เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังซึ่งผู้ป่วยจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ และหากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเรื่อย ๆ จะยิ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ความดันสูง โรคหลอดเลือดสมอง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจ เป็นเบาหวานไม่รู้ตัว เป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี เพราะไม่มีอาการหรือสัญญาณเตือน แม้ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงกว่าคนปกติแล้วก็ตาม
[embed-health-tool-bmi]
เบาหวาน คืออะไร
เบาหวาน เป็นภาวะเรื้อรังอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ หรือตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป (หากตรวจขณะที่อดอาหาร) และหากไม่ดูแลสุขภาพให้ดี ปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เช่น ภาวะเบาหวานขึ้นตา โรคไต โรคหัวใจ เส้นประสาทเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง
เบาหวานแบ่งได้เป็น 3 ชนิดหลัก ๆ โดยมีสาเหตุและรายละเอียดดังนี้
- เบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย สร้างภูมิไปทำลายเบตา เซลล์ (Beta Cells) ของตับอ่อน ซึ่งมีหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน จึงทำให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอตามความต้องการของร่างกาย ส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น โดยเบาหวานชนิดที่ 1 นี้มักตรวจวินิจฉัยได้ตั้งเเต่ช่วงเด็กและวัยรุ่น
- เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคเบาหวานชนิดที่พบมากที่สุด หรือประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เป็นเบาหวานทั้งหมด เกิดจากการที่เซลล์ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินผิดปกติไปหรือได้ว่ามีภาวะดื้ออินซูลิน ผู้ที่เสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้แก่ ผู้ที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ออกกำลังกาย มีภาวะความดันโลหิตสูง ผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกิน
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นโรคเบาหวานที่เกิดกับคุณเเม่ที่กำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากการที่รกผลิตฮอร์โมนฮิวแมน พลาเซนต้า แลกโตรเจน (Human Placental Lactogen หรือ HPL) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ส่งผลกให้เซลล์ในร่างกาย เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินเพิ่มขึ้น จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ รวมถึงอาจเพิ่มความเสี่ยงทางสุขภาพของทั้งคุณเเม่ตั้งและทารกในครรภ์
อาการของโรคเบาหวาน
อาการที่พบได้เมื่อเป็นโรคเบาหวาน มีดังต่อไปนี้
- หิวบ่อย มีความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น
- ตามัว มองเห็นภาพไม่ชัดเจน
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
- เหนื่อยล้าง่าย อ่อนเพลีย
- แผลหายช้า
- ปัสสาวะบ่อย
- ปากแห้ง กระหายน้ำ
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ติดเชื้อบ่อย เช่น ติดเชื้อราที่ผิวหนัง ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ตกขาว
เป็นเบาหวานไม่รู้ตัว เป็นไปได้ไหม
การ เป็นเบาหวานไม่รู้ตัว สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะบางครั้ง ทั้งผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 หรือ 2 อาจไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี ทำให้ไม่ทราบว่าตนเองกำลังเป็นโรคเบาหวาน และหากไม่ได้ทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก็จะไม่สามารถทราบได้เลยว่าเริ่มเป็นเบาหวานเเล้ว
ทั้งนี้ อาการของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 อาจพัฒนาจนอยู่ในระดับรุนแรงภายได้ภายในไม่กี่เดือนหรือไม่กี่สัปดาห์หลังตรวจวินิจฉัย และผู้ป่วยบางรายอาจทราบว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวานชนิดที 1 หลังจากที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจฉุกเฉิน เช่น ภาวะเลือดเป็นกรด ไปเเล้ว
ขณะเดียวกัน หญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นเบาหวานส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ทำให้ไม่ทราบว่าตนเองกำลังมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม คุณหมอจะทำการตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ในช่วงสัปดาห์ที่ 24-28 ของการตั้งครรภ์
เบาหวาน ป้องกันได้อย่างไร
ในปัจจุบัน โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ยังไม่สามารถป้องกันได้ ในขณะที่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจป้องกันได้ด้วยการดูเเลสุขภาพ และปฏิบัติตนตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ เนื่องจากภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของภาวะดื้อต่ออินซูลินซึ่งทำให้เกิดโรคเบาหวานตามมา
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรืออย่างน้อยวันละ 30 นาที โดยคุณเเม่ที่ตั้งครรภ์อาจควรปรึกษาคุณหมอในการเลือชนิดการออกกำลังกายที่เหมาะสมในเเต่ละช่วงอายุครรภ์
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นรับประทานผัก ผลไม้ที่มีน้ำตาลต่ำและมีเส้นใยสูง ในสัดส่วน 20-25 เปอร์เซ็นต์ของมื้ออาหาร และหลีกเลี่ยงการรับประทานของหวานและอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตขัดสี เช่น ข้าวขาว เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมปังขาว