การรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะหากระดับน้ำตาลสูงเกินกว่า 180-200 มิลลกรัม/เดซิลิตร อาจทำให้เกิด อาการเบาหวานขึ้น หรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น อาการโคม่าจากเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด ไตวาย เส้นประสาทถูกทำลาย ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานควรสังเกตสัญญาณเตือนของอาการเบาหวานขึ้น หรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หากสังเกตเห็นว่าตนเองมีอาการ ควรเข้าพบคุณหมอ เพื่อขอคำปรึกษาและคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีบรรเทาอาการ
วิธีสังเกต อาการเบาหวานขึ้น หรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
อาการเบาหวานขึ้น หรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อาจสังเกตได้จากอาการต่อไปนี้
- ปัสสาวะบ่อยและกระหายน้ำมากขึ้น โดยปกติผู้คนทั่วไปอาจปัสสาวะประมาณ 4-7 ครั้ง/วัน แต่ผู้ที่มีปัสสาวะบ่อยครั้งมากกว่าปกติ อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายเริ่มมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หรือมีอาการเบาหวานขึ้นแล้ว เนื่องจากร่างกายจะทำการขับน้ำตาลส่วนเกินออกทำให้ปัสสาวะบ่อยและอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำ ทำให้รู้สึกกระหายน้ำมากกว่าปกติ
- คันผิวหนัง ปากแห้ง เพราะร่างกายที่ขาดน้ำจากการปัสสาวะบ่อยอาจทำให้ผิวขาดความชุ่มชื้น ส่งผลให้ผิวแห้ง ปากแห้ง มีอาการคันบริเวณผิวหนัง
- หิวมากกว่าปกติและรู้สึกเหนื่อยล้า เนื่องจากตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายไม่อาจเปลี่ยนอาหารเป็นน้ำตาลเพื่อให้ดึงไปใช้เป็นพลังงานได้ จึงส่งผลให้รู้สึกหิวมากกว่าปกติและร่างกายอ่อนแรง เหนื่อยล้า
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หากตรวจพบว่าน้ำตาลในเลือดสูงหลังอาหารสูงกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ตามหลักเกณฑ์วินิจฉัยเบาหวาน สามารถวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานได้
- คลื่นไส้ อาเจียน ร่างกายอาจหลั่งกรดที่เรียกว่า คีโตน (Ketone) ออกมากปริมาณมากขณะที่เผาผลาญไขมัน ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic Ketoacidosis) จนส่งผลให้รู้สึกคลื่นไส้
- การมองเห็นเปลี่ยนแปลง เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอาจทำให้เส้นเลือดและเนื้อเยื่อบริเวณดวงตาได้รับผลกระทบ ส่งผลทำให้เลนส์ตาไม่โฟกัสวัตถุ มองเห็นเป็นภาพซ้อน ตาพร่ามัว
- การติดเชื้อ เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายอ่อนแอลง จึงเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น มีการเจริญเติบโตของเชื้อราอย่างรวดเร็ว จนนำไปสู่อาการติดเชื้อที่ผิวหนังบริเวณมือ หน้าอก เท้า ช่องคลอด อวัยวะเพศ เป็นต้น
- ระบบประสาทเสื่อม เนื่องจากในเส้นประสาทมีเส้นเลือดเล็ก ๆ ไปหล่อเลี้ยง เมื่อใดที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอาจขัดขวางการไหลเวียนของเลือด รวมถึงการไหลเวียนเลือดในเส้นประสาท ทำให้ระบบประสาทเสื่อมถอย จนมีอาการมือชา เท้าชา และเสี่ยงต่อโรคอัมพฤกษ์
สาเหตุที่ทำให้มีอาการเบาหวานขึ้น หรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเบาหวานขึ้น หรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง แบ่งออกตามประเภทของโรคเบาหวานได้ ดังนี้
- โรคเบาหวานชนิดที่ 1 อาจเกิดจากปัจจัยทางด้านพันธุกรรมและปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ปัจจัยเหล่านี้จะยังไม่แน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำลายเซลล์ในตับอ่อน เนื่องจากตับอ่อนมีบทบาทสำคัญที่คอยผลิตอินซูลินช่วยในการเผาผลาญน้ำตาลให้เปลี่ยนเป็นพลังงาน ส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนนำไปสู่โรคเบาหวาน
- ภาวะก่อนเบาหวาน และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจเกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอ หรือร่างกายมีอินซูลินแต่ไม่สามารถนำไปใช้ได้ หรือที่เรียกอีกอย่างว่า ภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งนำไปสู่การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง นอกจากนี้ พฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหารไม่ดีต่อสุขภาพ ขาดการออกกำลังกาย โรคอ้วน ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะก่อนเบาหวาน หรือโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้เช่นกัน
- โรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ เนื่องจากเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ที่ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยาก ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ คลอดบุตรยาก หรือทารกคลอดก่อนกำหนด
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง จนนำไปสู่อาการเบาหวานขึ้น หรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เช่น
- การรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น ขนมปังขาว พาสต้า
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์
- ขาดการออกกำลังกายในการกระตุ้นการผลิตอินซูลิน
- ลืมการรับประทานยาหรือการใช้อินซูลินบรรเทาอาการ
- มีภาวะติดเชื้อ และอาการเจ็บป่วย
- มีความเครียดทางอารมณ์ และขาดการพักผ่อนที่เหมาะสม
การปรับพฤติกรรมและการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการเบาหวานขึ้น หรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างอาจช่วยป้องกันอาการเบาหวานขึ้น หรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง รวมถึงหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน โดยอาจทำได้ดังนี้
- ตรวจน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ ด้วยเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดและจดบันทึกค่าน้ำตาลในเลือดที่ได้แต่ละครั้ง เพื่อแจ้งให้คุณหมอทราบในการตรวจสุขภาพครั้งถัดไป เพราะการตรวจน้ำตาลในเลือดอาจทำให้เห็นถึงผลลัพธ์ของยา และแผนการรักษาว่ามีประสิทธิภาพในการควบคุมอาการเบาหวานมากน้อยเพียงใด
- ใช้ยาตามที่คุณหมอแนะนำ หากกังวลในการลืมรับประทานยาหรือฉีดอินซูลิน อาจตั้งเวลาแจ้งเตือนไว้ในแต่ละวัน หรือจดบันทึกเอาไว้
- ควรจำกัดปริมาณการรับประทานเนื้อสัตว์ รวมถึงอาหารแปรรูป และเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีไขมันดี แคลอรี่ต่ำ ใยอาหารสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า อัลมอนด์ ถั่วลิสง มะเขือเทศ ผักใบเขียว ขนมปังโฮลวีต เพื่อช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาล ไขมัน คอเลสเตอรอล และลดระดับน้ำตาลในเลือด หากกังวลเรื่องการเลือกรับประทานอาหาร อาจขอคำแนะนำจากคุณหมอหรือ นักโภชนาการ เพื่อวางแผนการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม
- ออกกำลังกาย อย่างน้อย 30 นาที เป็นเวลา 5 วัน/สัปดาห์ เช่น การวิ่ง เดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน โยคะ เพื่อช่วยให้ร่างกายกระตุ้นการผลิตอินซูลิน ลดระดับน้ำตาลในเลือด
- ลดน้ำหนักส่วนเกิน อย่างน้อย 7%-10% ของน้ำหนักตัว เพื่อให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น โดยเลือกควบคุมการรับประทานอาหารและออกกำลังกายสม่ำเสมอ สำหรับสตรีตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการลดน้ำหนักและปรึกษาคุณหมอถึงเกณฑ์น้ำหนักระหว่างตั้งครรภ์ที่เหมาะสม เพื่อรับคำแนะนำอย่างถูกวิธี
- หยุดสูบบุหรี่ เนื่องจากมีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าภาวะดื้อต่ออินซูลินสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่
[embed-health-tool-bmi]