backup og meta

Type 2 diabetes (เบาหวานชนิดที่ 2) อาการ ภาวะแทรกซ้อน การป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 04/01/2023

    Type 2 diabetes (เบาหวานชนิดที่ 2) อาการ ภาวะแทรกซ้อน การป้องกัน

    Type 2 diabetes (เบาหวานชนิดที่ 2) คือ โรคเบาหวานที่มีสาเหตุหลักมาจากภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งเป็นภาวะที่การตอบสนองต่ออินซูลินของเซลล์ร่างกายบกพร่อง จึงทำให้ไม่สามารถนำน้ำตาลในกระเเสเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งผลให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้น จนนำไปสู่โรคเบาหวานได้ ผู้ที่เสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้เเก่ ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือ ผู้ที่เป็นโรคอ้วน ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี รวมไปถึงผู้ที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary lifestyle) ไม่ค่อยออกกำลังกาย โรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะต่างจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายเซลล์ตับอ่อน ทำให้ผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอ เเละมักพบตั้งเเต่วัยเด็กจนถึงช่วงวัยรุ่น

    ภาวะแทรกซ้อน Type 2 diabetes (เบาหวานชนิดที่ 2)

    โรคเบาหวานชนิดที่ 2 หากไม่ควบคุมให้ดี อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

    • โรคหัวใจและหลอดเลือด หากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์เป้าหมายเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เส้นเลือดทั่วทั้งร่างกายเสื่อมลง จึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง 
    • ภาวะเบาหวานขึ้นตา หากคุมเบาหวานได้ไม่ดี นอกจากเส้นเลือดทั่วทั้งร่างกายจะเสื่อมแล้ว ยังทำให้เส้นเลือดที่จอประสาทตาเสียหายได้ด้วย จนทำให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา ภาวะจอประสาทตาเสื่อม รวมทั้งโรคต้อหิน เเละโรคต้อกระจก หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจรุนเเรงจนทำให้ตาบอดได้
    • เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม เมื่อควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเป็นเวลานานจะส่งผลให้เส้นประสามเสื่อม มักเริ่มที่เส้นประสาทบริเวณส่วนปลายนิ้วมือ ปลายนิ้วเท้า เป็นต้น ทำให้รู้สึกชาที่ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า หรืออาจทำให้รู้สึกปวด เเสบ เสียวซ่าได้
    • โรคไต หากปล่อยให้ระดับในตาลในเลือดสูงเรื้อรัง อาจทำให้เป็นโรคไตเสื่อมเรื้อรัง และแม้จะกลับมาควบคุมเบาหวานได้ดีแล้ว ก็จะไม่สามารถฟื้นฟูการทำงานของไตให้กลับมาดังเดิมได้ หากการทำงานของไตลดลงมากจนไม่สามารถขับของเสียออกจากร่างกายได้ ผู้ป่วยจำเป็นเข้ารับการรักษาด้วยการล้างไตหรือปลูกถ่ายไต
    • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคอ้วน หรือภาวะน้ำหนักเกินร่วมด้วย
    • ผิวหนังติดเชื้อ ผู้ป่วยที่ควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง นอกจากจะทำให้ผิวเเห้ง เสี่ยงระคายเคืองได้ง่ายแล้ว ยังทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนเเอ จนติดเชื้อได้ง่ายด้วย

    อาการของ Type 2 diabetes (เบาหวานชนิดที่ 2)

    อาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถสังเกตได้จากสัญญาณเตือนดังต่อไปนี้

    • รู้สึกหิวบ่อย กระหายน้ำบ่อยกว่าปกติ ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น
    • รู้สึกเหนื่อยล้าง่าย หมดแรง
    • ตาพร่ามัว มองเห็นภาพไม่ชัดเจน
    • น้ำหนักลดลงกะทันหัน หรือน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
    • ปัสสาวะบ่อย ตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืนหลังจากนอนหลับไปเเล้ว
    • แผลหายช้ากว่าปกติ
    • ชาปลายมือปลายเท้า
    • มีผื่นสีคล้ำ โดยเฉพาะบริเวณลำคอ และรักแร้
    • ติดเชื้อราเป็น ๆ หาย ๆ และกลับมาเป็นซ้ำ ๆ

    วิธีป้องกันที่ควรรู้

    การป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจเริ่มจากการปรับพฤติกรรมสุขภาพในชีวิตประจำวัน ดังนี้

    • นอนหลับให้เพียงพอ แนะนำให้นอนหลับ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน 
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเน้นรับประทานผักและผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำให้มากขึ้น จำกัดแคลอรีที่ได้รับในเเต่ละวันให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทไขมันทรานส์ เช่น ขนมหวาน ผลิตภัณฑ์จากแป้งขัดขาว ในปริมาณมาก
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน เช่น เดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ จะช่วยให้ร่างกายจัดการกับน้ำตาลได้ดีขึ้นเเละลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
    • จัดการกับความเครียด เพราะเมื่อรู้สึกเครียด หรือกดดัน ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนความเครียด เช่น คอร์ติซอล (Cortisol) อะดรีนาลีน (Adrenaline) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านกับอินซูลิน จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และควบคุมเบาหวานได้ยากขึ้น

    อย่างไรก็ตาม สภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกันไป ดังนั้นแนวทางในการเลือกรับประทานอาหารและการออกกำลังกายจึงอาจแตกต่างกันตามไปด้วย ทั้งนี้อาจให้ปรึกษาคุณหมอ เพื่อขอคำเเนะนำในการวางแผนสุขภาพอย่างเหมาะสมเพิ่มเติม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 04/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา