backup og meta

อาการโรคเบาหวาน ระยะแรก และปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวาน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/03/2023

    อาการโรคเบาหวาน ระยะแรก และปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวาน

    โดยทั่วไปเเล้ว โรคเบาหวานเป็นโรคที่จะค่อย ๆ พัฒนาอาการขึ้นทีละน้อย จึงทำให้ไม่มีอาการแสดงที่เด่นชัด อีกทั้งในระยะเริ่มต้นผู้ป่วยมักจะยังมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงไม่มาก จึงทำให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ เเม้จะเริ่มมีระดับน้ำตาลสูงกว่าปกติเเล้ว โดย อาการโรคเบาหวาน ระยะแรก อาจเริ่มแสดงอาการได้ เมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงตั้งเเต่ 180-200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป เช่น รู้สึกอ่อนเพลีย ตาพร่ามัว ปัสสาวะบ่อยขึ้น กระหายน้ำมากขึ้น ผิวแห้ง ปากแห้ง คันตามผิวหนัง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานมักเกิดจากภาวะสุขภาพ ปัจจัยทางพันธุกรรม รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน หากพบว่าตนเองมีปัจจัยเสี่ยงรวมถึงมีอาการที่อาจเข้าข่ายโรคเบาหวาน ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจเพิ่มเติมให้เร็วที่สุด

    โรคเบาหวาน คือ อะไร

    โรคเบาหวาน (Diabetes) คือ ภาวะที่มีระดับน้ำตาลในร่างกายสูงกว่าปกติ เนื่องจากเกิดความผิดปกติของตับอ่อนซึ่งทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หากเมื่อตับอ่อนผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอหรือไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ หรือเซลล์ในร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลินได้ตามปกติ จึงส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง  (Hyperglycemia) เเละนำไปสู่โรคเบาหวานในที่สุด โดยทั่วไปคุณหมอจะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานเมื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเเบบอดอาหารได้สูงตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไปปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวาน

    ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานแต่ละชนิด อาจมีดังนี้

    ปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 1

    • พันธุกรรม พบว่าผู้ที่ญาติสายตรง ได้เเก่  พ่อแม่ พี่/น้องท้องเดียวกัน เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะมีความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เพิ่มขึ้น
    • มีออโตแอนติบอดี (Autoantibodies) ที่ไปโจมตีเนื้อเยื่อของตับอ่อนที่ทำหน้าที่ในการผลิต ฮอร์โมนอินซูลิน
    • จากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เชื้อเอนเทอโรไวรัส (Human Enteroviruses หรือ HEVs) ซึ่งพบว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ 

    อย่างไรก็ตาม หากตับอ่อนได้รับบาดเจ็บหรือมีปัญหา เช่น เนื้องอก การติดเชื้อ อุบัติเหตุที่ได้รับการผ่าตัดตับอ่อน หรือ ภาวะตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ก็อาจส่งผลให้เกิดโรคเบาหวาน ชนิดที่จำเป็นต้องได้รับการรักาาด้วย ยาฉีดอินซูลิน เช่นเดียวกับผุ้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ได้

    ปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2

    • พันธุกรรม โดยผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 
    • มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน (Obesity)
    • มีภาวะความดันโลหิตสูง
    • มีระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL cholesterol) ในเลือดน้อย และมีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
    • มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary lifestyle) ไม่ค่อยขยับร่างกาย มีกิจวัตรประจำวันที่อยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ 
    • อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
    • หญิงที่เคยมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) หรือคลอดบุตรน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม
    • หญิงที่เป็นโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome หรือ PCOS)
    • เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
    • สูบบุหรี่

    อาการโรคเบาหวาน ระยะแรก เป็นอย่างไร

    โรคเบาหวาน ระยะแรก มักจะยังไม่มีอาการเเสดงใด ๆ ให้สังเกต เนื่องจากมีระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงมากนัก การวินิจฉัยโรคเบาหวานให้ได้ตั้งเเต่ระยะเเรก ๆ จึงจำเป็นต้องอาศัยการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นหลัก อย่างไรก็ตามหากปล่อยให้มีน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้เกิดอาการแสดงดังต่อไปนี้ 

    อ่อนเพลีย

    ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง รู้อยากอาหารมากกว่าปกติ เนื่องจากหากเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากระดับหนึ่ง ร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลมาใช้เปลี่ยนเป็นพลังงานได้ตามปกติ จึงส่งผลให้รู้สึกเพลีย อ่อนล้า เเละรู้สึกหิวมากกว่าปกติได้

    ปัสสาวะบ่อยขึ้นและกระหายน้ำมากขึ้น

    เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ไตจะขับน้ำตาลส่วนเกิดออกมาทางปัสสาวะ จึงส่งผลให้ผู้ที่เป็นเบาหวานมีอาการปัสสาวะบ่อยขึ้นกว่าปกติ เเละบางรายต้องตื่นมาปัสสาวะช่วงกลางคืนหลังจากที่หลับไปเเล้ว เมื่อร่างกายสูยเสียน้ำ สมองจึงกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกกระหายน้ำเพื่อสามารถให้ดื่มน้ำมาทดเเทนได้เพียงพอ จึงเป็นสาเหตุให้กระหายน้ำบ่อยขึ้นนั่นเอง 

    ปากแห้งและผิวเเห้ง คันตามผิวหนัง

    เมื่อมีการเสียน้ำออกจากร่างกาย ดังที่กล่าวด้านบน เเล้วไม่สามารถดื่มน้ำทดเเทนได้เพียงพอ จะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ จึงส่งผลให้ความชุ่มชื้นของเซลล์ส่วนอื่น ๆ รวมเฉพาะเซลล์ผิวหนังลดลง ทำให้มีอาการปากแห้งหรือแตกลอก  ผิวแห้งขึ้น อาจทำให้มีอาการคัดตามผิวหนัง (เเม้ไม่มีผื่น) ผิวเสี่ยงต่อการระคายเคือง นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวานยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อราที่ผิวหนังเพิ่มขึ้นอีกด้วย

    สายตาพร่ามัว

    เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลาหนึ่ง อาจส่งผลทำให้เส้นเลือดฝอยในจอประสาทตาถูกทำลาย เกิดการรั่วซึมของเลือดและของเหลวภายในจอประสาทตา ทำให้เลนส์ตาบวม รวมทั้งส่งผลต่อการรับแสงได้ของจุดภาพชัด (Macula) ด้วยทำให้ประสิทธิภาพของการโฟกัสภาพลดลง ตาพร่ามัว เเละหากปล่อยไว้นาน อาจรุนเเรงจนทำให้ตาบอดถาวรได้

    วิธีป้องกันโรคเบาหวาน

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคเบาหวาน อาจทำได้ดังนี้

    • เน้นเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้เเก่อาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ขนมปังโฮลวีท ข้าวกล้อง ผักใบเขียว ผลไม้ที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น ชมพู่ สาลี่ แก้วมังกร องุ่น ฝรั่ง ลูกพลัม ส้ม กล้วยที่ไม่สุกจัด ซึ่งใยอาหารมีส่วนช่วยในการชะลอการดูดซึมน้ำตาล ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ขึ้นสูงมากเกินไปหลังรับประทาน
    • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ขนมหวาน เบเกอรี่ อาหารขยะ ปิ้งย่าง ชาบู เพราะอาหารเหล่านี้ทำให้ระดับน้ำตาลและระดับไขมันในเลือดสูงขึ้น
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเเนะนำให้ออกกำลังกายที่ระดับความเหนือยปานกลาง เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ โยคะ โดยอาจใช้เวลา 30 นาที/วัน อย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น จึงมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้
    • เลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากสารพิษในบุหรี่มีผลทำให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินผิดปกติ ซึ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงกว่าที่ควรได้ 

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา