เบาหวานเกิดจากอะไร เป็นคำถามที่อาจตอบได้ยาก เนื่องจากโรคเบาหวานอาจเกิดขึ้นได้หลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น ตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ ร่างกายไม่ตอบสนองกับอินซูลิน รวมถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหารในชีวิตประจำวัน เป็นต้น เพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัด ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือด หากตรวจพบว่าเป็นเบาหวาน หรือมีแนวโน้มว่าเสี่ยงเป็นเบาหวาน จะได้ดูแลตนเองและเข้ารับการรักษาอย่างตรงจุดและทันท่วงที
[embed-health-tool-bmi]
เบาหวานเกิดจากอะไร
เบาหวาน ปัญหาสุขภาพเรื้อรังที่เกิดจากร่างกายไม่สามารถจัดการฮอร์โมนที่เรียกว่า อินซูลิน ได้อย่างเหมาะสม อาจเกิดจากตับอ่อนผลิตได้ไม่เพียงพอ หรือร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน โดยอินซูลินมีหน้าที่สำคัญในการนำกลูโคสจากอาหารที่รับประทานออกจากกระแสเลือด เข้าสู่เซลล์ในร่างกายเพื่อแปรเปลี่ยนเป็นพลังงาน นำไปใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน หากร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ จนเป็นโรคเบาหวาน อาจทำให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไต และสูญเสียการมองเห็นได้
สำหรับสตรีตั้งครรภ์อาจเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากร่างกายในช่วงตั้งครรภ์อาจผลิตฮอร์โมนสร้างความสมดุล คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และ โปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งฮอร์โมนเหล่านั้นอาจไปกระทบต่อเซลล์ที่ทำให้ร่างกายดื้ออินซูลิน นำไปสู่โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ประเภทของเบาหวาน
ประเภทของเบาหวาน แบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
- เบาหวานชนิดที่ 1 อาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่อง ส่งผลให้ทำลายเซลล์ในตับอ่อนที่มีหน้าที่ผลิตอินซูลิน จนไม่อาจสร้างอินซูลินให้เพียงพอต่อร่างกาย โดยส่วนใหญ่เบาหวานชนิดนี้อาจพบได้บ่อยในเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่
- เบาหวานชนิดที่ 2 สำหรับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจเกิดจากตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ หรือเซลล์ของร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ โดยเบาหวานชนิดที่ 2 อาจพบได้บ่อยในช่วงวัยเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ความดันโลหิตสูง กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ รวมถึงพันธุกรรมจากคนในครอบครัวที่มีประวัติเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
อาการและสัญญาณเตือนเบาหวาน
อาการและสัญญาณเตือนเบาหวานทั่วไป อาจสังเกตได้จากอาการเหล่านี้
- กระหายน้ำมาก
- รู้สึกหิวตลอดเวลา
- เหนื่อยล้าง่าย
- มือเท้าชา
- ผิวแห้ง
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด
- ตาพร่ามัว มองเห็นสิ่งรอบตัวเป็นภาพซ้อน
- ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะเวลากลางคืน
- แผลหายช้ากว่าปกติ
- การติดเชื้อบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ผิวหนัง เหงือก ช่องคลอด
อาการของเบาหวานชนิดที่ 1 อาจส่งผลให้มีอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง ร่วม และอาจเกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์หรือนานหลายเดือน เช่น การมองเห็นเปลี่ยนแปลง การขับปัสสาวะมากเกินไป สำหรับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจไม่ปรากฏอาการใด ๆ หรืออาจมีอาการก็ต่อเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยผู้ใหญ่
การรักษาเบาหวาน
การรักษาเบาหวานทั้งเบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานชนิดที่ 2 อาจมีดังนี้
- อินซูลิน ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการบำบัดด้วยอินซูลินในรูปแบบฉีด เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยอินซูลินที่คุณหมออาจกำหนดให้ใช้ คือ อินซูลินที่ออกฤทธิ์ในระยะสั้น อินซูลินที่ออกฤทธิ์เร็ว และอินซูลินที่ออกฤทธิ์นาน ซึ่งคุณหมออาจพิจารณาจากผลตรวจสุขภาพ
- รับประทานยาชนิดอื่น ๆ คุณหมออาจกำหนดยาชนิดอื่นตามอาการที่ผู้เป็น เช่น เมตฟอร์มิน (Metformin) กลุ่มยาเอสจีแอลที 2 (SGLT2) อาจช่วยกระตุ้นให้ตับอ่อนผลิตและปล่อยอินซูลิน หรือยับยั้งกระบวนการปล่อยคลูโคสออกจากตับ และขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ในกระเพาะอาหารเพื่อช่วยให้เซลล์ไวต่ออินซูลินมากขึ้น
- การปลูกถ่ายตับอ่อน วิธีนี้อาจเหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 เพื่อปลูกถ่ายตับอ่อนใหม่ให้ผลิตอินซูลินได้ดีกว่าเดิม
วิธีป้องกันเบาหวาน
การป้องกันเบาหวานชนิดที่ 1 อาจไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาจปรับพฤติกรรมเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดี ด้วยวิธีเดียวกับการป้องกันเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ดังนี้
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โดยการเลือกอาหารที่มีไขมันและแคลอรีต่ำ แต่มีใยอาหารสูง เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืชเต็มเมล็ด
- ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที/วัน โดยอาจขอเข้ารับการปรึกษาจากคุณหมอเพื่อร่วมวางแผน หรือจัดตารางการออกกำลังกายให้เหมาะสมต่อสุขภาพ
- ลดน้ำหนักส่วนเกิน การลดน้ำหนักอาจมีส่วนช่วยลดโอกาสเป็นโรคเบาหวาน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่อาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดหัวใจ