ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง หลายคนจึงอาจมีคำถามว่า เป็น เบาหวานแล้วสามารถกินอะไรได้บ้าง เพื่อให้ร่างกายได้สารอาหารอย่างเหมาะสม ผู้ป่วยเบาหวานสามารถรับประทานอาหารได้เกือบทุกชนิด แต่อาจต้องพิถีพิถันในการเลือกอาหารและกำหนดปริมาณที่รับประทานให้เหมาะสม
[embed-health-tool-bmi]
ผู้ป่วย เบาหวานกินอะไรได้บ้าง
ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงที่ระดับน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มสูงขึ้นได้ง่าย คุณหมอจึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานดูแลเรื่องการรับประทานอาหารเป็นพิเศษ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม และป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจตามมา โดยปกติผู้ป่วยเบาหวานสามารถรับประทานอาหารได้เกือบทุกชนิด เพียงแต่ต้องเลือกชนิดของอาหารและควบคุมปริมาณอาหารให้เหมาะสม ดังนี้
คาร์โบไฮเดรต
คาร์โบไฮเดรตแหล่งพลังงานหลักของร่างกาย มักพบในอาหารจำพวกข้าว แป้ง และ น้ำตาล ซึ่งเมื่อรับประทานเข้าไปในร่างกายแล้ว จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น คาร์โบไฮเดรตที่แนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานเลือกรับประทานจะเน้นเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ได้แก่ ข้างกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวโอ๊ต ควินัว ขนมปังโฮลวีท ธัญพืชไม่ขัดสี เมล็ดพืช เพราะคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนจะมีสัดส่วนน้ำตาลน้อยกว่า แต่อุดมไปด้วยใยอาหารสูง ซึ่งมีส่วนช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลได้ สัดส่วนของคาร์โบไฮเดรตที่รับประทานในแต่ละมื้อ ควรประมาณไม่เกิน1 ใน 4 ของอาหารทั้งหมด
โปรตีน
โปรตีนเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์มาก เป็นแหล่งพลังงาน ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ผู้ที่เป็นเบาหวานควรเลือกรับประทานโปรตีนทีมีคุณภาพดี เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน/หนัง เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ ไข่ โปรตีนจากพืชตระกูลถั่ว เช่น เต้าหู้ และควรหลีกเลี่ยงโปรตีนที่มีไขมันอิ่มตัวร่วมด้วย ได้แก่ เนื้อแดง (โดยเฉพาะส่วนที่มีไขมันแทรกมาก) เนื่องจากไขมันดังกล่าว ส่งผลให้มี คลอเรสเตอรอลสูง นำไปสู่ โรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง ตามมาได้สัดส่วนของโปรตีนในแต่ละมื้อ ควรรับประทานประมาณ ประมาณ 1 ใน 4 ของอาหารทั้งหมด
ไขมัน
ไขมันเป็นหนึ่งในสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันดี เช่น อะโวคาโด น้ำมันรำข้าว น้ำมันคาโนล่า น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดทานตะวัน ปลาแซลมอน ปลาทูน่า
ในแต่ละมื้อควรมีสัดส่วนของไขมันไม่เกิน 10 – 20 เปอร์เซนต์ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับต่อวัน (
ผักและผลไม้
ผู้ป่วยเบาหวานสามารถรับประทานผักได้ทุกชนิด เช่น ผักใบเขียว มะเขือเทศ แครอท คะน้า ผักปวยเล้ง เห็ด หัวหอม มะเขือม่วง กะหล่ำดาว บวบ โดยสามารถรับประทานทั้งแบบสดหรือปรุงสุกด้วยวิธีปิ้ง ย่าง ลวก ต้ม หรือนึ่ง เพื่อให้รับประทานได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
ส่วนผลไม้ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาล หรือค่า GI (Glycemic Index) ต่ำ เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ลูกพลัม ลูกแพร์ ลูกพีช แอปเปิ้ล ส้ม กีวี่ มะละกอ ฝรั่ง ชมพู่ แตงโม แคนตาลูป เนื่องจากจะไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงมากนักหลังรับประทาน แต่หากบริโภคครั้งละปริมาณมากก็จะทำให้ระดับน้ำตาลขึ้นสูงได้เช่นกัน
สัดส่วนการรับประทานผักในแต่ละมื้อ ควรรับประทานผักประมาณครึ่งหนึ่งของอาหารทั้งหมด และผลไม้ประมาณ 1 ส่วน หรือ ประมาณ 1 จานเล็ก
น้ำดื่ม
เครื่องดื่มที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน คือ น้ำเปล่า อย่างไรก็ตามสามารถดื่มเครื่องดื่มที่แคลอรี่ต่ำหรือไม่เติมน้ำตาลได้เช่น ชา กาแฟดำ นมไขมันต่ำ หรือ ในบางครั้งอาจดื่มเครื่องดื่มที่ใช้ให้ความหวาน (non sugar sweetener) แทนได้ การดื่มน้ำผักหรือผลคั้นสดสามารถดื่มได้ครั้งคราวแต่ไม่บ่อยนัก เนื่องจากจะได้รับน้ำตาลจากผลไม้ร่วมด้วย แนะนำเป็นการรับประทานผักผลไม้สดจะได้ประโยชน์จากเส้นใยไฟเบอร์ ซึ่งมีส่วนช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาล และอาจช่วยลดความอยากอาหารได้อีกด้วย
ในแต่ละวัน ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 2-3 ลิตร โดยแนะนำให้ดื่มนำ้ 1 – 2 แก้ว หลังจากรับประทานอาหารแต่ละมื้อ และอย่าลืมดื่มน้ำในช่วงระหว่างวัน
อาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยง
ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มบางชนิด ที่อาจเสี่ยงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นและเสี่ยงก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้
- อาหารที่มีไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวสูง เช่น อาหารที่ปรุงโดยการทอด อาหารมัน มันฝรั่งทอด ขนมกรุบกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เบเกอรี่ อาหารแช่แข็ง
- อาหารที่มีเกลือและโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารหมักดอง อาหารรสจัด เช่น อาหารจำพวกยำ (แนะนำให้ทานน้ำยำแต่น้อย)
- ขนมหวาน เช่น เค้ก คุกกี้ ขนมไทย ลูกกวาด ไอศกรีม ขนมอบ
- เครื่องดื่มที่เติมน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ที่เติมน้ำตาล เครื่องดื่มเกลือแร่ เครื่องดื่มชูกำลัง