต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากชนิดหรือปริมาณยาที่ใช้ไม่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพ จึงแนะนำให้ปรึกษาคุณหมอเพื่อปรับขนาดยาหรืออาจเปลี่ยนชนิดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายมากที่สุด เพื่อให้สามารถควบคุมโรคเบาหวานได้ดี โดยที่ไม่เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
[embed-health-tool-bmr]