backup og meta

อาการเบาหวานเริ่มต้น มีอะไรบ้าง

อาการเบาหวานเริ่มต้น มีอะไรบ้าง

อาการเบาหวานเริ่มต้น คืออาการแรก ๆ ที่พบได้เมื่อเป็นโรคเบาหวาน โดยอาจสังเกตได้จากอาการกระหายน้ำมากขึ้น ปัสสาวะบ่อย เหนื่อยล้าง่าย บางคนอาจมีอาการตาพร่ามัว อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีอาการดังกล่าว อาจแสดงถึงร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดค่อนข้างสูง เเละ เป็นมานานซักระยะหนึ่งเเล้ว เพราะจริง ๆ เเล้ว หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงไม่มาก และเป็นช่วงเริ่มต้นนั้น มักจะยังไม่ทำให้ปัญหากับระบบต่าง ๆ ของร่างกาย จึงยังไม่มีอาการแสดงใด ๆ ให้เห็น ดังนั้นหากพบว่ามีอาการข้างต้นควรเข้ารับการตรวจหาโรคเบาหวานและรับการรักษาจากคุณหมอ รวมถึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เช่น ลดการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง ออกกำลังกาย สม่ำเสมอ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม ก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากโรคเบาหวาน

[embed-health-tool-bmr]

เบาหวานเกิดจากอะไร

โรคเบาหวาน มีสาเหตุหลัก ๆ สองประการ คือ สาเหตุเเรก คือตับอ่อนซึ่งมีหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนอินซูลินถูกทำลายไป จึงทำให้ร่างกายมีอินซูลินไม่เพียงพอ ซีึ่งฮอร์โมนอินซูลินนั้นมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เซลล์ของร่างกาย นำน้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือดเข้าสู่เซลล์ เพื่อเผาผลาญให้เกินเป็นพลังงาน ดังนั้นเมื่อร่างกายมีอินซูลินไม่เพียงพอ เซลล์จึงไม่สามารถดึงน้ำตาลจากในกระเเสเลือดได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่าปกติ และกลไกนี้เป็นกลไกที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1

สาเหตุประการที่สอง คือเบาหวานที่อาจเกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน คือการที่เซลล์ในร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เเม้จะมี อินซูลินเพียงพอในร่างกาย เเต่เซลล์ก็ไม่สามารถนำน้ำตาลไปเผาผลาญได้เหมาะสม จึงส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยที่กลไกนี้ เป็นกลไกหลักที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2

วิธีสังเกต อาการเบาหวาน

อาการเบาหวานเริ่มต้น อาจสังเกตได้ดังนี้

  • ไม่มีอาการ ในผู้ที่เริ่มมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือเป็นเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงนัก มักจะยังไม่มีอาการเเสดงใดๆ ดังนั้นในผู้ที่มีความเสี่ยง เช่นมีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน หรือมีโรคอ้วน เเนะนำให้ปรึกษาคุณหมอเพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งจะทำให้สามารถวินิจฉัยโรคเบาหวานได้เร็ว และสามารถให้การรักษาได้เหมาะสม ก่อนที่จะเกิดอาการหรือภาวะเเทรกซ้อนเเล้ว
  • กระหายน้ำมากและปัสสาวะบ่อย ปกติแล้วคนทั่วไปมักปัสสาวะ 4-7 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในร่างกาย และโดยมากหากนอนหลับเเล้ว มักจะตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืน ไม่เกิน 1-2 ครั้ง แต่ในผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวานหรือมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจมีอาการปัสสาวะบ่อย เนื่องจากเมือระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ไตจะขับน้ำตาลส่วนเกินทิ้งทางปัสสาวะ และเมื่อปัสสาวะบ่อยขึ้น จึงสูญเสียน้ำออกจากร่างกาย สมองจึงกระตุ้นให้รู้สึกกระหายน้ำ เพื่อให้เราดื่มน้ำมาทดแทนที่เสียไป
  • หิวบ่อย และมีอาการเหนื่อยล้า โรคเบาหวานหากควบคุมได้ไม่ดี นอกจากจะทำให้ร่างกายขาดน้ำแล้ว การที่ร่างกายไม่สามารถจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม ทำให้ร่างกายขาดพลังงาน จึงเกิดอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย และ อาจทำให้รู้สึกอยากอาหารมากกว่าปกติ
  • ปากแห้ง ผิวแห้ง และมีอาการคันผิวหนัง การที่ร่างกายขาดน้ำเนื่องจากปัสสาวะบ่อยเกินไปส่งผลให้มีอาการปากแห้ง ผิวแห้ง และคันที่ผิวหนัง
  • สายตาพร่ามัว ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหากเป็นเรื้อรัง อาจส่งผลให้จอประสาทตาบวมทำให้มองเห็นเป็นภาพไม่ชัดเจน
  • น้ำหนักลดลง ปกติแล้วอินซูลินจะทำหน้าที่ดึงน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์ใช้เป็นพลังงาน แต่ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานกระบวนการนี้จะบกพร่องไปทำให้ร่างกายจำเป็นต้องเผาผลาญกล้ามเนื้อและไขมันมาใช้เป็นพลังงานแทน จึงส่งผลให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วได้
  • แผลหายช้า เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน จะส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนเลือด เนื่องจากทำให้เส้นเลือดเสื่อมเเละอุดตันได้ และยังทำให้เส้นประสาทเสียหาย นอกจากนี้ยังทำให้ระบบภูมีคุ้มกันอ่อนเเอลง ดังนั้นหากมีแผลเกิดขึ้น จึงอาจทำให้แผลหายช้ากว่าปกติได้
  • เท้าชา เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงทำให้หลอดเลือดและเส้นประสาทบริเวณเท้าเสียหาย ส่งผลให้เกิดอาการชา หรือในบางรายมีอาการปวดแสบที่บริเวณปลายเท้า

การรักษาอาการเบาหวานเริ่มต้น

แม้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานโดยส่วนมากเเล้วไม่จะสามารถรักษาให้หายขาด เเต่อย่างไรก็ตามสามารถควบคุมให้ร่างกายยังคงมีสุขภาพที่ดีได้โดย

  • รับประทานยา ในปัจจุบันมียารักษาเบาหวานอยู่หลายชนิด ซึ่งออกฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลผ่านกลไลต่างๆที่ต่างกันออกไป คุณหมอจะเลือกพิจารณาเลือกใช้ยาตามความเหมาะสมของผู้ที่เป็นเบาหวานเเต่ละรายไป
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ พืชตระกูลถั่ว และธัญพืชไม่ขัดสี เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมาย และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ของทอด ขนมเค้กและเบเกอร์รี่ต่าง ๆ ด้วย
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที หรือ 150 นาที/สัปดาห์ โดยเป็นการออกกำลังกายความเหนื่อยระดับกลาง เช่น เดิน วิ่งเหยาะ ๆ ปั่นจักรยาน เพราะ นอกจากการออกกำลังกายช่วยทำให้ร่างกายเเข็งเเรงโดยรวมเเล้ว ยังช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน ทำให้สามารถจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้นด้วย
  • หยุดสูบบุหรี่ พบว่าสารนิโคตินในบุหรี่ทำให้เซลล์มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ดังนั้น การสูบบุหรี่นอกจากจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมแล้ว ยังทำให้เบาหวานควบคุมไม่ดีอีกด้วย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Early Signs and Symptoms of Diabetes. https://www.webmd.com/diabetes/guide/understanding-diabetes-symptoms.Accessed June 22, 2022

Diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes/symptoms-causes/syc-20371444.Accessed June 22, 2022

Prediabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/prediabetes/symptoms-causes/syc-20355278.Accessed June 22, 2022

Prediabetes (Borderline Diabetes). https://www.webmd.com/diabetes/what-is-prediabetes.Accessed June 22, 2022

Diabetes Symptoms. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/symptoms.html.Accessed June 22, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/07/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

แนวทางการปฏิบัติตนเมื่อคนในครอบครัวป่วยเป็นเบาหวาน

อาหารโรคเบาหวาน ที่ผู้ป่วยควรรับประทานและควรหลีกเลี่ยง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา