backup og meta

เครื่องตรวจเบาหวาน ใช้เพื่ออะไร และใช้งานอย่างไร

เครื่องตรวจเบาหวาน ใช้เพื่ออะไร และใช้งานอย่างไร

เครื่องตรวจเบาหวาน เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถวัดระดับน้ำตาลในเลือดรายวันได้ด้วยตัวเอง เครื่องมือนี้เป็นประโยชน์ต่อการติดตามอาการของผู้ป่วย ช่วยในการบันทึกการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในแต่ละวัน และอาจช่วยให้คุณหมอกำหนดแนวทางการรักษาได้อย่างเหมาะสม ผู้ใช้งานเครื่องตรวจเบาหวานควรศึกษาข้อมูลและปฏิบัติตามคำแนะนำในเอกสารกำกับของเครื่องอย่างเคร่งครัด หากพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงกว่าเกณฑ์เป้าหมาย ควรไปพบคุณหมอ

[embed-health-tool-bmi]

เครื่องตรวจเบาหวาน คืออะไร

เครื่องตรวจเบาหวาน เป็นอุปกรณ์วัดระดับน้ำตาลในเลือดที่ใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ช่วยในการประเมินค่าระดับน้ำตาลในเลือดในแต่ละวันของผู้ป่วยว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ ผู้ป่วยสามารถใช้เครื่องนี้ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองได้ที่บ้าน วิธีการใช้งานทั่วไป คือ หยดเลือดจากปลายนิ้วลงบนแถบทดสอบ เพื่อให้เครื่องตรวจวิเคราะห์ค่าน้ำตาลในเลือด จากนั้นเครื่องจะแสดงผลตรวจบนหน้าจอดิจิตอล ค่าที่ได้สามารถบอกถึงระดับน้ำตาลในแต่ละช่วงเวลาของวัน ซึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการใช้ยารักษาโรคของผู้ป่วย

ระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสม

ระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน อาจมีดังนี้

สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2

  • 70-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก่อนรับประทานอาหาร
  • น้อยกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 2 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร

สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

  • 95 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือน้อยกว่า ก่อนรับประทานอาหาร
  • 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือน้อยกว่า หลังรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมง
  • 120 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือน้อยกว่า หลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง

บุคคลที่ควรใช้ เครื่องตรวจเบาหวาน

ผู้ที่ควรใช้เครื่องตรวจเบาหวาน มีดังนี้

  • ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 อาจตรวจประมาณ 4-10 ครั้ง/วัน
  • ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 อาจตรวจประมาณ 1-2 ครั้ง
  • ผู้ที่รักษาเบาหวานด้วยการฉีดอินซูลิน อาจต้องใช้เครื่องตรวจเบาหวานประมาณ 1-2 ครั้ง/วัน ขึ้นอยู่กับปริมาณของอินซูลินที่ใช้
  • ผู้ที่ใช้ยารักษาเบาหวาน จำนวนของการตรวจขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอ
  • ผู้ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง

ทั้งนี้ จำนวนครั้งในการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยเครื่องตรวจเบาหวานอาจขึ้นอยู่กับชนิดของเบาหวาน และวิธีการรักษาของผู้ป่วยแต่ละรายด้วย หากมีปัจจัยด้านสุขภาพที่อาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดดังตัวอย่างต่อไปนี้ คุณหมออาจแนะนำให้ใช้เครื่องตรวจเบาหวานบ่อยขึ้น

  • เปลี่ยนยารักษาเบาหวาน
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร
  • ปรับกิจกรรมประจำวันหรือวิธีการออกกำลังกาย
  • มีภาวะเครียดรุนแรงขึ้น
  • มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น ไม่สบาย ซึ่งอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น

ประโยชน์ของการใช้เครื่องตรวจเบาหวาน

ประโยชน์ของการใช้เครื่องตรวจเบาหวาน อาจมีดังนี้

  • ทำให้ทราบข้อมูลของระดับน้ำตาลในเลือดว่าสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์หรือไม่
  • ช่วยให้ประเมินผลการรักษาที่ผ่านมา และสามารถวางแผนการรักษาในอนาคตได้ตรงจุดมากขึ้น
  • ช่วยให้เรียนรู้พฤติกรรมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการใช้ยารักษาโรคในแต่ละวัน และสามารถประเมินได้ว่าส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดอย่างไร
  • ใช้ในการตรวจวินิจฉัยหรือประเมินแนวโน้มในการเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ และภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเกินเกณฑ์เป้าหมาย
  • อาจช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวันให้กับผู้ป่วยได้ ผู้ป่วยอาจต้องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยเครื่องตรวจเบาหวานก่อนและหลังทำกิจกรรมที่ระดับน้ำตาลในเลือดอาจส่งผลให้เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุหรือปัญหาสุขภาพอื่น เช่น การขับรถ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาเบาหวานซึ่งอาจมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ จนทำให้อ่อนเพลียและเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

วิธีใช้เครื่องตรวจเบาหวาน

ขั้นตอนการทดสอบน้ำตาลในเลือดด้วยเครื่องตรวจเบาหวาน มีดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดและเช็ดมือให้แห้งก่อนใช้เครื่องตรวจเบาหวาน
  • ใช้แผ่นแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดบริเวณปลายนิ้วที่จะเจาะเลือด จากนั้นใช้เข็มทิ่มที่ปลายนิ้วเพื่อให้มีเลือดออกเล็กน้อย
  • แตะเลือดที่ปลายแถบทดสอบ
  • ใส่แถบทดสอบลงในเครื่องตรวจเบาหวาน
  • เครื่องตรวจเบาหวานจะแสดงค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่วัดได้บนหน้าจอของเครื่อง
  • บันทึกค่าน้ำตาลในเลือดที่ได้
  • ห่อเข็มที่ใช้เจาะปลายนิ้วรวมถึงวัสดุปนเปื้อนอื่น ๆ ให้มิดชิด จากนั้นนำไปทิ้งในถังขยะทันที
เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำและเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน ผู้ใช้งานเครื่องตรวจเบาหวานควรศึกษาข้อมูลและปฏิบัติตามเอกสารกำกับของเครื่องอย่างเคร่งครัด และควรตรวจสอบให้ดีว่าได้ตั้งค่าเครื่องอย่างถูกต้อง รวมถึงตรวจสอบวันหมดอายุของแถบทดสอบก่อนใช้งาน และควรรักษาความสะอาดเครื่องตรวจอยู่เสมอ หากพบว่าเครื่องตรวจเสียหรือมีปัญหาก็ไม่ควรใช้งานต่อ เพราะอาจทำให้ได้ค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่ไม่ถูกต้อง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Home Blood Sugar Testing. https://www.webmd.com/diabetes/home-blood-glucose-testing. Accessed June 16, 2022

checking your blood sugar levels. https://www.diabetes.org.uk/guide-to-diabetes/managing-your-diabetes/testing. Accessed June 16, 2022

Diabetes Test Strips. https://www.webmd.com/diabetes/diabetes-test-strips. Accessed June 16, 2022

Monitoring Your Blood Sugar Level. https://familydoctor.org/monitoring-your-blood-sugar-level/. Accessed June 16, 2022

การตรวจเลือดที่ปลายนิ้วด้วยตนเองสำคัญอย่างไร. https://www.si.mahidol.ac.th/th/division/diabetes/admin/knowledges_files/1_44_1.pdf. Accessed June 16, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

16/03/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ตรวจน้ำตาลในเลือดที่บ้าน (Home Blood Glucose Test)

ตรวจเบาหวานด้วยตัวเอง ที่บ้าน ทำได้อย่างไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 16/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา